8 มีนาคม 2561 : นางเนตรนภางค์ ธีระวาส ประธานเจ้าหน้าที่สายการบริการลูกค้า บริษัท ไทยสมายล์แอร์เวย์ จำกัด เปิดเผยว่า ไทยสมายล์มุ่งนำเสนอบริการในรูปแบบของ Smile Service Links ในทุกจุดที่ผู้โดยสารสายการบินไทยสมายล์จะได้สัมผัส (Touch Point) ตั้งแต่การสร้างรอยยิ้มเมื่อซื้อตั๋วเครื่องบิน ณ ศูนย์บริการลูกค้า (Smile Service Center) พร้อมสร้างความประทับใจที่เคาน์เตอร์เช็คอินและการจัดการสัมภาระ
ห้องรับรองพิเศษสมายล์เลานจ์ (Smile Lounge) ที่พร้อมเปิดให้บริการแล้วที่ท่าอากาศยานอุบลราชธานี เชียงราย และขอนแก่น ตลอดจนการให้บริการบนเครื่อง (Inflight Service) รวมถึงการสำรวจความพึงพอใจของลูกค้าและจัดการแก้ไขปัญหาและข้อร้องเรียนต่างๆ ซึ่งในทุกส่วนของงานบริการยังคงยึดมั่นด้านความปลอดภัย และความสะดวกสบายเป็นสำคัญ โดยไม่เลือกปฏิบัติ แต่มุ่งเน้นการบริการที่มีความเท่าเทียมกันทุกเชื้อชาติ ภาษา และลักษณะทางกายภาพ
“นั่นจึงเป็นที่มาที่ไทยสมายล์มองเห็นและให้ความสำคัญกับผู้โดยสารผู้พิการ รวมทั้งกลุ่มผู้โดยสารที่ต้องการการดูแลเป็นพิเศษ ซึ่งไม่ใช่เพียงผู้โดยสารที่ไม่สามารถเดินทางคนเดียวได้ หรือ เด็กเดินทางคนเดียวอายุต่ำกว่า 12 ปี อย่างที่เราพร้อมให้บริการอยู่ก่อนแล้ว แต่ยังมีกลุ่มผู้สูงวัยที่เพิ่มปริมาณมากขึ้น หรือผู้ที่ไม่สามารถเคลื่อนไหวขึ้นเครื่องได้อย่างสะดวก ”
นางเนตรนภางค์อธิบายถึงรูปแบบการให้บริการครอบคลุมในทุกเที่ยวบินสำหรับผู้พิการที่เดินไม่ได้ ทางไทยสมายล์ยินดีให้บริการ Wheelchair ภายในสนามบินจนถึงขึ้นเครื่อง และการให้บริการรถยก High Lift เพื่อนำผู้โดยสารพร้อม Wheelchair ขึ้นเครื่องง และล่าสุดได้ติดตั้ง Wheelchair ในห้องโดยสาร เพื่ออำนวยความสะดวกในการเคลื่อนย้ายผู้โดยสารภายในเครื่องบินทุกลำ
รวมทั้งการจัดทำคู่มืออธิบายขั้นตอนระเบียบด้านความปลอดภัยบนเครื่องบินเป็นภาษาเบรลล์ ทั้งเวอร์ชั่นภาษาไทยและภาษาอังกฤษสำหรับผู้พิการทางสายตา นอกจากนั้นยังนำเสนอภาษามือผ่านลูกเรือที่มีหัวใจบริการถ่ายทอดสู่ผู้พิการทางการได้ยิน เพื่อให้ผู้โดยสารทั้งสองกลุ่มได้เข้าใจและเรียนรู้วิธีปฏิบัติตัวด้านความปลอดภัยด้วยตนเอง และยังเป็นการสร้างความรู้สึกประทับใจในความใส่ใจกลุ่มผู้โดยสารคนพิเศษของสังคมของไทยสมายล์
นางสาวพัชราภรณ์ จันตะคาด Senior Cabin Crew กล่าวว่า สายการบินไทยสมายล์ให้ความสำคัญในเรื่องความปลอดภัยของผู้โดยสารเสมอมา และพยายามอย่างต่อเนื่องในการพัฒนาวิธีการเพื่อให้ผู้โดยสารสามารถเข้าถึงข้อมูลด้านความปลอดภัยอย่างเท่าเทียม เพื่อให้เกิดความปลอดภัยสูงสุดในการใช้บริการ และปรารถนาจะให้ผู้โดยสารทุกคนสามารถดูแลตัวเองได้ ซึ่งเป็นเรื่องที่ดีกว่าการรอความช่วยเหลือจากลูกเรือเพียงฝ่ายเดียว ซึ่งอาจมีความล่าช้าไม่ทันการณ์
การปรับปรุงการให้บริการครั้งนี้ เปิดโอกาสให้ตัวเองได้เรียนรู้สื่อภาษามือ ซึ่งใช้เวลาในการฝึกฝน 2 สัปดาห์และฝึกซ้ำผ่านการดูคลิปวิดีโอ เพื่อนำไปถ่ายทอดเรื่องราวความปลอดภัยประมาณ 1-2 นาทีให้กับผู้พิการทางการได้ยินบนเครื่องบิน โดยมุ่งหวังที่จะให้บริการผู้โดยสารได้ดีมากยิ่งขึ้น นอกจากนั้นแล้วการฝึกภาษามือในครั้งนี้ยังสร้างความสนใจให้ตนและพนักงานต้อนรับบนเครื่องบินสนใจการพัฒนาภาษามือเพื่อสื่อสารอื่นๆ มากขึ้นอีกด้วย
ทั้งนี้ ทุกบริการพิเศษที่นำเสนอสำหรับผู้โดยสาร รวมทั้งการสั่งอาหารพิเศษเสิร์ฟบนเครื่อง อาทิ อาหารมังสวิรัติ อาหารสำหรับเด็ก เป็นต้น จำเป็นต้องแจ้งสายการบินล่วงหน้าอย่างน้อย 48 ชั่วโมงเพื่อเตรียมความพร้อมอำนวยความสะดวกให้มากที่สุด นอกจากนั้นยังวางแผนที่จะตอบแทนสังคมให้มากขึ้นผ่านการประสานความร่วมมือกับสถาบันค้นคว้าและพัฒนาผลิตภัณฑ์อาหาร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ (IFRPD)
เพื่อช่วยเหลือเกษตรกร ภายใต้โครงการ “ สร้างรอยยิ้มให้เกษตรกรไทย” โดยนำสินค้าทางเกษตรที่ล้นตลาดมาแปรรูปและพัฒนาต่อยอดมาเป็นเครื่องดื่ม และอาหารว่าง ให้บริการกับผู้โดยสารภายในช่วงกลางปีนี้