13 มีนาคม 2561 : นายกฤษฎา บุญราช รมว.เกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยภายหลังหารือความร่วมมือทางการเกษตรกับเอกอัครราชทูตประจำประทศไทย 3 ประเทศ ได้แก่ สาธารณรัฐไนจีเรีย สหภาพยุโรป และสาธารณรัฐเปรู ว่า กระทรวงเกษตรฯ พร้อมให้ความร่วมมือและการสนับสนุนด้านวิชาการในด้านต่าง ๆ อันจะส่งผลอันดีต่อการขยายความร่วมมือด้านการเกษตรระหว่างกันในอนาคต
สำหรับประเด็นสำคัญที่ได้หยิบยกหารือ ประกอบด้วย ประเทศไทยสนับสนุนการฝึกอบรมทางวิชาการด้านเทคโนโลยีการผลิตและแปรรูปข้าวแก่สาธารณรัฐไนจีเรีย ซึ่งประเทศไทยขอให้ไนจีเรียส่งข้อเสนอโครงการผ่านกรมความร่วมมือระหว่างประเทศ (Thailand International Cooperation Agency: TICA)
นอกจากนี้ ประเทศไทยหารือเกี่ยวกับการขยายตลาดสินค้าสัตว์ปีกจากไทยไปไนจีเรีย เนื่องจากเห็นว่าไนจีเรียมีโอกาสในการนำเข้าเพราะมีประชากรมุสลิมเกือบร้อยละ 50 ของประชาการทั้งหมด (ประมาณ 180 ล้านคน) และไทยมีสินค้าฮาลาลที่ได้มาตรฐานสากล
ด้านเอกอัครราชทูตฯ สหภาพยุโรป แสดงความชื่นชมในความร่วมมือระหว่างอียู และกรมปศุสัตว์ ในการดำเนินงานของคณะทำงานอย่างไม่เป็นทางการ (informal contact group) ซึ่งช่วยให้การติดตามงาน/เอกสารการขอเปิดตลาด รวมถึงการติดตามประเด็นเร่งด่วนด้านสุขอนามัยและสุขอนามัยพืชเป็นไปอย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพ และเสนอให้มีการจัดตั้งคณะทำงานอย่างไม่เป็นทางการสำหรับสินค้าพืช ซึ่งฝ่ายไทยเห็นด้วยกับข้อเสนอดังกล่าว พร้อมนี้ อียู ยังชื่นชมการทำงานของในการแก้ไขปัญหาประมง IUU ของไทย
นอกจากนี้ กระทรวงเกษตรฯ แจ้งความคืบหน้าของการเดินทางไปตรวจรับรองอะโวกาโดจากประเทศเปรู ก่อนการส่งออกในช่วงสิ้นเดือน มี.ค. นี้ และได้มอบหมายกรมวิชาการเกษตร พิจารณาการเปิดตลาดให้กับเปรูตามกระบวนการ นอกจากนี้ ทั้งสองฝ่ายเห็นพ้องที่จะเร่งรัดการจัดทำบันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือด้านหม่อนไหม ซึ่งจะเกิดประโยชน์กับทั้งสองประเทศในการแลกเปลี่ยนเทคโนโลยี (know-how) ที่แต่ละฝ่ายมีความเชี่ยวชาญ ทั้งนี้ ในปีที่ผ่านมาทั้งสองฝ่ายได้มีการแลกเปลี่ยนนักวิชาการด้านประมงระหว่างกัน
สำหรับการหารือเพื่อขยายมูลค่าการค้าสินค้าเกษตรระหว่างกัน โดยเฉพาะการหารือกับสหภาพยุโรปและสาธารณรัฐเปรู ซึ่งกระทรวงเกษตรฯ ขอให้สนับสนุนการนำเข้าสินค้าเกษตรจากไทย อาทิ ยางพาราธรรมชาติ สับปะรด ปลาทูนา และข้าวจากไทย เป็นต้น ทั้งนี้ สินค้าเกษตรของไทยได้รับความเชื่อมั่นจากต่างประเทศ เนื่องจากกระทรวงเกษตรฯ ให้ความสำคัญกับมาตรฐานสินค้าจนเป็นที่ยอมรับในระดับสากล รวมทั้งมีความปลอดภัยต่อผู้บริโภค