3 มีนาคม 2561 : ศ.ดร.สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ อธิการบดีสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) ในฐานะประธานที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศ (ทปอ.) เผยว่า “University Expo” มหกรรมอุดมศึกษา : อุดมศึกษา – พลังขับเคลื่อนประเทศไทย 4.0 (Universities, the driver of Thailand 4.0) ถือเป็นการรวมตัวครั้งยิ่งใหญ่ของมหาวิทยาลัยไทย
ซึ่งในปัจจุบัน ทปอ.ได้มีนโยบาย ทปอ. พลัส พลัส โดยจะไม่ยึดติดเฉพาะมหาวิทยาลัยของรัฐที่เป็นสมาชิกเท่านั้น แต่จะผนึกกับสถาบันการศึกษาทั้งหมด รวมไปถึงมหาวิทยาลัยราชภัฏ มหาวิทยาลัยราชมงคล และมหาวิทยาลัยเอกชนทั่วไทย และในวันนี้ได้มาผนึกกำลังร่วมกัน โชว์ศักยภาพมหาวิทยาลัยไทย ร่วมกันขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศไทยในอนาคต รวมถึงเผยแพร่ความรู้ โครงการ กิจกรรมต่างๆ และผลงานด้านวิชาการและงานวิจัยของภาคอุดมศึกษา ที่จะมาโชว์ในงานนี้
โดยได้มีผลงานเด่นๆจากมหาวิทยาลัยที่เข้าร่วมถึง 50 ผลงานอาทิ นวัตกรรมการเรียนการสอนสมัยใหม่ STEM Robotics SMART Mobility, space walker ซึ่งเป็นอุปกรณ์ช่วยผู้ป่วยฝึกเดินกายภาพบำบัด, Drone เพื่อการเกษตร เป็นต้น
นอกจากนี้ ภายในงานยังได้พบกับครั้งแรกของระบบคัดเลือก TCAS พร้อมเปิดโอกาสให้นักเรียนผู้สนใจได้ทดลอง “แบบทดสอบ aiSCT” เพื่อค้นหาคณะที่เรียนแล้วปัง ด้วย AI ที่ให้ผลลัพธ์แม่นยำ 95% ที่จะช่วยเพิ่มโอกาสประสบความสำเร็จในอาชีพและการทำงานในอนาคต โดยจะใช้เวลาเพียง 15 นาทีเท่านั้น รวมไปถึงงานประชุมวิชาการที่จะได้พบกับการบรรยายพิเศษของผู้ทรงคุณวุฒิชั้นนำของประเทศที่จะมาแสดงวิสัยทัศน์ต่อการศึกษาไทยเพื่อการพัฒนาสู่ความยั่งยืน ได้แก่
– การบรรยายในหัวข้อ “ประเทศไทยกับเส้นทางการพัฒนาสู่ความยั่งยืน” โดย ดร.สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี
– การบรรยายในหัวข้อ “บทบาทและความสำคัญของมหาวิทยาลัยต่อนโยบายการ่วมลงทุนระหว่างรัฐกับเอกชน” โดย พลอากาศเอกประจิน จั่นตอง รองนายกรัฐมนตรี
– การบรรยายในหัวข้อ “รมเพื่อไปสู่เศรษฐกิจยุคใหม่ของประเทศไทยการปฏิรูปการวิจัยและการสร้างนวัตกร” โดย ดร.สุวิทย์ เมษินทรีย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี
– การบรรยายในหัวข้อ “การเปลี่ยนแปลงของวงการการศึกษาในยุคของคนรุ่น Z” โดย ศ.นพ.อุดม คชินทร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ
– และ mini stage พบกับการร่วมแชร์ประสบการณ์ในหัวข้อ”จากนักศึกษาในรั้วมหาวิทยาลัยสู่การเป็น STARTUP ที่ประสบความสำเร็จ” โดยคุณชื่นชีวัน วงษ์เสรี จาก “Globish Academia”, คุณอานนท์ บุณยประเวศ จาก “เล่นดิน เล่นน้ำ” และคุณนารีรัตน์ แซ่เตีย จาก “InsightEra”
