WELCOME TO SEQUEL ONLINE (ซีเคว้ล ออนไลน์)
วันเสาร์ ที่ 23 พฤศจิกายน 2567 ติดต่อเรา
แอร์เอเชีย ร่วมทุนพันธมิตรยุโรปผุดศูนย์ซ่อมอากาศยาน-ศูนย์ฝึกอบรมนักบิน-ลูกเรือ ##

15 พฤษภาคม 2561 : นายธรรศพลฐ์ แบเลเว็ลด์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.เอเชีย เอวิเอชั่น (AAV) และ ประธานกรรมการบริหาร สายการบินไทยแอร์เอเชีย เปิดเผยว่า บริษัทอยู่ระหว่างเจรจาพันธมิตรสัญชาติยุโรป 3 ราย จาก 3 ประเทศ เพื่อคัดเลือกให้เข้ามาร่วมลงทุนโครงการศูนย์ซ่อมบำรุงอากาศยานในท่าอากาศยานนานาชาติอู่ตะเภา มูลค่าโครงการ 1.5 พันล้านบาท คาดว่าจะได้ข้อสรุปภายใน 1-2 สัปดาห์นี้

โดยสัปดาห์นี้ คาดว่าจะได้ข้อสรุปเงื่อนไขการใช้ที่ดินจำนวน 60 ไร่ ในพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC) รวมทั้งระยะเวลาการเช่าที่ดิน หลังจากนั้นคาดใช้เวลาก่อสร้าง 1 ปีถึง 1 ปีครึ่ง และน่าจะเกิดดำเนินการได้ในไตรมาส 3 หรือไตรมาส 4 ของปี 2562

68

อย่างไรก็ตาม AAV อาจจะลงทุนไม่มากนัก หรือถือหุ้นในสัดส่วนไม่เกิน 15% เพราะไม่ใช่ธุรกิจหลัก ขณะที่พันธมิตรที่เข้ามาลงทุนโครงการนี้จะมีลูกค้าหลักคือกลุ่มแอร์เอเชียที่ปัจจุบันมีจำนวนเครื่องบินกว่า 200 ลำ โดยสายการบินไทยแอร์เอเชีย สามารถลดต้นทุนได้ ทั้งน้ำมันที่ไม่จำเป็นต้องให้นักบินทำการบินไปประเทศอื่น เพื่อเข้าซ่อมบำรุงเครื่องบิน และนักบินก็สามารถใช้เวลาเพิ่มชั่วโมงบินได้มากขึ้น ขณะเดียวกันค่าใช้จ่ายในการซ่อมบำรุงของแอร์เอเชียจะต่ำลงเพราะเป็นพันธมิตรร่วมกัน

นอกจากนี้ บริษัทจะลงทุนโครงการศูนย์ฝึกอบรมนักบินและลูกเรือ มูลค่าโครงการ 1.5 พันล้านบาท ซึ่งคณะกรรมการบริษัทเพิ่งอนุมัติโครงการ โดยจะใช้ที่ดิน 19 ไร่ ใกล้กับท่าอากาศยานดอนเมือง หลังจากนี้จะหาผู้รับเหมาและเริ่มก่อสร้าง โดยใช้ระยะเวลา 1 ปีถึง 1 ปีครึ่ง ก็จะเปิดทำการได้ในปลายปี 2562

ปัจจุบัน สายการบินไทยแอร์เอเชียมีจำนวนนักบินราว 1,000 คน ซึ่งทุก 6 เดือนต้องกลับไปฝึกบินกับเครื่องซีมูเลเตอร์ และแนวโน้มจะมีจำนวนนักบินเพิ่มขึ้นตามการเติบโตของบริษัท ซึ่งทั้ง 2 โครงการจะช่วยลดต้นทุนให้กับบริษัท ได้ราว 0.5 -1.0% ที่บริษัทสามารถประหยัดค่าใช้จ่ายน้ำมัน และ จำนวนชั่วโมงบินที่สูญเสียระหว่างการนำเครื่องบินไปซ่อมบำรุง

