WELCOME TO SEQUEL ONLINE (ซีเคว้ล ออนไลน์)
วันจันทร์ ที่ 25 พฤศจิกายน 2567 ติดต่อเรา
นับถอยหลังกับมาตรฐานบัญชีใหม่ IFRS9 ##

ifrs9

16 พฤษภาคม 2561 : เหลือเวลาเพียงแค่ครึ่งปีเท่า่นั้นที่ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) จะให้สถาบันการเงิน ทั้งแบงก์และนอนแบงก์ รวมถึงบริษัทประกัน ฯลฯ เริ่มใช้มาตรฐานรายงานการเงินฉบับใหม่ หรือ มาตรฐานบัญชี IFRS 9 มาตรฐานบัญชีใหม่นี้ ไม่ใช่เรื่องใหม่อะไรนัก เพราะแบงก์ชาติได้มีการส่งสัญญาณให้กับธุรกิจที่เกี่ยวข้องรับรู้มา2-3 ปีแล้ว แต่ก็กระนั้นก็ยังมีอีกหลายธุรกิจที่ยังงงๆกับมาตรฐานบัญชีนี้อยู่ แต่ในส่วนภาคการเงินอย่างธนาคารพาณิชย์มิต้องห่วง เพราะเขาได้มีการเตรียมการรองรับเรื่องนี้ไว้แล้ว ดูได้จากการตั้งสำรองหนี้เสีย ที่มีการตั้งสำรองเสมือนจริงหากต้องใช้ มาตรฐานบัญชี IFRS 9 พูดง่ายๆว่าไม่ต้องห่วงเลยสำหรับแบงก์พาณิชย์ ส่วนธุรกิจอื่นอย่างนอนแบงก์ ธุรกิจประกัน ค่อยมาพูดกันอีกครั้ง

สำหรับมาตรฐานบัญชีใหม่นี้ แบงก์ชาติได้มีการปักหมุดใช้อย่างเป็นทางการคือ ต้นปี 2562 ซึ่งเหลือเวลาให้เหล่าธุรกิจได้เตรียมตัว แต่เมื่อไม่กี่สัปดาห์ที่ผ่านมา คณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) ประกอบด้วย คณะกรรมการร่วมสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และสมาคมธนาคารไทย ได้แถลงการณ์เพื่อขอเลื่อนการบังคับใช้มาตรฐานรายงานการเงินฉบับใหม่ IFRS 9 นี้

โดยให้เหตุผลว่า มาตรฐานบัญชีดังกล่าวได้กระทบวงกว้างต่อเศรษฐกิจ โดยเฉพาะธุรกิจเอสเอ็มอี ที่อาจจะเข้าถึงแห่งเงินทุนยากขึ้น เนื่องจาก แบงก์จะมีความเข้มงวดมากขึ้นในการให้สินเชื่อ เพื่อลดความเสี่ยงการเกิดหนี้เสีย รวมถึงการขอสินเชื่อบ้านด้วยที่จะทำให้ประชาชนที่ต้องการที่อยู่อาศัยขอสินเชื่อยากขึ้นกว่าเดิม

Predee 02

ด้านนายปรีดี ดาวฉาย กรรมการผู้จัดการ ธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน) หรือ KBANK ในฐานะประธานสมาคมธนาคารไทย ระบุว่า กรณีที่คณะกรรมการร่วมภาคเอกชน3สถาบัน(กกร.) ได้เสนอให้มีการเลื่อนการบังคับใช้มาตรฐานบัญชีใหม่ IFRS9 ออกไปนั้น ในส่วนของธนาคารพาณิชย์มีความพร้อมในการใช้มาตรฐานบัญชี IFRS9 อยู่แล้ว แต่การบังคับใช้ดังกล่าวได้ส่งผลกระทบในวงกว้าง ซึ่งมีการคาดการณ์ว่ากลุ่มลูกค้าเอสเอ็มอีจะได้รับผลกระทบนี้ เนื่องจากระบบบัญชีใหม่จะมีการสำรองที่ครอบคลุมมากขึ้น ทำให้ธนาคารพาณิชย์พิจารณาปล่อยสินเชื่อเข้มงวดขึ้น โดยเฉพาะในกลุ่มที่มีความเสี่ยงสูง

ซึ่งเรื่องนี้ทางคณะกรรมการกำกับดูแลการประกอบวิชาชีพบัญชี(กกบ.) ได้ตั้งคณะอนุกรรมการ และคณะทำงานเพื่อศึกษาถึงผลดีผลเสียต่างๆ โดยจะมีการประชุมเรื่องนี้ และทางกกบ.จะประชุมในเดือนมิ.ย.2561 โดยยังไม่มีกรอบระยะเวลาในการสรุปในเรื่องนี้ที่ชัดเจน

