8 กุมภาพันธ์ 2561 : นายเอนก พนาอภิชน รักษาการประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.อินทัช โฮลดิ้งส์ เปิดเผยว่า “แนวโน้มธุรกิจโทรคมนาคมและบริการด้านดาต้าขยายตัวอย่างรวดเร็วต่อเนื่อง เห็นได้ชัดจากธุรกิจในเครือที่ให้บริการด้านดาต้าและการทำดิจิทัลคอมเมิร์ซ เช่น เอไอเอส ที่มีรายได้จากการให้บริการดาต้าเพิ่มขึ้นร้อยละ 19 และอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 264 จากแนวโน้มดังกล่าว ในปี 2561 บริษัทฯ จะยังคงดำเนินการตาม 4 กลยุทธ์หลัก ได้แก่
การบริหารสินทรัพย์ที่มีประสิทธิภาพ การสร้างโอกาสในการเติบโตใหม่ๆ การเสริมความแกร่งของธุรกิจ และการพัฒนาองค์กรที่เน้นการสร้างผลสัมฤทธิ์ที่แข็งแกร่ง เพื่อรักษาความเป็นผู้นำในธุรกิจโทรคมนาคม สื่อ และเทคโนโลยี และสามารถสร้างผลตอบแทนอย่างยั่งยืนให้แก่ผู้ถือหุ้น ทั้งนี้อินทัชจะยังคงรักษานโยบายจ่ายเงินปันผลส่วนใหญ่ที่บริษัทได้รับจากบริษัทร่วมและบริษัทย่อยหลังหักค่าใช้จ่าย
โดยกำหนดจ่ายเงินปันผลในวันที่ 27 เมษายน 2561 และเมื่อรวมกับการจ่ายเงินปันผลระหว่างกาล งวดวันที่ 1 มกราคม – 30 มิถุนายน 2560 ในอัตรา 1.25 บาทต่อหุ้น ซึ่งจ่ายไปแล้วเมื่อวันที่ 5 กันยายนที่ผ่านมา ส่งผลให้ในปี 2560 บริษัทจ่ายเงินปันผลทั้งสิ้นในอัตรา 2.52 บาทต่อหุ้น” นายเอนก กล่าว
เอไอเอส – ดาต้า อินเทอร์เน็ตบรอดแบนด์พุ่ง
ในปี 2560 ที่ผ่านมา อินทัชได้รับส่วนแบ่งกำไรจาก เอไอเอส ซึ่งเป็นบริษัทร่วมหลัก 12,126 ล้านบาท ใกล้เคียงกันกับปี 2559 โดยเมื่อสิ้นไตรมาสที่ 4 ปี 2560 เอไอเอสมีลูกค้าสุทธิทั้งสิ้น 40.1 ล้านราย มีรายได้จากการให้บริการข้อมูลเพิ่มขึ้นร้อยละ 19 จากอัตราการใช้โทรศัพท์เคลื่อนที่ 4G ที่เติบโตอย่างรวดเร็ว รายได้จากธุรกิจอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงเพิ่มขึ้นเป็นอย่างมาก และมีลูกค้าเอไอเอส ไฟเบอร์เพิ่มขึ้นจากปี 2559 ร้อยละ 73 เป็น 521,200 คน
สำหรับปี 2561 เอไอเอสจะยังเป็นธุรกิจหลักที่สร้างรายได้ให้แก่อินทัช โดยบริษัทจะรับส่วนแบ่งจากเอไอเอสตามสัดส่วนการถือหุ้น ซึ่งคาดว่ารายได้ของเอไอเอสในปี 2561 จะเพิ่มขึ้นร้อยละ 7-8 โดยรายได้ส่วนหนึ่งมาจากการเข้าซื้อกิจการของซีเอสแอล รวมทั้งจะมีการลงทุนต่อเนื่องมูลค่าประมาณ 3.5-3.8 หมื่นล้านบาทเพื่อรองรับการใช้งานด้านดาต้าและขยายธุรกิจอินเทอร์เน็ตบรอดแบนด์
โครงการอินเว้นท์ – เพิ่มศักยภาพผ่านการลงทุนธุรกิจแห่งอนาคต
