14 พฤษภาคม 2561 : นางสาวดารณี แซ่จู ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายกลยุทธ์สถาบันการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยผลการดำเนินงานของระบบธนาคารพาณิชย์ไตรมาส 1 ปี 2561 ว่า สินเชื่อของระบบธนาคารพาณิชย์ขยายตัวต่อเนื่องจากสิ้นปี สอดคล้องกับทิศทางการเติบโตของเศรษฐกิจ คุณภาพสินเชื่อทรงตัว กำไรจากการดำเนินงานเพิ่มขึ้น ขณะที่กำไรสุทธิลดลงจากค่าใช้จ่ายการดำเนินงานและการกันสำรอง
อย่างไรก็ดี ระบบธนาคารพาณิชย์ยังมีเสถียรภาพ มีเงินสำรอง เงินกองทุน และสภาพคล่องอยู่ในระดับสูง สามารถรองรับการขยายตัวของสินเชื่อในระยะต่อไปได้ โดยมีรายละเอียดดังนี้
สินเชื่อระบบธนาคารพาณิชย์ ขยายตัวเพิ่มขึ้นจากสิ้นปีที่ 4.4% มาอยู่ที่ 4.7% เมื่อเทียบระยะเวลาเดียวกันปีก่อน โดยสินเชื่อธุรกิจขยายตัวจากพอร์ตสินเชื่อ SME ที่กระจายตัวมากขึ้นในหลายธุรกิจ สินเชื่อธุรกิจขนาดใหญ่ยังมีการชำระคืนหนี้ ส่วนสินเชื่ออุปโภคบริโภคขยายตัวในทุกพอร์ต สินเชื่อโดยเฉพาะสินเชื่อรถยนต์ที่ขยายตัวเร่งขึ้นต่อเนื่อง ภาพรวมการระดมทุนผ่านสินเชื่อของระบบธนาคารพาณิชย์และตราสารหนี้ขยายตัวเพิ่มขึ้นจาก 4.7% มาอยู่ที่ 5.1%
สินเชื่อธุรกิจ (66.7% ของสินเชื่อรวม) ขยายตัว 3.6% เพิ่มขึ้นจากสินเชื่อธุรกิจ SME ที่กระจายตัวมากขึ้นในหลายประเภทธุรกิจ โดยสินเชื่อธุรกิจ SME (ไม่รวมธุรกิจการเงิน) ขยายตัวที่ 7.4% จากธุรกิจพลังงานและอาหาร ขณะที่สินเชื่อธุรกิจขนาดใหญ่ (ไม่รวมธุรกิจการเงิน) หดตัว 2.6% เนื่องจากบางส่วนมีการชำระคืนสินเชื่อจากธนาคารพาณิชย์ กอปรกับพึ่งพาทางเลือกในการระดมทุนผ่านตราสารหนี้และหุ้นมากขึ้น แม้ว่าธุรกิจขนาดใหญ่บางธุรกิจยังมีการใช้สินเชื่อเพิ่มขึ้น อาทิ ธุรกิจอาหาร สำหรับสินเชื่อธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ขยายตัวขึ้นจากทั้งธุรกิจขนาดใหญ่และ SME เช่นเดียวกับการระดมทุนผ่านตราสารหนี้และหุ้น
สินเชื่ออุปโภคบริโภค (33.3% ของสินเชื่อรวม) ขยายตัวเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 7.1% จากทุกพอร์ตสินเชื่อ โดยเฉพาะสินเชื่อรถยนต์ที่เร่งขึ้นมาอยู่ที่ 10.6% สอดคล้องกับยอดขายรถยนต์เชิงพาณิชย์ และรถยนต์นั่งส่วนบุคคลที่เติบโตต่อเนื่อง หลังสิ้นสุดระยะเวลาการถือครองรถยนต์คันแรก 5 ปี ประกอบกับการเปิดตัวรถยนต์รุ่นใหม่จำนวนมาก สำหรับสินเชื่อที่อยู่อาศัย สินเชื่อบัตรเครดิต และสินเชื่อส่วนบุคคล ขยายตัวได้ 5.8% 5.3% และ 6.9% ตามลำดับ
