20 กุมภาพันธ์ 2561 : สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) รายงานตัวเลข GDP ของไทยในไตรมาส 4 ปี 2017 ขยายตัว 4.0%YOY (เทียบกับไตรมาสเดียวกันปีก่อนหน้า) หรือเติบโต 0.5% หากเทียบกับไตรมาสก่อนแบบปรับฤดูกาล ทำให้ GDP ของไทยในปี 2017 ขยายตัวได้ที่ 3.9%
การส่งออกสินค้า – การท่องเที่ยวหนุนเศรษฐกิจไทยเติบโตต่อเนื่อง มูลค่าการส่งออกสินค้าที่แท้จริงในรูปเงินบาทในไตรมาส 4 ยังคงขยายตัวได้สูงต่อเนื่องที่ 6.6%YOY จากการขยายตัวในทุกหมวดสินค้า และเติบโตได้ดีในเกือบทุกตลาดส่งออก และส่งผลให้ทั้งปี 2017 เติบโตกว่า 5.6%YOY
การบริโภคภาคเอกชนยังถูกขับเคลื่อนด้วยผู้มีรายได้สูงเป็นหลัก โดยการบริโภคภาคเอกชนขยายตัวได้ 3.5%YOY ซึ่งยังมีแรงขับเคลื่อนสำคัญมาจากการบริโภคสินค้าคงทนที่ขยายตัวได้สูงที่ 21.8%YOY โดยเฉพาะการซื้อยานพาหนะที่เติบโตถึง 35.1%YOY ซึ่งสะท้อนถึงการใช้จ่ายของผู้มีรายได้ปานกลาง-สูง ขณะที่การบริโภคสินค้าไม่คงทน เช่น อาหาร เครื่องดื่ม ชะลอลงจากไตรมาสก่อน รวมถึงการบริโภคเครื่องนุ่มห่มหดตัวลง
อีไอซีมองเศรษฐกิจไทยปี 2018 จะขยายตัวต่อเนื่องที่ 4.0% แต่ภาพการเติบโตแบบกระจุกตัวอย่างในไตรมาสที่ 4/2017 อาจยังดำเนินต่อไป ด้วยพื้นฐานเศรษฐกิจโลกที่ยังคงแข็งแกร่งและความเสี่ยงต่อภาวะเศรษฐกิจถดถอยในประเทศสำคัญที่มีน้อยลง ทั้งภาคการส่งออกสินค้าและการท่องเที่ยวของไทยจึงน่าจะยังเป็นแรงขับเคลื่อนที่สำคัญในปีนี้
การเติบโตในส่วนดังกล่าวส่งผลประโยชน์โดยตรงต่อธุรกิจขนาดใหญ่และทำให้การลงทุนภาคเอกชนเริ่มกลับมาขยายตัว ในด้านการใช้จ่ายภาครัฐก็มีโอกาสสูงที่จะกลับมาฟื้นตัวตามการเร่งผลักดันโครงการลงทุนขนาดใหญ่ อย่างไรก็ตาม อีไอซีมองว่าการขยายตัวในลักษณะที่ไม่ได้ส่งผลประโยชน์ถึงภาคครัวเรือนมีแนวโน้มดำเนินต่อไป เพราะตัวแปรสำคัญคือตลาดแรงงานยังไม่ส่งสัญญาณฟื้นตัวแม้การเติบโตทางเศรษฐกิจจะเร่งตัวมาตลอดปี
โดยในไตรมาส 4 ปี 2017 การจ้างงานในธุรกิจภาคเอกชนยังคงลดลงที่ -0.5%YOY ต่อเนื่องจาก -1.7%YOY ในไตรมาสก่อนหน้า โดยเป็นการลดลงในภาคการเกษตร การก่อสร้าง และการผลิต สะท้อนให้เห็นถึงความต้องการแรงงานที่ยังอยู่ในสภาวะชะลอตัวในวงกว้างอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้แนวโน้มกำลังซื้อและการบริโภคภาคครัวเรือนอาจขยายตัวได้ไม่มากนัก