WELCOME TO SEQUEL ONLINE (ซีเคว้ล ออนไลน์)
วันอาทิตย์ ที่ 24 พฤศจิกายน 2567 ติดต่อเรา
“วิริยะ” เร่งนำเทคโนโลยีเชื่อมโยงการเคลมสินไหมให้รวดเร็ว พร้อมขยายตลาดประกันสุขภาพเสริมแกร่ง##

26 มีนาคม 2561 : นายสยม โรหิตเสถียร รองกรรมการผู้จัดการ บริษัท วิริยะประกันภัย จำกัด (มหาชน) เปิดเผยถึง ทิศทางการดำเนินงานในปี 2561 ในภาพรวมบริษัทฯ ยังคงให้ความสำคัญกับการพัฒนาปรับปรุงการบริการสินไหมทั้งระบบ ไม่ว่าจะเป็นสินไหมรถยนต์และสินไหมนอนมอเตอร์ ด้วยการนำเอาเทคโนโลยีมาพัฒนาให้เกิดนวัตกรรมการบริการ เกิดการเชื่อมโยงเป็นโครงข่าย ทำให้ลูกค้าเข้าถึงบริการได้ง่าย สะดวก รวดเร็ว ไม่ว่าจะอยู่พื้นที่ใดของประเทศ ตอกย้ำความเป็นผู้นำด้านเครือข่ายบริการประกันภัยที่ครบวงจร และครอบคลุมที่สุด ตั้งแต่ สาขา สาขาย่อยในศูนย์การค้าชั้นนำ สำนักงานตัวแทน/นายหน้า ศูนย์/จุดย่อยบริการสินไหม ศูนย์ซ่อมมาตรฐาน และเครือข่ายโรงพยาบาลทั่วประเทศ

01 คุณสยม  โรหิตเสถียร รองกรรมการผู้จัดการ-s

บริษัทฯ ได้รวมศูนย์/จุดย่อยบริการสินไหมจาก 20 ศูนย์ รวมเป็น 5 เขต แบ้่งเจ้าหน้าที่รอตรวจสอบอุบัติเหตุ เพื่อให้ไปถึงจุดเกิดเหตุได้รวดเร็วยิ่งขึ้น พร้อมตั้งเป้าขยายตลาดประกันรถยนต์ในปี 2561 เติบโตขึ้น 5% จากปีที่ผ่านมา อีกทั้งยังขยายตลาดประกันสุขภาพเพิ่มขึ้น 10%

ทั้งนี้ ตลอดปีที่ผ่านมาและต่อเนื่องถึงปีนี้ บริษัทฯ ได้เพิ่มจำนวนสาขาย่อยในศูนย์การค้าชั้นนำทั่วประเทศ (V Station) รวมถึงการเพิ่มช่องทางออนไลน์เพื่ออำนวยความสะดวกในการทำประกันและสอบถามข้อมูลให้กับลูกค้า เช่น จัดทำแอพพลิเคชั่นตรวจสภาพรถยนต์ก่อนการทำประกันภัย เพื่อให้สอดรับกับไลฟ์สไตล์ของลูกค้าในยุคปัจจุบัน พัฒนาแอพพลิเคชั่นสนับสนุนงานขายตัวแทน (V Smart) นอกจากนี้ บริษัทฯ ยังเพิ่มจำนวนศูนย์ย่อยเพื่อบริการสินไหมให้กระจายครอบคลุมจุดเสี่ยงทั่วประเทศ โดยมีการจัดทำ Heat Map หรือแผนที่แสดงจุดเสี่ยงที่เกิดอุบัติเหตุเป็นจำนวนมาก เพื่อเปิดเป็นจุดบริการสินไหมย่อย ช่วยให้บริษัทสามารถจัดส่งพนักงานเคลมออกให้บริการลูกค้า ณ จุดเกิดเหตุได้รวดเร็วที่สุด

สำหรับผลการดำเนินงานในปี 2560 ว่า จากการที่บริษัทฯ ได้มุ่งเน้นพัฒนาด้านบริการ ภายใต้แนวคิด “70 ปี วิริยะประกันภัย มุ่งสู่อนาคต ด้วยความเป็นธรรม ภายใต้นวัตกรรมบริการ 4.0” ด้วยการนำเทคโนโลยีสร้างสรรค์นวัตกรรมใหม่ๆ มาใช้ในการพัฒนา ปรับปรุงผลิตภันฑ์ และบริการประกันภัยอย่างเต็มรูปแบบ โดยเฉพาะการบริการด้านสินไหมทดแทน เพื่อตอกย้ำความเป็นผู้นำบริการ ส่งผลให้ผลประกอบการของบริษัทฯ ประสบความสำเร็จอย่างงดงาม

