9 เมษายน 2561 : นายอมรเทพ จาวะลา ผู้อำนวยการอาวุโส สำนักวิจัยธนาคาร ซีไอเอ็มบี ไทย จำกัด (มหาชน) หรือ CIMBT ระบุว่า สำนักวิจัยธนาคารซีไอเอ็มบีไทย ได้ปรับประมาณการจีดีพีปี 2561 ไว้ที่ 3.7% จากเดิม 4% การปรับลดจีดีพีดีงกล่าวมาจากการเลื่อนการเลือกตั้งรัฐบาลออกไป รวมถึงปัจจัยลบทั้งในประเทศและต่างประเทศยังมีอยู่ ส่งผลให้เกิดการชะลอลงทุนของภาคเอกชนเกิดขึ้นได้ ทั้งนี้ แม้ว่าจะมีการปรับประมาณการดังกล่าว แต่สำนักวิจัยฯยังเชื่อมั่นในเทฟลอนไทยแลนด์ หรือ ภาวะที่เศรษฐกิจไทยมีความทนทานต่อปัจจัยที่จะเข้ามากระทบ จึงเชื่อว่าเศรษฐกิจไทยจะไม่กลับไปชะลอลงต่ำกว่า 3%
และหวังว่าถ้าปัญหาได้รับการแก้ไข โอกาสที่จะได้เห็นเศรษฐกิจไทยเติบโตเหนือ 4% ยังมีอยู่ ซึ่งตัวแปรสำคัญคือ รัฐบาลจะสามารถสร้างความเชื่อมั่นต่อนักลงทุนและผู้บริโภคว่านโยบายปฏิรูปทางเศรษฐกิจต่างๆ จะถูกสานต่อไปยังรัฐบาลชุดต่อไปโดยไม่หยุดชะงัก อีกทั้งสามารถเร่งกระจายรายได้ สร้างการเติบโตทางกิจกรรมเศรษฐกิจในระดับฐานรากโดยไม่บิดเบือนกลไกตลาด แม้จะเป็นโจทย์ยากแต่ยังหวังว่าท้ายสุดรัฐบาลจะช่วยฟื้นความเชื่อมั่นเพื่อท้าทายปัญหาทั้งนอกและในได้
“สิ่งที่น่าเป็นกังวลมากที่สุด คือเรื่องของสงครามการค้า เพราะไทยขับเคลื่อนเศรษฐกิจจากการส่งออก หากส่งออกได้รับผลกระทบเศรษฐกิจไทยก็อาจมีปัญหาได้ ดังนั้น การที่สหรัฐฯขึ้นภาษีนำเข้าเพื่อลดหารขาดดึลการค้ามหาศาล และอาจถูกตอบโต้จากประเทศคู่ค้า ทำให้การค้าโลดชะลอ กระทบการส่งออกไทยโดยตรง” นายอมรเทพ ระบุ
นายอมรเทพ กล่าวอีกว่า สรุปแล้วเศรษฐกิจไทยปี 2561 มีแนวโน้มเติบโตจากภาคการส่งออกและท่องเที่ยวเป็นหลักเช่นเดิม ขณะที่การลงทุนภาคเอกชนยังโตช้า ผู้บริโภคชะลอรอดูสถานการณ์ความชัดเจนก่อนใช้จ่ายสินค้าคงทน นักลงทุนต่างชาติยังขาดความเชื่อมั่นในด้านความต่อเนื่องของนโยบายเศรษฐกิจ จากแนวโน้มเลื่อนการเลือกตั้งจากปีนี้
ขณะที่ภาครัฐดำเนินการโครงการขนาดใหญ่และเบิกจ่ายไม่ได้เร่งไปกว่าที่คาดการณ์ นอกจากนี้ คนมีรายได้น้อยในภาคเกษตรและกลุ่มSME โดยเฉพาะในต่างจังหวัดยังฟื้นตัวช้า และอาจทำให้การขยายตัวทางเศรษฐกิจของไทยชะลอลงได้
ด้านความเคลื่อนไหวของค่าเงินบาทที่แข็งค่าขึ้นจากปลายปีก่อนเป็นการแข็งค่าชั่วคราว คาดว่าค่าเงินบาทจะเคลื่อนไหวในกรอบ 31.00 – 31.50 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐในอีก 3-6 เดือนข้างหน้า ปัจจัยสำคัญคือความไม่แน่นอนของทิศทางการคลังสหรัฐ แม้ตลาดคาดการณ์ว่าปีนี้เฟดจะปรับขึ้นดอก เบี้ยสหรัฐ 3 ครั้ง เดือนมี.ค. มิ.ย. และธ.ค.
ซึ่งน่าจะเพิ่มความน่าดึงดูดให้เงินดอลลาร์ แต่ด้วยบรรยากาศของความไม่แน่นอนด้านนโยบายการคลังสหรัฐและสงครามการค้า ทำให้คนยังไม่เชื่อมั่นดอลลาร์สหรัฐ จึงคาดว่าเงินจะไหลเข้าประเทศตลาดเกิดใหม่ แต่เมื่อใดทิศทางการคลังสหรัฐและการค้ามีความชัดเจน คนจะกลับไปให้น้ำหนักกับดอกเบี้ยสหรัฐมากขึ้น และมีโอกาสที่เงินจะไหลออกจากตลาดเกิดใหม่ จึงอาจเห็นค่าบาทอ่อนค่าไปแตะ 32.00 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐได้ในสิ้นปี
ส่วนดอกเบี้ยนโยบายของไทยคาดว่าจะทรงตัวที่ระดับ1.5% โดยการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ครั้งล่าสุดมีมติคงดอกเบี้ยด้วยคะแนนเสียงโหวต 6 คนให้คงดอกเบี้ยและมี 1 คนโหวตให้ขึ้นดอกเบี้ย แต่มองว่าเร็วไปที่กนง.ส่วนใหญ่จะขึ้นดอกเบี้ย จึงคาดว่าดอกเบี้ยจะคงที่ 1.5% ทั้งปี อย่างไรก็ดี ปลายปีจะเห็นแรงกดดันการขึ้นดอกเบี้ยมากขึ้น จากปัจจัยเงินเฟ้อ เศรษฐกิจเติบโต ประกอบกับเงินบาทมีทิศทางอ่อนค่า
อย่างไรก็ตาม จากปริมาณสภาพคล่องในตลาดยังมีมาก รอเศรษฐกิจเติบโตทั่วถึงก่อนค่อยปรับขึ้นดอกเบี้ยไตรมาสแรกปีหน้าก็ยังไม่สาย แต่ผลข้างเคียงของการคงดอกเบี้ยต่ำไว้นานคือนักลงทุนอาจโยกเงินไปลงทุนในสินทรัพย์เสี่ยงเกินตัวระหว่างรอสัญญาณจากกนง. ดังนั้น อยากเห็นกนง.ส่งสัญญาณบางอย่างให้ชัดเจนซึ่งจะส่งผลดีต่อระบบ