งาน “University Expo” ครั้งนี้ ได้รวบรวมพลังอุดมศึกษาเพื่อขับเคลื่อนประเทศเน้นเทคโนโลยีและนวัตกรรมต่างๆ และการเป็นมหาวิทยาลัยไทย 4.0 ผ่านนิทรรศการผลงานทางวิชาการทั้ง 10 โซน
โซนที่ 1 : “รอยัล พาวิลเลียน” (ROYAL PAVILION) นิทรรศการเทิดพระเกียรติพระราชกรณียกิจด้านการศึกษา ของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ที่ได้ทรงริเริ่มการศึกษาแบบตะวันตกในราชสำนักสยาม, พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร ที่ทรงมีพระราชดำริส่งเสริมสนับสนุนการศึกษาทุกสาขาแก่เยาวชนและประชาชนอย่างทั่วถึง ทั้งการศึกษาในระบบโรงเรียนทั่วประเทศ และการจัดการศึกษานอกระบบ และ สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร ที่ทรงมีพระบรมราโชบายด้านการศึกษา เพื่อการพัฒนาบุคคลในชาติอย่างครอบคลุมทุกด้าน พร้อมชมผลงานภาพวาดพระราชกรณียกิจ 3 พระองค์ จากมหาวิทยาลัยชั้นนำกว่าสิบผลงาน
โซนที่ 2 : STEM EDUCATION & 21st CENTURY LEARNING เรื่องราวของการส่งเสริมและสนับสนุนรากฐานที่ดีให้นักเรียนได้เรียนรู้และฝึกฝนให้มีความรู้ทางวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ และเทคโนโลยีที่จะขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสังคมไทย รวมทั้งทักษะใหม่สำหรับการเรียนรู้ของเยาวชนในยุคปัจจุบัน เพื่อให้ใช้ทักษะเหล่านี้ในการดำเนินชีวิตและการทำงานได้อย่างเหมาะสมกับยุคสมัยมากที่สุด
โซนที่ 3: อุดมศึกษาไทยกับการพัฒนาชุมชน การแก้ปัญหาและตอบสนองความต้องการของชุมชน โดยการเชื่อมโยงองค์ความรู้จากนักวิชาการผ่านกระบวนการวิจัยและบริการวิชาการ นำไปสู่การถ่ายทอดเทคโนโลยีและนวัตกรรมผ่านกระบวนการ มีส่วนร่วมให้กับชุมชนก่อเกิดการพัฒนาอย่างยั่งยืน ทั้งด้านสุขภาพ ความเป็นอยู่ของวิถีชีวิต การสร้างอาชีพและการเป็นชุมชนต้นแบบแห่งการเรียนรู้
โซนที่ 4 : Social Innovation, Social Enterprise and Entrepreneurship แสดงถึงนวัตกรรมทางสังคมที่สร้างขึ้นโดยสถาบันอุดมศึกษาของไทย ทำให้ผู้เข้าชมได้เห็นตัวอย่างและเข้าใจคำว่า Social Innovation รวมทั้งบทบาทของอุดมศึกษาไทย ในการขับเคลื่อนธุรกิจเพื่อสังคม ผ่านการใช้นวัตกรรมทางสังคม ซึ่งจะเป็นพลังที่ขับเคลื่อนธุรกิจเพื่อสังคมในประเทศอย่างยั่งยืน
โซนที่ 5 : University Innovation Ecosystem เรื่องราวของความเชื่อมโยงกันในสังคม โดยสถาบันอุดมศึกษาเป็นศูนย์กลางที่เชื่อมโยงภาครัฐและภาคอุตสาหกรรม เนื่องจากความพร้อมทางด้านสภาพแวดล้อม ได้แก่ บุคลากร สถานที่ เครื่องมือ อุปกรณ์ กิจกรรมและบริการที่สนับสนุนและส่งเสริมการพัฒนาประเทศไปสู่โมเดล Thailand 4.0 อย่างแท้จริง