2225

โดยมีเบี้ยประกันภัยรับรวมทั้งสิ้น 36,162.96 ล้านบาท เติบโตถึง 8.69% เป็นการเติบโตที่เกินกว่าเป้าหมายที่วางไว้ว่าจะเติบโต 2% ทั้งนี้แยกเป็นเบี้ยประกันภัยรถยนต์ 32,723.05 ล้านบาท เติบโต 8.11 % เบี้ยประกันภัย Non-Motor 3,439.91 ล้านบาทเติบโต 14.46% นอกจากนี้ยังมีตัวชี้วัดความสำเร็จอีกประการหนึ่งนั้นก็คือความยั่งยืนของกรมธรรม์ โดยบริษัทฯ มีอัตราต่ออายุกรมธรรม์ 73% สูงกว่าค่าเฉลี่ยของตลาด

“ปัจจัยความสำเร็จเหล่านี้ส่งผลให้บริษัทฯ ยังคงครองส่วนแบ่งตลาดประกันวินาศภัยอันดับ 1 ติดต่อกันเป็นปีที่ 26 โดยมีส่วนแบ่งตลาด 16.47% เช่นเดียวกับตลาดประกันภัยรถยนต์ที่ครองส่วนแบ่งตลาดเป็นอันดับ 1 ต่อเนื่องเป็นปีที่ 31 โดยมีส่วนแบ่งตลาดอยู่ที่ 25.66% หรือ 1 ใน 4 ของตลาด อีกทั้งในรอบปีที่ผ่านมาบริษัทฯ ยังได้รับรางวัลเกียรติยศมากมายทั้งในประเทศและต่างประเทศ อาทิ รางวัล World Finance Insurance Awards 2017 จากนิตยสาร World Finance นิตยสารทางการเงินที่ทรงอิทธิผลในยุโรป

ซึ่งบริษัทฯ ได้รับรางวัลมาตั้งแต่ ปี 2009 จนถึงปัจจุบันรวม 8 ครั้งด้วยกัน รางวัลชนะเลิศผู้สำรวจอุบัติเหตุรถยนต์ดีเด่น หรือ Best Surveyor Award 2017 จากสมาคมประกันวินาศภัยไทย นับเป็นรางวัลที่ได้มาอย่างต่อเนื่องทุกๆปี รางวัลศูนย์รับเรื่องและแก้ไขปัญหาให้กับผู้บริโภคดีเด่น ประจำปี 2560 จากสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค ซึ่งรับมาเป็นปีที่ 2 และรางวัล Thailand’s Most Admired Brand 2017 จากนิตยสารแบรนด์เอจ โดยบริษัทฯ ได้รับในกลุ่มบริษัทที่มีแบรนด์น่าเชื่อถือที่สุด 15 ปีต่อเนื่อง ฯลฯ” นายสยม กล่าว

อย่างไรก็ตามด้วยศักยภาพและความแข็งแกร่งของเครือข่ายบริการประกันภัยที่ครบวงจร การร่วมมือกับพันธมิตรที่มีชื่อเสียงจากหลากหลายธุรกิจ จำนวนฐานลูกค้าในมือกว่า 7.5 ล้านราย ประกอบกับบริษัทฯ ได้ทีมผู้บริหารใหม่ที่มากด้วยความสามารถ และประสบการณ์ทางด้านการประกันภัย Non-Motor บริษัทฯ จึงกำหนดให้ปีนี้เป็นปีแห่งการขยายตลาด Non-Motor ภายใต้แนวคิด “ถ้าเป็นชื่อวิริยะประกันภัย ทุกประกันคือมาตรฐานเดียวกัน”

“บริษัทฯ คาดว่า ณ สิ้นปี 2561 ผลประกอบการโดยรวมของบริษัทฯ ต้องมีอัตราเติบโตไม่น้อยไปกว่าอัตราเติบโตของอุตสาหกรรมประกันภัยโดยรวม ซึ่งสำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) ประมาณการไว้ว่ามีแนวโน้มที่จะเติบโตในระดับ 5.12 %” คุณสยมกล่าว