คุณภาพสินเชื่อของระบบธนาคารพาณิชย์ พบว่าสัดส่วนสินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (Non-Performing Loan : NPL) ต่อสินเชื่อรวม อยู่ที่ 2.92% ใกล้เคียงกับไตรมาสก่อนที่ 2.91% โดยมียอดคงค้าง Gross NPL ที่ 443 พันล้านบาท เพิ่มขึ้น 14.5 พันล้านบาท ซึ่งเป็นการเพิ่มขึ้นในอัตราที่ชะลอลงจากสิ้นปี 2560 ขณะที่ NPL ของสินเชื่อธุรกิจ SME และสินเชื่อที่อยู่อาศัยยังเพิ่มขึ้น สินเชื่อจัดชั้นกล่าวถึงเป็นพิเศษ (Special Mention Loan : SM) ลดลงมาอยู่ที่ 2.32% จากสิ้นปีที่ 2.55%
โดยมียอดคงค้างทั้งสิ้น 353 พันล้านบาท ทั้งนี้ธนาคารพาณิชย์กันเงินสำรองเพื่อสร้างความมั่นคงอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้ระบบธนาคารพาณิชย์มีเงินสำรอง 622 พันล้านบาท เพิ่มขึ้นจากสิ้นปี 20.8 พันล้านบาท และสัดส่วนเงินสำรองที่มีต่อเงินสำรองพึงกันเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 176%
นางสาวดารณี กล่าวว่า ในไตรมาส 1 ปี 2561 ระบบธนาคารพาณิชย์มีกำไรจากการดำเนินงานเพิ่มขึ้นจากระยะเดียวกันปีก่อน จากกำไรจากการขายเงินลงทุนและรายได้ค่านายหน้าจากการขายหลักทรัพย์เป็นสำคัญ ขณะที่กำไรสุทธิลดลงจากค่าใช้จ่ายด้าน IT และการตลาด รวมถึงการกันสำรอง ทั้งนี้อัตราผลตอบแทนต่อสินทรัพย์เฉลี่ย (Return on Asset : ROA) เพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 1.07% จาก 0.9% ในไตรมาสก่อน ขณะที่อัตราส่วนรายได้ดอกเบี้ยสุทธิต่อสินทรัพย์ที่ก่อให้เกิดรายได้ดอกเบี้ยเฉลี่ย (Net Interest Margin:NIM) ลดลงจาก 2.75% มาอยู่ที่ 2.66% จากรายได้ดอกเบี้ยเงินให้สินเชื่อที่ลดลง
ระบบธนาคารพาณิชย์มีเงินกองทุนทั้งสิ้น 2,434 พันล้านบาท ลดลง 17.9 พันล้านบาท จากไตรมาสก่อน ส่งผลให้อัตราส่วนเงินกองทุนต่อสินทรัพย์เสี่ยง (BIS ratio) และอัตราส่วนเงินกองทุนชั้นที่ 1 ที่เป็นส่วนของเจ้าของ (Common Equity Tier 1 : CET1 ratio) ลดลงเล็กน้อยมาอยู่ที่ร้อยละ 18.0% และ 15.4% ตามลำดับ
สำหรับรายได้ค่าธรรมเนียม ธปท.คาดว่าในไตรมาส 2 ปี 2561 ในส่วนของรายได้ค่าธรรมเนียมจากการการโอน จะมีผลกระทบลดลงอย่างชัดเจนจากนโยบายพร้อมเพย์ และการแข่งขันยกเว้นค่าธรรมเนียมการโอนของธนาคารพาณิชย์ ซึ่งทั้งปีที่ผ่านมา รายได้จากค่าธรรมเนียมธนาคารอยู่ที่ 2 แสนล้านบาท เป็นค่าธรรมเนียมจากการโอน 12% หรือคิดเป็น 2.4 หมื่นล้านบาท
“แนวโน้มเศรษฐกิจขยายตัวต่อเนื่อง ก็คาดว่าจะเห็นทิศทางการขยายตัวของสินเชื่อเพิ่มขึ้นทุกไตรมาส โดย ธปท.คาดว่าทั้งปี 2561 สินเชื่อจะขยายตัวได้ 5-6% เพิ่มขึ้นจากปีก่อนที่ขยายตัว 4% ซึ่งยอมรับว่าทิศทางการขยายตัวสินเชื่อหลังจากนี้จะไม่เหมือนเมื่อก่อน ที่ขยายตัวได้ 1.5-2 เท่าของ GDP เพราะภาคธุรกิจมีการปรับตัว ระดมทุนผ่านช่องทางอื่น เช่น ตราสารหนี้ การขอสินเชื่อผ่านระบบธนาคารพาณิชย์ก็ลดลงไปด้วย” นางสาวดารณี กล่าว