นางสาลินี วังตาล ประธานกรรมการ และ นายมงคล ลีลาธรรม กรรมการผู้จัดการ เอสเอ็มอีแบงก์ ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (เอสเอ็มอีแบงก์) แถลงผลการดำเนินงานไตรมาส 1 ปี 2559 และการพัฒนาผู้ประกอบการในพันธกิจ SME Development Bank ว่า สินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPLs) สิ้นเดือนมีนาคม 2559 ลดลงมาอยู่ที่ระดับ 21,076 ล้านบาท ( คิดเป็น 23.78% ของสินเชื่อรวม ) ต่ำกว่าเป้า 22,000 ล้านบาท หรือลดลง 2,376 ล้านบาท ( คิดเป็น 27.23% ของสินเชื่อรวม ) สาเหตุเนื่องมาจากธนาคารสามารถขายลูกหนี้ให้กับ บริษัท บริหารสินทรัพย์กรุงเทพพาณิชย์ จำกัด (BAM) 1,057 ล้านบาท และป้องกันลูกหนี้ไม่ให้ตกชั้น ปรับโครงสร้างหนี้ได้
ส่วนผลการดำเนินงานธนาคารมีกำไรสุทธิเดือนมีนาคม 195 ล้านบาท ซึ่งเป็นกำไรต่อเนื่องจากปี 2558 ส่งผลให้ไตรมาสแรกปี 2559 ธนาคารมีกำไรสุทธิรวม 537 ล้านบาท ทั้งนี้ธนาคารปล่อยสินเชื่อใหม่ให้ผู้ประกอบการรายย่อยได้รวม 9,962 ล้านบาท จำนวน 3,405 ราย เฉลี่ยกู้ต่อราย 2.92 ล้านบาท และการที่ธนาคารมีผลกำไรต่อเนื่อง ทำให้ขณะนี้มีอัตราส่วนเงินกองทุนต่อสินทรัพย์เสี่ยง (BIS Ratio) เท่ากับ 14.34 %
สำหรับการพัฒนาผู้ประกอบการ ธนาคารได้เปิด Co-Working Space ณ สำนักงานใหญ่ SME Bank Tower ติดสถานีรถไฟฟ้าอารีย์ เพื่อให้บริการแก่ผู้ประกอบการกลุ่ม Startup และบัดนี้จะยกระดับขึ้นมาเป็นศูนย์ Innovation Center ร่วมกับ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง โดยศูนย์นี้จะเน้นงานด้านวิศวกรรม และไอที
นอกจากนี้ ยังขยายความร่วมมือกับบริษัทหลักทรัพย์ โนมูระ พัฒนสิน จำกัด (มหาชน) สนับสนุนส่งเสริมและพัฒนาศักยภาพผู้ประกอบการ SMEs และผู้ประกอบการใหม่เชิงสร้างสรรค์นวัตกรรมกลุ่ม Startup จัดการแข่งขัน Contest นักศึกษาและประชาชนทั่วไป โดยใช้งบประมาณ 1 ล้านบาท ซึ่งจะเปิดดำเนินการรับสมัครกลุ่มเป้าหมาย Startup เข้าร่วมการแข่งขัน ตั้งแต่ปลายเดือนเมษายน 2559 เป็นต้นไป
ทางด้านโครงการร่วมลงทุน อนุมัติแล้ว 3 ราย เป็นกิจการ SMEs ขนาดเล็ก เกี่ยวกับเกษตรแปรรูป ร่วมลงทุนอีก 1 ราย คือ บริษัท หมิ๋ง คอปอเรชั่น จำกัด ผู้ผลิตเครื่องดื่มซุปไก่สกัด ภายใต้แบรนด์ หมิ๋ง (Ming) เงินลงทุนประมาณ 10 ล้านบาท และในไตรมาสสอง ยังมีกิจการ SMEs ที่เตรียมพิจารณาเข้าร่วมลงทุนอีก 7 ราย เป็นธุรกิจด้านอาหาร ด้านซอฟต์แวร์ และด้านโลจิสติกส์ โดยคาดว่าปี 2559 ธนาคารจะร่วมลงทุนกับผู้ประกอบการ วงเงินประมาณ 700 ล้านบาท
รวมไปถึงสนับสนุนผู้ประกอบการกลุ่ม SMEs ที่เป็น Social Enterprise ในการพัฒนากลุ่มผู้ประกอบการ และชุมชนชาวบ้านบริเวณเขื่อนเชี่ยวหลาน จังหวัดสุราษฏร์ธานี ให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงนิเวศน์ พัฒนาให้ชาวบ้านเป็นผู้ประกอบการเชิงคุณภาพ ปรับปรุงแหล่งท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ เกษตรอินทรีย์ รวมถึงการเชื่อมโยงแหล่งท่องเที่ยวจากอันดามันมาสู่เกาะสมุย อ่าวไทย ซึ่งมีธุรกิจแพพักรองรับนักท่องเที่ยว ธุรกิจโดยสารทางเรือ เป็นต้น