16 มีนาคม 2561 : ดร.สุทธิพล ทวีชัยการ เลขาธิการคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) เปิดเผยว่าปัจจุบันเทคโนโลยีได้เข้ามามีบทบาทสำคัญในการทำงานของทุกสาขาวิชาชีพ และกลายเป็นความท้าทายสำคัญที่เข้ามาเปลี่ยนแปลงภูมิทัศน์ของทุกอุตสาหกรรมอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ สภาพสังคมของเราในปัจจุบันมีการเปลี่ยนถ่ายเข้าสู่สังคมดิจิทัลอย่างเต็มรูปแบบ
จึงถือเป็นภารกิจสำคัญอย่างยิ่งของทั้งสำนักงาน คปภ. และภาคอุตสาหกรรมประกันภัย รวมถึงคนกลางประกันภัยที่จะต้องมีการปรับปรุงกระบวนงานให้มีความทันสมัยสอดคล้องกับยุคสมัยที่เปลี่ยนแปลงไป โดยเฉพาะอย่างยิ่งคนกลางประกันภัย ทั้งตัวแทนประกันภัย นายหน้าประกันภัย และที่ปรึกษาด้านการประกันภัย ซึ่งถือเป็นหัวใจสำคัญของธุรกิจประกันภัย
เนื่องจากเป็นช่องทางการขายที่ประชาชนผู้เอาประกันภัยให้การยอมรับมากที่สุดช่องทางหนึ่ง ดังจะเห็นได้จากตัวเลขเมื่อปี 2560 ช่องทางตัวแทนและนายหน้าประกันชีวิต มีจำนวนเบี้ยประกันชีวิตรับรวมถึง 319,028 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วนถึงร้อยละ 52.41 ของเบี้ยประกันชีวิตรับรวมทุกช่องทาง และช่องทางตัวแทนและนายหน้าประกันวินาศภัย มีจำนวนเบี้ยประกันวินาศภัยรับรวมถึง 158,233 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วนสูงถึงร้อยละ 72.27 ของเบี้ยประกันวินาศภัยรับรวมทุกช่องทาง
ทั้งนี้ สำนักงาน คปภ. มีนโยบายส่งเสริม สนับสนุนให้ตัวแทนและนายหน้าประกันภัย ต้องมีการเรียนรู้อย่างต่อเนื่องตลอดช่วงระยะเวลาที่ประกอบอาชีพ ด้วยมุ่งหวังให้ตัวแทนและนายหน้าประกันภัยได้เพิ่มพูนความรู้ด้านประกันภัยที่ถูกต้องและทันสมัย ซึ่งการจะบรรลุผลตามความมุ่งหวังดังกล่าวนั้น ปัจจัยหลักที่สำคัญยิ่งประการหนึ่ง คือ การถ่ายทอดความรู้
ซึ่งก็คือวิทยากรต้องมีความรู้ความเข้าใจอย่างถ่องแท้ในเนื้อหาด้านประกันภัย ที่จะนำพาให้ตัวแทนประกันภัยและนายหน้าประกันภัย ที่เข้ารับการอบรมหลักสูตรขอรับและขอต่ออายุใบอนุญาต ได้รับความรู้และประสบการณ์ด้านประกันภัย และสร้างรายได้ให้กับธุรกิจประกันภัย รวมถึงส่งเสริมภาพลักษณ์ ทัศนคติที่ดีให้ประชาชนเกิดการยอมรับและเชื่อมั่นต่อธุรกิจประกันภัย
ดังนั้นจึงได้จัดให้มี “โครงการเพิ่มศักยภาพวิทยากรหลักสูตรตัวแทน/นายหน้าประกันภัย” ขึ้น เมื่อวันที่ 14-15 มีนาคม 2561 ที่ผ่านมา เพื่อถ่ายทอดความรู้และประสบการณ์ที่ทันต่อเหตุการณ์ สอดคล้องกับสภาพการณ์ในปัจจุบันให้เหล่าวิทยากร ทั้งนี้ ได้รับเกียรติจากทั้งจากผู้ทรงคุณวุฒิของสำนักงาน คปภ. และผู้เชี่ยวชาญจากองค์กรชั้นนำร่วมให้ความรู้แบ่งปันประสบการณ์ ซึ่งการอบรมในครั้งนี้แบ่งออกเป็น 2 วัน ในวันแรกมีการอบรมในวิชา สาระสำคัญของการแก้ไขพระราชบัญญัติประกันชีวิต พระราชบัญญัติประกันวินาศภัย พ.ศ. 2535 ฉบับแก้ไขเพิ่มเติมฯ
วิชามาตรฐานการกำกับดูแลธุรกิจประกันภัย (Insurance core principles) วิชาบทบาทกองทุนที่จัดตั้งขึ้นตามกฎหมายเกี่ยวกับประกันภัย และในวันที่สองมีการแบ่งการอบรมออกเป็น 2 กลุ่ม คือกลุ่มการประกันภัยชีวิต ซึ่งมีการบรรยายในวิชาผลิตภัณฑ์ประกันชีวิตในยุคดิจิตอล และวิชาการวางแผนทางการเงิน และกลุ่มการประกันวินาศภัยมีการบรรยายให้ความรู้ในวิชาความเสี่ยงจากภัยคุกคามทางไซเบอร์ และวิชาการวางแผนธุรกิจประกันภัยสำหรับตัวแทนและนายหน้า