28 พฤษภาคม 2561 : ดร.สุทธิพล ทวีชัยการ เลขาธิการคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) เข้าร่วมเป็นวิทยากรในงานสัมมนาวิชาการ เรื่อง “FinTech and Cryptocurrency vs Law Enforcement” ซึ่งจัดโดยมูลนิธินิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เมื่อวันที่ 24 พฤษภาคม 2561 ที่่ผ่านมา
สำหรับในเรื่องของ Cryptocurrency นั้น ภายใต้บริบทของธุรกิจประกันภัยมีความเกี่ยวข้องกับเรื่องดังกล่าวอยู่ 2 ส่วน โดยส่วนแรก เป็นการผนวกผลิตภัณฑ์ประกันภัยเข้าไปกับ Cryptocurrency ซึ่งในประเทศญี่ปุ่นที่มีประสบการณ์เกี่ยวกับผลิตภัณฑ์เหล่านี้อยู่พอสมควร ได้มีการออกผลิตภัณฑ์ประกันภัยที่คุ้มครอง กรณีการทำธุรกรรมด้วย Bitcoin เกิดความล้มเหลว ซึ่งอาจจะเกิดจากระบบ Payment gateway หรือการทำธุรกรรมล่าช้า
แต่สำหรับในประเทศไทย ยังถือเป็นเรื่องใหม่ในด้านของการประกันภัย ซึ่งในประเทศไทยยังไม่มีบริษัทประกันภัยใดมีผลิตภัณฑ์ประกันภัยที่ให้ความคุ้มครองเกี่ยวกับ Cryptocurrency อาจเป็นเพราะว่า ที่ผ่านมายังขาดความชัดเจนเกี่ยวกับสถานะที่แท้จริงของ Cryptocurrency จึงไม่สามารถพิจารณาถึงความเสี่ยงภัยในการกำหนดความคุ้มครองได้อย่างชัดเจน
ส่วนต่อมาคือ การที่บริษัทประกันภัยจะไปลงทุนใน Cryptocurrency ซึ่งสำนักงาน คปภ. กำกับดูแลด้านการลงทุนของบริษัทประกันชีวิตและบริษัทประกันวินาศภัย ภายใต้ประกาศ คปภ. ว่าด้วยเรื่อง การลงทุนประกอบธุรกิจอื่น เนื่องจากการที่ธุรกิจประกันภัย เป็นธุรกิจที่บริษัทประกันภัยรับโอนความเสี่ยงภัยมาจากประชาชนและภาคธุรกิจ จึงมีความรับผิดที่ต้องชดใช้เงินตามสัญญาประกันภัย
ดังนั้น เมื่อบริษัทได้รับเบี้ยประกันภัยจากประชาชนมาแล้ว จึงต้องมีการนำมาบริหารจัดการและลงทุนในสินทรัพย์ที่เหมาะสม เพื่อให้ได้ผลตอบแทนที่เพียงพอและสอดคล้องกับภาระผูกพันที่มีอยู่ สำนักงาน คปภ. จึงให้ความสำคัญอย่างยิ่งกับการลงทุนของบริษัทประกันภัย เพราะถือว่าเป็นธุรกรรมที่สําคัญต่อความมั่นคงของบริษัท ทั้งนี้ ประกาศลงทุนฉบับดังกล่าวยังไม่อนุญาตให้บริษัทนำเงินเข้าไปลงทุนเกี่ยวกับ Cryptocurrency
ซึ่งสาเหตุก็จะเป็นหลักการเดียวกันกับการที่ยังไม่มีผลิตภัณฑ์ประกันภัย Cryptocurrency ประกอบกับมูลค่าของ Cryptocurrency ในช่วงที่ผ่านมาค่อนข้างมีความผันผวนจึงทำให้มีความเสี่ยงสูงต่อการลงทุน ซึ่งอาจส่งผลกระทบไปยังผู้เอาประกันภัยในที่สุด จึงต้องมีการศึกษารูปแบบและผลกระทบให้รอบด้านก่อน
เมื่อกฎระเบียบที่ออกมามีความชัดเจนมากขึ้น โดยเฉพาะการที่ภาครัฐเข้ามากำกับดูแลเรื่องนี้อย่างเป็นระบบ คาดว่าอีกไม่นานนี้ เราก็จะได้เห็นผลิตภัณฑ์ประกันภัยที่ให้ความคุ้มครองความเสี่ยงภัยที่อาจเกิดขึ้นกับ Cryptocurrency มากขึ้น ซึ่งสำนักงาน คปภ.ได้มีการหารือ พูดคุยกับภาคธุรกิจเกี่ยวกับเรื่องนี้อยู่เป็นระยะๆ