“แม้ธนาคารพาณิชย์เตรียมความพร้อมเรื่องนี้มาเกือบ 2 ปีถือว่ามีความพร้อมแล้วในระดับหนึ่ง แต่เมื่อเริ่มใช้จริงก็ยังมีบางส่วนที่ยังต้องตีความเพิ่มอยู่ยังไม่ 100% ก็คงจะต้องแก้ไขเป็นจุดๆไป ในขณะที่หน่วยงานต่างๆ อย่างสภาฯอุตเองก็ทราบเรื่องอยู่ แต่เมื่อใกล้เวลาก็อาจจะมีความกังวลถึงผู้ประกอบการในบางกลุ่ม โดยเฉพาะ SME ที่ยังมีระบบบัญชีที่ไม่เป็นไปตามเกณฑ์มาตรการ ขณะที่กลุ่มลูกค้ารายใหญ่ไม่กระทบมากนัก เพราะมีระบบการจัดการอยู่แล้วจึงเสนอให้เลื่อนการใช้ ซึ่งการดำเนินการในเรื่องนี้การเลื่อนใช้ก็เป็นส่วนหนึ่ง แต่ทางผู้ประกอบการต้องมีการปรับตัว เพราะหากเลื่อนแล้วยังอยู่อย่างเดิม เดี๋ยวก็ต้องเจอปัญหาอีก”นายปรีดี ระบุ

นายปรีดี ระบุอีกว่า ส่วนกรณีที่หลายฝ่ายมองว่าการเลื่อนการดำเนินการดังกล่าวอาจจะกระทบต่อความเชื่อมั่นของต่างชาตินั้น เรื่องนี้ไม่ได้เกิดจากส่วนของธนาคารพาณิชย์ เพราะเราอยู่ภายใต้การกำกับดูแลของธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.)ที่ได้มีการหารือ และเตรียมการมาระยะหนึ่งแล้ว จะเห็นได้ว่าเงินกองทุนของธนาคารพาณิชย์ไทยอยู่ในระดับที่แข็งแกร่งอยู่แล้ว แต่สมาคมธนาคารไทยก็เป็นส่วนหนึ่งของกกร. จึงต้องดูถึงผลกระทบในวงกว้างด้วย

4567

ขณะที่ทางแบงก์ชาติ ได้ออกมาชี้แจงเรื่องมาตรฐานบัญชีใหม่ IFRS9 โดยนายสมบูรณ์ จิตเป็นธม ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายนโยบายสถาบันการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) แจ้งว่า การนำ IFRS9 มาใช้เมื่อใดนั้น ต้องคำนึงถึงปัจจัยหลายด้าน ในส่วนของสถาบันการเงิน (สง.) แม้ว่ามีความพร้อม เนื่องจากได้เตรียมการมาเป็นระยะเวลาหนึ่งแล้ว

อย่างไรก็ตาม ยังต้องคำนึงถึงปัจจัยสำคัญในเรื่องผลกระทบต่อภาคธุรกิจ โดยเฉพาะในประเด็นการได้รับสินเชื่อจาก สง. ด้วย ซึ่งในส่วนนี้ ธปท. กำลังประสานงานเพื่อให้ สง. จัดทำประมาณการเรื่องนี้อยู่ และเมื่อมีข้อมูลเพิ่มเติมแล้ว ก็จะเสนอความเห็นให้ทางคณะกรรมการกำกับดูแลการประกอบวิชาชีพบัญชี (กกบ.) พิจารณาต่อไป

นางสาว สินสิริ ทังสมบัติ หุ้นส่วนสายงานตรวจสอบบัญชี บริษัท pwc ประเทศไทย ระบุว่า มาตรฐานการรายงานทางการเงินฉบับใหม่ ที่เรียกกันว่า ifrs 9 ที่คณะกรรมการกำหนดมาตรฐานการบัญชีระหว่างประเทศ (international accounting standards board: iasb) จะนำมาทดแทนมาตรฐานการบัญชี ias 39 โดย ifrs 9 นั้น มีการปรับปรุงหลักการและวิธีการบัญชีสำหรับเครื่องมือทางการเงิน เพื่อให้สะท้อนความเสี่ยงของกิจการมากยิ่งขึ้น ซึ่งในระดับสากลจะนำ ifrs 9 มาใช้ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2561 แต่ในส่วนของประเทศไทย จะบังคับใช้ในปี 2562

pwc-logo

สำหรับ ifrs 9 ที่บริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ และ บริษัทที่มีส่วนได้ส่วนเสียสาธารณะในประเทศไทย ต้องนำมาใช้นั้น แบ่งเนื้อหาสำคัญออกเป็น 3 ส่วนหลัก คือ 1.การจัดประเภทและการวัดมูลค่าของเครื่องมือทางการเงิน เช่น เงินให้กู้ยืมและลูกหนี้ รวมทั้งเงินลงทุนประเภทต่างๆ 2. กำหนดการรับรู้การด้อยค่าใหม่ และ 3. การบัญชีป้องกันความเสี่ยง ซึ่งการนำ ifrs 9 มาใช้จะส่งผลกระทบต่อทุกกิจการที่ถือสินทรัพย์ทางการเงินและหนี้สินทางการเงิน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ธุรกิจสถาบันการเงินจะได้รับผลกระทบมากกว่าธุรกิจอื่น เพราะมีเครื่องมือทางการเงินจำนวนมาก