โซนที่ 6 : SMEs & Start Up ต้นแบบของนวัตกรรมสร้างสรรค์ที่นักศึกษาพัฒนาขึ้น อีกทั้งยังได้ร่วมชมการแข่งขันการนำเสนอผลงานนวัตกรรมของนักศึกษา เพื่อเป็นแรงบันดาลใจให้สร้างสรรค์พัฒนานวัตกรรมใหม่ๆ เพื่อเป็นประโยชน์ต่อประเทศชาติในอนาคต
โซนที่ 7 : Innovation Hubs โครงการ Innovation Hubs ออกแบบมาเพื่อปิดช่องว่างที่มีอยู่ของระบบวิจัยไทยที่ไม่สามารถผลักดันให้งานวิจัยจากสถาบันการศึกษา หรือสถาบันวิจัยสู่การใช้ประโยชน์ โดยสนับสนุนมหาวิทยาลัยที่มีศักยภาพให้เป็นศูนย์กลางนวัตกรรมด้วยการส่งเสริมให้มีเครื่องมือขนาดใหญ่ที่จะขยายผลงานสู่ระดับต้นแบบ ทุนพัฒนานวัตกรรมต่อยอดงานวิจัย และส่งเสริมผู้ประกอบการเดิมและสร้างผู้ประกอบการใหม่
โซนที่ 8 : นิทรรศการความร่วมมือและการรวมของกลุ่มมหาวิทยาลัย เข้าถึง และเข้าใจในระบบการคัดเลือกบุคคลเข้าศึกษาในสถาบันอุดมศึกษาปีการศึกษา 2561 Thai university Central Admission System (TCAS) ซึ่งเป็นระบบที่เอื้อให้นักเรียนอยู่ในห้องเรียนให้ครบระยะเวลาการเรียนการสอน รวมทั้งสามารถค้นหาคณะที่เรียนแล้ว “ปัง” ด้วย AI ผ่านทาง www.mycareer.ai และเครือข่ายเพื่อการพัฒนาอุดมศึกษาทั้ง 9 ภูมิภาคในประเทศไทย
โซนที่ 9 : นิทรรศการความร่วมมือมหาวิทยาลัยต่างประเทศ ตัวอย่างกิจกรรมความร่วมมือระหว่างมหาวิทยาลัยไทยกับมหาวิทยาลัยต่างประเทศ ทั้งด้านวิชาการ งานวิจัยและกิจกรรมของนิสิตนักศึกษา โดยคัดเลือกโครงการเด่นๆ ที่ตอบสนอง 4.0 ได้แก่ โครงการด้านอาหาร เกษตร และเทคโนโลยีทางการแพทย์ โครงการด้านปัญญาประดิษฐ์ ดิจิทัลเทคโนโลยีหุ่นยนต์ สมองกลฝังตัว และโครงการด้านอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ วัฒนธรรม ในรูปแบบ interactive เพื่อให้ผู้ชมนิทรรศการสามารถสืบค้นได้ด้วยตัวเอง
โซนที่ 10: นิทรรศการมหาวิทยาลัยเอกชน จัดแสดงเนื้อหาเกี่ยวกับ สถาบันอุดมศึกษาเอกชนกับโอกาสทางการศึกษา, ความร่วมมือของสถาบันกับภาคธุรกิจและอุตสาหกรรม และ บทบาทในด้านการพัฒนาทรัพยากรบุคคล เพื่อพัฒนาเศรษฐกิจและอุตสาหกรรมของปทระเทศ ตามนโยบายประเทศไทย 4.0
“การจัดงาน University Expo” มหกรรมอุดมศึกษา : อุดมศึกษา – พลังขับเคลื่อนประเทศไทย 4.0 (Universities, the driver of Thailand 4.0) ของ ทปอ. ครั้งนี้ถือได้ว่าเป็นการเปิดรั้วมหาวิทยาลัยให้บุคคลภายนอกได้เห็นถึงศักยภาพ งานนวัตกรรม งานเทคโนโลยี งานวิจัย ที่มหาวิทยาลัยได้คิดค้นสร้างสรรค์ขึ้นมาเพื่อใช้ให้เป็นประโยชน์ พัฒนา และขับเคลื่อนเศรษฐกิจประเทศชาติ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อทุกมหาวิทยาลัยมุ่งมั่นที่จะรวมพลังกันอย่างเต็มที่ย่อมเป็นแรงผลักดันให้ประเทศก้าวข้าม กับดักความเหลื่อมล้ำ สอดคล้องนโยบายภาครัฐ ตอบโจทย์การพัฒนาประเทศสู่ Thailand 4.0” ศ.ดร.สุชัชวีร์ กล่าวทิ้งท้าย