ทั้งนี้ บริษัทเตรียมจะออกหุ้นกู้ อายุ 3 ปี 5 ปี และ 7 ปี เตรียมขายนักลงทุนสถาบันในเดือน มิ.ย.นี้ ซึ่งจะให้ข้อมูลนักลงทุนในวัน 17 พ.ค.นี้ การระดมทุนดังกล่าวนำมาใช้ใน 2 โครงการดังกล่าว คาดว่าจะได้ต้นทุนการเงินต่ำลง จากปัจจุบันมีต้นทุนการเงินกว่า 3%

87

นอกจากนี้ นายธรรศพลฐ์ กล่าวว่า ได้รับมอบหมายจากภาครัฐให้ช่วยเพิ่มจำนวนผู้โดยสารที่ท่าอากาศยานอู่ตะเภาเป็น 15-20 ล้านคน จากในสิ้นปีนี้คาดมีจำนวนผู้โดยสาร 1.5 ล้านคน ซึ่งมีอาคารผู้โดยสารที่รองรับผู้โดยสารได้ 3 ล้านคน และจะมีการเพิ่มอาคารผู้โดยสารรองรับจำนวนผู้โดยสารที่เพิ่มขึ้น หรืออาคารผู้โดยสารรองรับสายการบินต้นทุนต่ำ สายการบินไทยแอร์เอเชียก็มีแผนเพิ่มเที่ยวบินเข้าอู่ตะเภาให้มากขึ้น

“ตอนนี้โปรเจ็คค่อนข้างเยอะ ลำดับแรกคือเรื่องอู่ตะเภา ซึ่งต้องใช้เวลาปั้นพอสมควร เพราะที่นั่นเราจะสร้างศูนย์ซ่อม ฯ ซึ่งรัฐบาลเป็นคนเชิญเราไป โดยหากสร้างรถไฟฟ้าเชื่อม 3 สนามบินเสร็จ จากดอนเมืองไปอู่ตะเภาจะใช้เวลา 1 ชั่วโมงครึ่ง อยากให้เราช่วยปั้นสนามบินอู่ตะเภาให้มีผู้โดยสารเยอะ 15-20 ล้านคน โดยจะปั้นสนามบินอู่ตะเภาเป็นสนามบินแห่งที่ 3 ให้ได้ ฉะนั้นก็จะมีสนามบินสุวรรณภูมิ-ดอนเมือง-อู่ตะเภา”

สำหรับแนวโน้มผลประกอบการ คาดว่ากำไรในไตรมาส 2/2561 จะอ่อนตัวกว่ากำไรสุทธิในไตรมาส 1/2561 ที่มีกำไร 1,000 ล้านบาท ซึ่งดีกว่าคาด และคาดว่าจะทำได้ใกล้เคียงไตรมาส 2/2560 ที่มีกำไรสุทธิ 170 ล้านบาท เนื่องจากราคาน้ำมันปรับตัวขึ้นไปถึง 83-86 เหรียญ/บาร์เรล จากที่บริษัทคาดว่าราคาน้ำมันทั้งปีเฉลี่ยที่ 70 เหรียญ/บาร์เรล

อย่างไรก็ดี บริษัทมีแผนจะทยอยปรับราคาตั๋วขึ้น 2-3% ในไตรมาส 2/2561 แม้จะไม่สามารถครอบคลุมราคาน้ำมันที่ปรับขึ้นมาแล้ว แต่ก็จะช่วยบรรเทาได้บ้าง ซึ่งมั่นใจว่าไตรมาสนี้ไม่เห็นการขาดทุน อย่างไรก็ดี ขึ้นกับการแข่งขันด้วยหากคู่แข่งไม่ปรับขึ้นราคาตั๋ว ไทยแอร์เอเชียก็ปรับขึ้นราคายาก และในไตรมาส 2 นี้เป็นช่วงโลว์ซีซั่น