ประเด็นที่น่าสนใจสำหรับ ifrs 9 คือ การกำหนดการรับรู้การด้อยค่าของสินทรัพย์ทางการเงิน โดยกิจการต้องกันเงินสำรองจากการให้กู้ยืมเงินเร็วขึ้น และต้องมีการพิจารณาและตั้งประมาณด้อยค่าตั้งแต่วันแรก ต่างจาก ias 39 ที่กำหนดให้กันเงินสำรองเมื่อมีข้อบ่งชี้การด้อยค่าเกิดขึ้น

ยกตัวอย่าง ในกรณีธนาคารที่มีเครื่องมือทางการเงินที่มีความเสี่ยงต่ำ ซึ่งความเสี่ยงเหล่านั้นถูกประเมินตั้งแต่วันรับรู้เริ่มแรก หรือ ณ วันที่รายงานทางการเงิน เช่น เงินให้กู้ยืมคุณภาพดี พันธบัตรรัฐบาล พันธบัตรรัฐวิสาหกิจ โดยธนาคารจะต้องทำประมาณการ การด้อยค่าที่อาจเกิดขึ้นในอีก 12 เดือนนับจากวันที่ประเมิน โดยพิจารณาจากการคาดคะเนเหตุการณ์ที่จะทำให้ธนาคารไม่ได้รับเงินกู้คืนจากลูกหนี้ ที่อาจเกิดขึ้นในระยะเวลา 12 เดือนนับตั้งแต่วันที่รายงานทางการเงิน

ถ้าหากธนาคารประเมินว่า ความเสี่ยงด้านเครดิตเพิ่มสูงขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ เปรียบเทียบกับวันรับรู้เครื่องมือทางการเงินเริ่มแรก ifrs 9 กำหนดให้กิจการต้องพิจารณาถึงเหตุการณ์ทั้งหมดที่สะท้อนความเสี่ยงด้านเครดิตของลูกหนี้ตลอดอายุของลูกหนี้นั้น จึงจะถือว่า ประมาณการสำรองการด้อยค่ามีจำนวนที่เพียงพอ เมื่อเป็นเช่นนี้แล้ว ธุรกิจย่อมได้รับผลกระทบทั้งด้านการเงิน และผลการดำเนินงาน ซึ่งผลกระทบที่เห็นได้ชัดคือ การตั้งสำรองเผื่อผลขาดทุนจากการด้อยค่าจะเพิ่มสูงขึ้น ขณะที่ผลกำไรขาดทุนเบ็ดเสร็จของกิจการจะลดลง เพราะกิจการที่เกี่ยวข้องต้องมีการกันสำรองเผื่อการด้อยค่าตั้งแต่วันแรกที่มีการรับรู้การให้เงินกู้ยืม

66

ทั้งนี้ จากการต้องกันสำรองเผื่อการด้อยค่าตั้งแต่วันแรกที่มีการรับรู้การให้เงินกู้นี่เอง อาจทำให้ต้นทุนการกู้ยืมเงินหรืออัตราดอกเบี้ยสูงขึ้น เพราะธุรกิจอาจพิจารณาค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นจากการออกเงินให้กู้ยืมใหม่เข้าไปในการกำหนดกลยุทธ์การตั้งราคา เพราะถ้าไม่ทำเช่นนี้ อัตราดอกเบี้ยรับอาจลดลงอย่างแน่นอน รวมไปถึงความเป็นไปได้ที่จะต้องกันสำรองเงินเพิ่ม ในกรณีที่ยอดเงินให้กู้ยืมคงเหลือมีความเสี่ยงด้านเครดิตสูงขึ้นในภายหลัง

ส่วนการจ่ายภาษีเงินได้นิติบุคคล ปัจจุบันอนุญาตให้ธุรกิจที่เกี่ยวข้องสามารถนำค่าเผื่อสงสัยหนี้สูญ หรือเงินสำรองที่ถูกตั้งขึ้นตามข้อกำหนดของธนาคารแห่งประเทศไทย มาเป็นค่าใช้จ่ายเพื่อใช้หักภาษีได้ ส่วน ifrs 9 นั้น กรมสรรพากรยังมิได้มีประกาศหรือคำสั่งว่า จัดว่าเป็นค่าใช้จ่ายทางภาษีได้หรือไม่ ดังนั้น กิจการประเภทธนาคารคงต้องติดตามคำสั่งจากกรมสรรพากรต่อไป เมื่อเห็นผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นแล้ว