02 คุณประวิตร สุขสันติสุวรรณ รองกรรมการผู้จัดการ-s

นายประวิตร สุขสันติสุวรรณ รองกรรมการผู้จัดการ บริษัท วิริยะประกันภัยจำกัด (มหาชน) เปิดเผยเพิ่มเติมถึงทิศทางการลงทุนว่า บริษัทฯ ดำเนินนโยบายลงทุน และมีสัดส่วนการลงทุนเป็นไปตามกฎระเบียบของสำนักงาน คปภ. โดยจัดสรรสภาพคล่องให้เพียงพอต่อภาระหนี้สินและค่าใช้จ่าย เน้นการลงทุนในสินทรัพย์ที่มีความปลอดภัยและมีสภาพคล่องสูง

“ปัจจุบันสัดส่วนการลงทุนของบริษัทส่วนใหญ่ ได้แก่ เงินฝาก ตราสารหนี้ภาครัฐ และตราสารทุนจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ ซึ่งในปี 2560 ที่ผ่านมาบริษัทฯ สามารถสร้างผลตอบแทนจากการลงทุนได้ใกล้เคียงกับที่คาดการณ์” นายประวิตรกล่าว

สำหรับทิศทางการลงทุนในปี 2561 บริษัทฯ ต้องติดตามอัตราดอกเบี้ยนโยบายของธนาคารแห่งประเทศไทยอย่างใกล้ชิด แม้ว่าอัตราดอกเบี้ยนโยบายน่าจะยังคงทรงตัว เนื่องจากระดับอัตราเงินเฟ้อในประเทศยังอยู่ในระดับต่ำ แต่ว่าอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐที่จะทยอยปรับขึ้นในปีนี้ อาจมีผลต่อการตัดสินใจของคณะกรรมการนโยบายการเงินได้ สำหรับการลงทุนในตราสารทุนจดทะเบียน บริษัทฯ จะดำเนินการลงทุนด้วยความระมัดระวัง แม้ว่าจะมีแน้วโน้มที่ยังอยู่ในช่วงขาขึ้นของตลาด แต่คาดว่าน่าจะมีความผันผวนมากขึ้นเมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา ดังนั้นทิศทางการลงทุนของบริษัทฯ ในปี 2561 จึงเน้นตามนโยบายเดิม ซึ่งน่าจะสร้างผลตอบแทนให้บริษัทฯ ได้ในเกณฑ์ดี ภายใต้ระดับความเสี่ยงที่ยอมรับได้


นายเกรียงศักดิ์ โพธิเกษม ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ บริษัท วิริยะประกันภัย จำกัด (มหาชน)
เปิดเผยถึงแผนการขยายงานด้านตลาด Non-Motor เพิ่มเติมว่า ภาพรวมผลประกอบการด้าน Non-Motor ในปีที่ผ่านมาเป็นที่น่าพอใจอย่างยิ่ง เพราะมีอัตราเติบโตถึง 14.46% หรือมีเบี้ยประกันภัย 3,439.91 ล้านบาท มีส่วนแบ่งการตลาดเป็นอันดับ 7 ของธุรกิจ โดยมีประกันภัยทางทะเลและขนส่งเติบโตมากที่สุดคือ 15.48% ในขณะที่ประกันส่วนของชีวิตและร่างกาย (ประกันสุขภาพและอุบัติเหตุส่วนบุคคล) มีอัตราเติบโตอยู่ที่ 13.23% และประกันความเสี่ยงภัยทรัพย์สินเติบโต 11.63%

03 คุณเกรียงศักดิ์ โพธิเกษม ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ-s

“ในปีนี้การรับประกันภัยด้าน Non-Motor บริษัทฯ มีแผนที่จะขยายสินค้าในด้านรายบุคคลเพิ่มมากขึ้น โดยเฉพาะส่วนของ Accident & Health insurance ซึ่งประกอบด้วยประกันอุบัติเหตุส่วนบุคคล ประกันสุขภาพรายบุคคล และประกันสุขภาพและอุบัติเหตุในขณะเดินทาง ซึ่งในภาพรวมของธุรกิจแล้ว ผลิตภัณฑ์ประกันภัยในกลุ่มนี้มีแนวโน้มสดใสมาก ประมาณการกันว่าในปี 2561 ตลาดประกันสุขภาพทั้งส่วนของประกันชีวิตและประกันวินาศภัย จะมีมูลค่ารวมมากกว่า 75,000 ล้านบาทหรือมีอัตราเติบโตมากกว่า 12% อย่างแน่นอน” นายเกรียงศักดิ์กล่าว