ในไตรมาส 1/61 บริษัทสามารถปรับราคาตั๋วขึ้นมาได้ 6% เพราะมีความต้องการเดินทางสูง และคาดว่าในไตรมาส 3/2561 และไตรมาส 4/2561 จะทยอยปรับขึ้นราคาตั๋วได้ดีกว่าไตรมาส 2/2561 โดยคาดว่าทั้งปี 61 จะสามารถปรับขึ้นราคาตั๋วเฉลี่ยราว 5-6%

นายสันติสุข กล่าวว่า สายการบินไทยแอร์เอเชีย คาดว่าปีนี้ส่วนแบ่งการตลาดเส้นทางบินในประเทศของสายการบินไทยแอร์เอเชีย จะสูงขึ้นจากปัจจุบัน 31% (ณ สิ้นไตรมาส 1/61) เพิ่มขึ้นจากสิ้นปี 60 ที่มีสัดส่วน 29% ขณะที่สายการบินนกแอร์ และสายการบินไทยไลอ้อนแอร์ มีสัดส่วนรองลงมาคือ 18.9% และ 18.5%ตามลำดับ ส่วนการบินไทยมีส่วนแบ่งตลาด 8.30% และ ไทยสมายล์ 9.7% สายการบินบางกอกแอร์เวย์ 10.7% ทั้งนี้ ไทยแอร์เอเชียมีเป้าหมายที่จะเพิ่มส่วนแบ่งการตลาดให้มากกว่า 50%

AirAsia_Logo

โดยในปีนี้สายการบินไทยแอร์เอเชียจะขยาย Capacity จากที่บางสายการบินนำเครื่องให้บริการแบบเช่าเหมาลำไปจีนจะถอนตรางการบิน ทำให้ตารางบินที่ดอนเมืองว่าง สายการบินไทยแอร์เอเชียจะเข้าทำการบินแทน จะทำให้มีโอกาสเพิ่มส่วนแบ่งการตลาด ยังไม่น้บเรื่องการทำตลาด และโฆษณาประชาสัมพันธ์ ดังนั้น จึงมั่นใจว่าเป้าหมายจำนวนผู้โดยสารของไทยแอร์เอเชียทำได้ตามเป้าหมายที่วางไว้ 23.2 ล้านคน และ อัตราส่วนบรรทุกผู้โดยสาร (Cabin Factor)ที่ 87%

นายธรรศพลฐ์ กล่าวว่า สายการบินไทยแอร์เอเชียเอ็กซ์ มีแผนยื่นไฟลิ่งเพื่อเสนอขายหุ้นต่อประชาชนทั่วไปครั้งแรก (IPO) และเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย(SET) ในต้นปี 2562 โดยปัจจุบันมีผู้ถือหุ้นใหญ่คือ นายธรรศพลฐ์ ถืออยู่ 46% และแอร์เอเชีย มาเลเซีย ถือ 54% โดยมีแผนจะขยายฝูงบินปีละ 5 ลำในช่วง 5 ปีข้างหน้า(ปี 62-66) รวมทั้งเตรียมจะรุกตลาดยุโรป ส่วนปีนี้ยังไม่มีการเติบโตมากนัก ในปี 61 จะมีจำนวนเครื่องบิน A330 เข้ามาเพิ่มจำนวน 6 ลำ

นอกจากนี้ การเชื่อมต่อการบินระหว่างสายการบินไทยแอร์เอเชียเอ็กซ์ซึ่งทำการบินเส้นทางระหว่างประเทศ มายังสายการบินไทยแอร์เอเชียที่บินเส้นทางในประเทศมีมากขึ้น โดยปัจจุบันมีการเชื่อมต่อ 4% คิดเป็นประมาณ 8 แสนคน และตั้งเป้าจะมีการเชื่อมต่อะเพิ่มเป็น 15% หรือ 2 ล้านคนภายใน 5 ปีนี้ ถ้าเป็นการบินแบบ fly-through จะสามารถทำรายได้ 1,200 ล้านบาท ซึ่งต้องรอให้ไทยแอร์เอเชียเอ็กซ์ขยายฝูงบิน admin-ajax

เศรษฐกิจ ดูทั้งหมด



COPYRIGHT © 2016 SEQUEL ONLINE. ALL RIGHTS RESERVED.
FOLLOW UP