สิ่งที่ธุรกิจต้องเตรียมพร้อมก่อนที่ ifrs 9 จะถูกนำมาใช้ในบ้านเรา คือ ลงทุนในระบบเทคโนโลยีสารสนเทศที่ทันสมัย เพื่อใช้จัดการ และประเมินความเสี่ยงด้านเครดิตที่เปลี่ยนแปลงไปในแต่ละช่วงเวลา โดยระบบดังกล่าว ควรจะสามารถเปรียบเทียบความเสี่ยงด้านเครดิตระหว่างการรับรู้เริ่มแรกกับช่วงการรายงานทางการเงินขณะนั้นของเงินกู้ยืมแต่ละตัว เนื่องจากการตั้งค่าเผื่อสงสัยหนี้สูญควรตั้งจากข้อมูลที่เกิดจากการคาดการณ์

นอกจากนี้ การจัดการข้อมูล จะกลายเป็นสิ่งที่ขาดไม่ได้ สถาบันทางการเงินต่างๆ ต้องประเมินว่า ตนเองมีข้อมูลที่มีคุณภาพสำหรับการประมาณค่าเผื่อที่เหมาะสมหรือไม่ และมีการเปิดเผยข้อมูลที่เพียงพอในงบการเงินหรือไม่ เพราะข้อมูลหนึ่งชุดอาจถูกนำไปใช้ประโยชน์ไม่เฉพาะแค่แก้ปัญหาทางบัญชีเท่านั้น แต่อาจถูกใช้เพื่อช่วยในการคำนวณภาษี และการตอบคำถามต่างๆ ของลูกค้า

ifrs9 33

ขณะที่การควบคุมภายในก็จะยิ่งมีความจำเป็นมากขึ้นเช่นกัน เพราะการเปลี่ยนแปลงนี้ส่งผลกระทบต่อระบบและขั้นตอนการดำเนินงานของธุรกิจด้วย ดังนั้น ผู้บริหารของแต่ละกิจการต้องตัดสินใจใช้นโยบายการบัญชี และวิธีการประมาณการค่าเผื่อที่เหมาะสมกับกิจการ รวมไปถึงพิจารณาขั้นตอนการรายงาน และการควบคุมผลการดำเนินงานทางการเงิน โดยต้องมีการรายงานและควบคุมเกี่ยวกับการตั้งค่าเผื่ออย่างต่อเนื่อง นอกจากนี้ ยังต้องเตรียมพร้อมด้านวิธีการและขั้นตอนที่ใช้ในการทบทวนผลกระทบต่างๆ ต่อการเงินของกิจการ และวิธีการขั้นตอนการติดตามความเสี่ยงด้านเครดิตในสินทรัพย์ทางการเงินของกิจการอีกด้วย

ช่วงนับถอยหลังก่อนที่ ifrs 9 จะถูกนำมาใช้ในวันที่ 1 มกราคม 2562 ผู้บริหารและพนักงานบัญชีทั้งหลาย ต้องศึกษาทำความเข้าใจในข้อกำหนดของ ifrs 9 ให้ถ่องแท้ ไม่ว่าจะผ่านการคำแนะนำจากผู้ให้คำปรึกษาทางธุรกิจจากภายนอกหรือวิธีอื่นๆ เนื่องจาก ifrs 9 ฉบับนี้เป็นข้อกำหนดเบื้องต้นที่สำคัญก่อนการออกแบบโมเดลทางธุรกิจของสินค้าหลักในกิจการ การปฏิบัติทางบัญชีภายใต้มาตรฐานฯ ฉบับนี้จะสะท้อนให้เห็นถึงโมเดลทางธุรกิจ

สิ่งที่สำคัญไม่แพ้กัน คือ การร่วมมือ ร่วมใจกันระหว่างแผนกต่างๆ ในบริษัท เช่น แผนกบัญชี และ แผนกจัดการความเสี่ยง เนื่องจากการตัดสินใจวางแผนธุรกิจจะส่งผลต่อผลการดำเนินงานของกิจการ สุดท้าย เมื่อฐานะการเงินและผลการดำเนินงานของสถาบันการเงินมีโอกาสจะได้รับผลกระทบจาก ifrs9 ดังนั้น นักลงทุนเองควรศึกษาข้อมูลและทำความเข้าใจเกี่ยวกับ ifrs9 และผลกระทบให้ดีด้วยเช่นกัน logo เล็ก (ปิดท้ายข่าว)

การเงิน ดูทั้งหมด



COPYRIGHT © 2016 SEQUEL ONLINE. ALL RIGHTS RESERVED.
FOLLOW UP