นายเกรียงศักดิ์กล่าวต่อไปอีกว่า สำหรับบริษัทฯ มีแผนออกผลิตภัณฑ์ประกันภัยที่สามารถเรียกได้ว่า เป็นนวัตกรรมใหม่แห่งความคุ้มครองด้านสุขภาพ เพราะผู้บริโภคสามารถเลือกความคุ้มครองได้ตามช่วงวัยและสอดรับกับไลฟ์สไตล์ ซึ่งจะแตกต่างกว่าในอดีตที่มีผลิตภัณฑ์ประกันภัยสุขภาพมาเสนอขายแบบครอบคลุมเบ็ดเสร็จไม่มีสิทธิเลือก และบริษัทผู้รับประกันภัยคอยทำหน้าที่จ่ายค่าสินไหมอย่างเดียว

แต่ยุคนี้นอกจากผู้บริโภคสามารถเลือกความคุ้มครองได้ตามช่วงวัย ตามไลฟ์สไตล์แล้ว บริษัทผู้รับประกันภัยต้องเพิ่มบทบาททำหน้าที่ให้คำปรึกษาด้านสุขภาพแก่ผู้บริโภคอีกด้วย ซึ่งในปัจจุบันนี้ บริษัทฯ ได้จัดตั้งทีมที่ปรึกษาด้านประกันสุขภาพทางโทรศัพท์ (Tele-Health Consultant) เพื่อทำหน้าที่ดังกล่าว อย่างไรก็ดีนอกจากประกันสุขภาพรายย่อยแล้ว ยังมีผลิตภัณฑ์อื่นๆ ที่น่าสนใจ ไม่ว่าจะเป็นประกันภัยการเดินทาง ประกันภัยอุบัติเหตุนักเรียน รวมไปถึงผลิตภัณฑ์ประกันภัยที่ออกมาให้บริการมาก่อนหน้าและได้รับการตอบรับที่ดี

“ปัจจัยความสำเร็จในครั้งนี้ นอกจากผลิตภัณฑ์ที่มีจุดเด่นในเรื่องนวัตกรรมแห่งความคุ้มครองแล้ว สิ่งที่สำคัญที่สุดคือเรื่องชื่อเสียงของบริษัทที่ได้รับการยอมรับโดยทั่วไปว่ามีความมั่นคง และมีบริการหลังการขายเป็นเลิศ จึงคาดว่าผู้บริโภคจะให้ความไว้วางใจเสมือนประกันรถยนต์ได้ไม่ยาก” นายเกรียงศักดิ์กล่าว

สำหรับนโยบายทางด้านความรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม นางสาวกานดา วัฒนายิ่งสมสุข ผู้จัดการฝ่ายสื่อสารองค์กร บริษัท วิริยะประกันภัย จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า บริษัทฯ ยังคงยึดมั่นในอุดมการณ์แห่งการแบ่งปันและสร้างสรรค์ประโยชน์แก่สังคมไทย ด้วยการจัดทำโครงการสาธารณประโยชน์เพื่อสังคมไทยอย่างจริงจังและต่อเนื่อง ภายใต้แนวทาง “6 ด้าน 3 รูปแบบ” ซึ่งหมายถึงเป็นกิจกรรมที่ครอบคลุมใน 6 ด้านหลัก คือ

04 คุณกานดา  วัฒนายิ่งสมสุข ผู้จัดการฝ่ายสื่อสารองค์กร-s

ด้านการรรงค์ความปลอดภัยบนท้องถนน ด้านการศึกษา ด้านอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม ด้านเศรษฐกิจพอเพียง ด้านศาสนาและวัฒนธรรม และด้านการแพทย์และสาธารณสุข ซึ่งมีรูปแบบการดำเนินงานใน 3 ลักษณะด้วยกัน คือ กิจกรรมที่บริษัทริเริ่มและดำเนินการเองมาอย่างต่อเนื่อง กิจกรรมที่บริษัทร่วมกันบูรณาการกับหน่วยงานภายนอก และกิจกรรมที่บริษัทให้การสนับสนุน

โดยในรอบปีที่ผ่านมาบริษัทฯ มีโครงการสาธารณประโยชน์ที่ดำเนินการไปตามแนวทาง “6 ด้าน 3 รูปแบบ”ประมาณ 47 โครงการ โดยเฉพาะโครงการที่บริษัทฯ ริเริ่มและดำเนินการด้วยตนเองนั้นมีถึง 15 โครงการด้วยกัน ซึ่งส่วนใหญ่เป็นดอกผลที่เกิดจากเวทีประกวด โครงการประกวดแผนงานกิจกรรมเพื่อสังคม “รวมพลังความดี คิดดี ทำดี เพื่อสังคม” อันเป็นเวทีที่จิตอาสาวิริยะประกันภัยทั่วไทยนำเสนอแผนกิจกรรมเพื่อสังคมมาประชันกันในทุกๆปี

