19 มีนาคม 2561 : หากพูดประเด็นร้อนในขณะนี้ คงไม่พ้นเรื่องการลงทุนในสกุลเงินดิจิทัล หรือ การลงทุนคริปโตเคอเรนซี หลังจากเหล่าสตาร์ทอัพไทยระดมทุนดิจิทัล โดยลงทุนผ่านสกุลเงินดิจิทัลที่ออกโดยคนไทย จนเกิดหลายประเด็นในคราเดียวกัน เพราะการลงทุนดังกล่าวค่อนข้างมีความเสี่ยงสูงเกินระดับ 10 ทำให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องทางด้านเศรษฐกิจระดับประเทศระดมความคิดเพื่อป้องกันความเสี่ยง โดยไม่มีการกีดกั้นการลงทุนดังกล่าว
ขณะที่ทางภาครัฐ มองการลงทุนดังกล่าวควรต้องเก็บภาษีทรัพย์สินดิจิทัล ทางรัฐมนตรีกระทรวงการคลัง นายอภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์ ได้ออกมาระบุชัดว่า ขณะนี้ พ.ร.ก.การประกอบสินทรัพย์ดิจิทัล และ พ.ร.ก.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากรเพื่อจัดเก็บภาษีจากทรัพย์สินดิจิทัล จะครอบคลุมทั้งการซื้อขายสกุลเงินดิจิทัล (คริปโตเคอเรนซี) และการระดมทุนด้วยการเสนอขาย Initial Coin Offering (ICO) จากผู้ประกอบการรายใหม่และรายเก่า
ในส่วนผู้ประกอบการรายเก่าต้องมาจดแจ้งขึ้นทะเบียนกับสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ภายใน 6 เดือน ส่วนผู้ประกอบการรายใหม่หากต้องการดำเนินการก็ต้องขอจดแจ้งขึ้นทะเบียนกับ ก.ล.ต. ก่อนที่จะดำเนินการ
พ.ร.ก.ทั้ง 2 ฉบับจะทำควบคู่กันไป โดยในส่วนของการเก็บภาษีจากการซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัล หากมีกำไรหรือเงินปันผลจะต้องเสียภาษีหัก ณ ที่จ่ายทันที 15% โดยตัวแทนหรือคนกลางจะเป็นผู้หักไว้ และในตอนปลายปีต้องนำรายได้จากการซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัลดังกล่าวไปคำนวณเป็นรายได้เพื่อเสียภาษีปลายปี และนำภาษีที่เสียไว้ 15% ไปเครดิตหักภาษีได้ นอกจากนี้ กฎหมายยังให้กรมสรรพากรเรียกเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) จากผู้ประกอบการคริปโตเคอเรนซี และ ICO แต่จะยกเว้นให้กับนักลงทุนที่เป็นบุคคลธรรมดา
จนหลายคนมีมุมมองประเด็นดังกล่าวเป็นสองฝั่ง ฝั่งหนึ่งก็ว่ากันด้วยเรื่องความถูกต้องและเห็นสมควร อีกฝั่งก็มองไปในเรื่องของการเปิดช่องให้นักลงทุนหันไปซื้อ-ขายคริปโตเคอเรนซีในต่างประเทศแทน ขณะที่มุมมองฝั่งทางนักวิชาการ อย่างด้าน ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ได้ออกมาระบุถึงเรื่องนี้ว่า ร่าง พ.ร.ก.ดังกล่าว คงเป็นหนึ่งในกฎเกณฑ์สำคัญที่ทางการไทยเตรียมทยอยประกาศออกมาในอนาคต
แม้จะต้องรอบทสรุปของรายละเอียด ท้ายสุดหลังร่างกฎหมายผ่านการพิจารณาของคณะกรรมการกฤษฎีกา แต่ก็ยังย้ำเจตนารมณ์ของทางการไทยในการดูแลทรัพย์สินดิจิทัลที่มีการพัฒนาอย่างรวดเร็วนี้อย่างเป็นระบบ โดยมุ่งให้เกิดเสถียรภาพของตลาด ผ่านการสนับสนุนการลงทุนระยะยาวมากกว่าการเก็งกำไร ขณะเดียวกัน ก็ไม่เป็นการปิดกั้นทางเลือกในการลงทุนของนักลงทุน และกิจการที่ต้องการระดมทุน โดยเฉพาะธุรกิจสตาร์ทอัพและบริษัทผู้พัฒนาเทคโนโลยี ที่จะเป็นกำลังสำคัญในการพัฒนาประเทศในยุค 4.0 กระนั้นก็ตาม
สำหรับรายได้จากทรัพย์สินทั้งสองชนิดนี้ กฎหมายได้กำหนดอัตราภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาที่นักลงทุนต้องจ่าย อยู่ที่อัตรา 15% โดยหัก ณ ที่จ่าย และนักลงทุนยังต้องนำไปรวมในการคำนวณฐานเงินได้สุทธิประจำปีเพื่อเสียภาษีในภายหลังด้วย อย่างไรก็ตาม รายละเอียดข้างต้นนี้ยังมีโอกาสเปลี่ยนแปลง ขึ้นกับกฎหมายสุดท้ายที่ผ่านขั้นตอนต่างๆแล้ว รวมถึงกฎกระทรวงที่อาจมีการประกาศตามมาในภายหลัง
ขณะที่กระทรวงการคลังยังมีแนวทางกำหนดอัตราภาษีเงินได้ในกรณีนี้ เมื่อเทียบกับประเทศอื่นๆ จะพบความสอดคล้องกันของเกณฑ์ด้านภาษีตรงที่มีการเพ่งเล็งไปที่การซื้อขายเก็งกำไรระยะสั้นเป็นสำคัญ (โดยนักลงทุนที่มีการซื้อขายค่อนข้างถี่ก็จะเผชิญภาระภาษีมาก ยกตัวอย่าง ประเทศเยอรมนี ซึ่งกำหนดว่าในกรณีที่ผู้ซื้อขายทรัพย์สินดิจิทัลทำการซื้อและขายทรัพย์สินดิจิทัลชนิดใดหนึ่งภายในหนึ่งปี และทำกำไรจากการซื้อและขายทรัพย์สินดิจิทัลเกินกว่า 800 ยูโร จะต้องเสียภาษี Capital Gains ในอัตรา 25% แต่หากนักลงทุนเก็บเหรียญดิจิทัลไว้เกินหนึ่งปีก็จะไม่ต้องเสียภาษี เป็นต้น)
นอกจากนี้ ยังพบความสอดคล้องกันอีกประการหนึ่ง คือ ประเทศพัฒนาแล้ว ซึ่งออกกฎหมายด้านภาษี ไม่ว่าจะเป็นเยอรมนี สหราชอาณาจักร หรือสหรัฐฯ ไม่ได้ห้ามการซื้อขายทรัพย์สินดิจิทัล อันแสดงให้เห็นถึงเจตนารมณ์ของทางการที่ไม่ได้มุ่งจำกัดการเติบโตของอุตสาหกรรมดังกล่าว และเปิดโอกาสให้เกิดตลาด ICO เพื่อเป็นทางเลือกในการระดมทุนของกิจการ โดยเฉพาะธุรกิจสตาร์ทอัพ และธุรกิจด้านเทคโนโลยี บนความคาดหวังของต่อพฤติกรรมการลงทุนในลักษณะที่เอื้อต่อการเติบโตของตลาดอย่างมีเสถียรภาพ