20 กุมภาพันธ์ 2561 : สมบูรณ์ จิตเป็นธม ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายนโยบายสถาบันการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า การแต่งตั้งตัวแทนของธนาคารพาณิชย์ (Banking Agent) เป็นเรื่องที่อนุญาตให้ธนาคารพาณิชย์แต่งตั้งได้อยู่แล้ว โดยธนาคารพาณิชย์สามารถแต่งตั้งตัวแทนไม่ว่าจะเป็น ธนาคารพาณิชย์อื่น สถาบันการเงินเฉพาะกิจ และไปรษณีย์ ซึ่งเกณฑ์ใหม่ได้ขยายให้ครอบคลุมนิติบุคคลอื่นที่มีคุณสมบัติเหมาะสมด้วย
ทั้งนี้ ตัวแทนของธนาคารพาณิชย์ สามารถให้บริการ รับฝาก ถอน โอน ชำระเงิน สำหรับลูกค้ารายย่อย ซึ่งตามหลักเกณฑ์นี้ ธนาคารพาณิชย์แต่ละแห่งจะเป็นผู้พิจารณาคัดเลือกตัวแทนที่มีคุณสมบัติเหมาะสม สอดคล้องกับกลยุทธ์การให้บริการลูกค้าของธนาคารพาณิชย์ นอกจากนี้ ตัวแทนที่ธนาคารพาณิชย์เลือกแต่งตั้ง จะต้องมีสถานที่ให้บริการเป็นหลักแหล่งที่ชัดเจน มีเครื่องมือและระบบการให้บริการรองรับการปฏิบัติงานที่ปลอดภัย โดยประเด็นสำคัญธนาคารพาณิชย์ต้องดูแลรับผิดชอบการให้บริการของตัวแทนเสมือนหนึ่งเป็นผู้ให้บริการเอง
อนึ่ง ตัวแทนของธนาคารพาณิชย์เป็นเพียงผู้ที่ธนาคารพาณิชย์แต่งตั้งในการให้บริการแทนในธุรกรรมบางประเภท มิใช่การจัดตั้งธนาคารพาณิชย์ใหม่ที่มีใบอนุญาต (Banking license) จาก ธปท. ซึ่งในปัจจุบันธปท. ยังไม่มีนโยบายในการให้ใบอนุญาตการประกอบธุรกิจธนาคารพาณิชย์รายใหม่แต่อย่างใด
“ข่าวที่ออกมาว่า ธปท.อนุญาตให้เซเว่น อีเลฟเว่นเป็น Banking Agent ทำธุรกิจเหมือนธนาคาร เป็นความเข้าใจที่คลาดเคลื่อน เพราะ Banking Agent จะถูกแต่งตั้งโดยธนาคารพาณิชย์ ทำหน้าที่แทนในการรับฝากเงินและรับชำระเงิน ซึ่งปัจจุบัน มีบริษัท ไปรษณีย์ไทย จำกัด ที่สามารถรับฝากเงิน ตู้บุญเติม ตู้เติมสบาย แอร์เพย์ เคาท์เตอร์เซอร์วิซ ในเซเว่น อีเลฟเว่น สามารถรับชำระเงินแทนธนาคาร บิ๊กซี โลตัส ที่รับชำระค่าน้ำ ค่าไฟ ดังนั้น Banking Agent จึงไม่ใช่เรื่องใหม่”
ทั้งนี้ ธปท.ได้ออกเกณฑ์ให้ธนาคารพาณิชย์สามารถแต่งตั้ง Banking Agent ได้ตั้งแต่ปี 2553 โดยมีทั้งธนาคารพาณิชย์ทั้งขนาดใหญ่และขนาดกลาง เช่น ธนาคารกสิกรไทย แต่งตั้ง Banking Agent เพื่อเพิ่มความสะดวกให้ลูกค้าใช้โอนเงินไปต่างจังหวัด หรือ ธนาคารไทยเครเดิตเพื่อรายย่อยก็มีการแต่งตั้งบริษัท ไปรษณีย์ไทย เพื่อรับฝากเงิน เป็นต้น โดยการอนุญาตให้แต่งตั้ง Banking Agent เป็นนโยบายที่หลายประเทศก็ดำเนินการ เพื่อเป็นการกระจายการให้บริการทางการเงินครอบคลุมมากขึ้น