สำหรับเป้าหมายการดำเนินงานในปี 61 นอกจากจะมีโครงการสาธารณประโยชน์ที่ผ่านเวทีการประกวดคิดดีทำดีฯ ซึ่งมีอยู่ 5 โครงการด้วยกันแล้ว บริษัทฯ ยังได้ริเริ่มโครงการใหม่ คือ ตามรอยพ่อ ณ กัลยาณี โดยบริษัทฯ ได้รับรู้ข้อมูลว่าในพื้นที่บริเวณวัดจันทร์ ตำบลบ้านจันทร์ อำเภอแม่แจ่ม จังหวัดเชียงใหม่ เป็นพื้นที่ที่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ได้เสด็จพระราชดำเนินเป็นการส่วนพระองค์ เพื่อทรงงานและทรงประทับอยู่เป็นเวลานานๆ จนทำให้โดยรอบบริเวณของพื้นที่มีโครงการพระราชดำริเกิดขึ้นมามากมาย หลังจากนั้นกระทรวงมหาดไทยได้กำหนดให้เป็น “โครงการอำเภอกัลยาณิวัฒนา เฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ เนื่องในโอกาสพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 7 รอบ 5 ธันวาคม 2554” โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้อำเภอกัลยาณิวัฒนาเป็นอำเภอต้นแบบในการพัฒนาที่ยั่งยืน

“จากการที่ได้เข้าไปศึกษาในเบื้องต้นประกอบกับได้มีการปรึกษาหารือกับผู้นำท้องถิ่น ได้แนวคิดตรงกันว่าจะพัฒนาพื้นที่ใจกลางของอำเภอ โดยเฉพาะเส้นทางเดินที่ในหลวง รัชกาลที่ 9 ทรงเสด็จพระราชดำเนินและนั่งทรงงาน ให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ และเพื่อการศึกษาศาสตร์พระราชา โดยความคืบหน้าล่าสุด บริษัทฯ ได้มอบหมายให้ฝ่ายปฎิบัติการณ์ภาค 1 (ภาคเหนือ) เจ้าของพื้นที่ดำเนินการจัดประชุมแสดงความคิดเห็นเพื่อหาข้อสรุปถึงแนวทางการดำเนินงานกับประชาชนในพื้นที่ ภาคประชาสังคมในพื้นที่ และหน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้อง” นางสาวกานดากล่าว

นางสาวกานดาเปิดเผยต่อไปอีกว่า อีกโครงการหนึ่งที่สำคัญและเริ่มทดลองดำเนินการมาตั้งแต่ปลายปีที่ผ่านมา ซึ่งได้ข้อสรุปว่าเป็นการสนับสนุนองค์ความรู้ให้กับเยาวชนในพื้นที่ถิ่นทุรกันดารอย่างแท้จริงนั้นก็คือ โครงการ White…CSR เติมความรู้สู่ห้องสมุดทั่วไทย ซึ่งในขณะนี้ได้ประสานงานไปยังฝ่ายปฎิบัติการภาคให้สำรวจความต้องการของโรงเรียนในพื้นที่ของตนเอง เพื่อจัดส่งรายชื่อมายังส่วนกลางดำเนินการจัดสรรหนังสือนอกตำราเรียนไปให้ ในขณะที่การทำงานร่วมกันกับหน่วยงานรัฐ และเอกชน เช่น รร.ตชด. มูลนิธิไทยรัฐ ฯลฯ ยังดำเนินการไปตามปรกติ และที่สำคัญโครงการนี้มิได้ปิดกั้นหรือตีกรอบการทำงานเพียงเท่านี้ บริษัทฯ พร้อมเปิดกว้างความร่วมมือกับหน่วยงานอื่นทั้งภาครัฐภาคเอกชน และภาคประชาสังคม เพียงแจ้งความประสงค์มาจะเกิดพลังขับเคลื่อนร่วมกันทันที logo เล็ก (ปิดท้ายข่าว)

ประกันภัย ดูทั้งหมด



COPYRIGHT © 2016 SEQUEL ONLINE. ALL RIGHTS RESERVED.
FOLLOW UP