โครงการอินเว้นท์ ซึ่งเป็นหน่วยงานหลักด้านคอร์ปอเรท เวนเจอร์ แคปปิตอล มีผลงานที่โดดเด่นต่อเนื่องจากนโยบายการลงทุนในสตาร์ทอัพที่มีศักยภาพในการเติบโตสูง โดยเฉพาะบริษัทที่อยู่ในธุรกิจโทรคมนาคม สื่อ และเทคโนโลยี (TMT) โดยในปีที่ผ่านมา อินเว้นท์ใช้เงินลงทุนประมาณ 112 ล้านบาทในการลงทุนเพิ่มใน 3 บริษัท คือ บริษัท ดิจิโอ (ประเทศไทย) จำกัด ผู้พัฒนาและให้บริการระบบชำระเงินแบบเบ็ดเสร็จผ่านโทรศัพท์เคลื่อนที่ บริษัท อีเว้นท์ ป๊อป โฮลดิ้งส์ พีทีอี ลิมิเต็ด ผู้พัฒนาและให้บริการแพลตฟอร์มจัดงานอีเวนท์แบบครบวงจร และ บริษัท อีคอมเมิร์ซ เอ็นเนเบลอส์ พีทีอี ลิมิเต็ด ผู้รวบรวมร้านค้าออนไลน์ โดยผู้ซื้อสินค้าและบริการจะได้รับเงินคืนในรูปแบบอี-วอลเล็ตสำหรับการซื้อสินค้าหรือบริการในครั้งต่อไป ปัจจุบัน
อินเว้นท์ให้การสนับสนุนโดยร่วมลงทุนในสตาร์ทอัพทั้งสิ้น 13 บริษัท ใช้เงินลงทุนรวม 402 ล้านบาท และบริษัทเหล่านี้มีมูลค่าสูงขึ้นถึงกว่า 600 ล้านบาท สำหรับในปี 2561 อินทัชจะยังคงเน้นการลงทุนในธุรกิจโทรคมนาคม สื่อ และเทคโนโลยีด้วยเงินลงทุน 200 ล้านบาทต่อปี
ธุรกิจดาวเทียมทรงตัว เร่งหาลูกค้าในตลาดใหม่
อินทัชได้ลงทุนในธุรกิจดาวเทียมผ่านไทยคม โดยคาดว่าในปี 2561 รายได้ของไทยคมจะลดลงเล็กน้อยจากสภาวการณ์แข่งขันในตลาด โดยบริษัทจะเน้นการหาลูกค้าใหม่ในภูมิภาคที่มีการเติบโตสูงในแอฟริกา เอเชียใต้และลุ่มน้ำโขง ส่วนดาวเทียม บรอดแบนด์นั้นจะเริ่มมีการรับรู้รายได้จากลูกค้าใหม่ที่เซ็นสัญญาในปี 2560 ได้แก่ลูกค้าจากประเทศอินโดนีเซีย ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ อินเดีย และ ไทย
ช็อปปิ้งทางโทรทัศน์-ออนไลน์มีแนวโน้มเติบโตดีขึ้น
ไฮ ช็อปปิ้ง (High Shopping) มีรายได้การเติบโตร้อยละ 80 ในปีที่ผ่านมา ซึ่งปัจจัยสำคัญที่ทำให้ไฮ ช็อปปิ้งประสบความสำเร็จคือ การขยายช่องทางการขายสินค้าจากทีวีดาวเทียมสู่ดิจิตอลทีวี เคเบิ้ลทีวี และช่องทางออนไลน์ต่างๆ รวมทั้งจับมือกับพันธมิตร เช่น Lazada 11street หรือ Shopee ทำให้จำนวนผู้รับชมและลูกค้าเห็นสินค้าของไฮ ช็อปปิ้งมากขึ้นทำให้ยอดขายต่อวันของไฮ ช็อปปิ้งเพิ่มจากวันละประมาณ 1 ล้านบาทในปี 2559 เป็น 1.8 ล้านบาทในปี 2560 และคาดว่าจะเพิ่มเป็น 2.5 ล้านบาทต่อวันในปี 2561
นายเอนก กล่าวสรุปว่า “จากแนวโน้มการขยายตัวของเศรษฐกิจที่คาดว่าจะอยู่ในระดับประมาณร้อยละ 4 และความนิยมในสื่อดิจิทัล ทำให้เรามั่นใจในทิศทางการดำเนินธุรกิจที่มุ่งเน้นการลงทุนและขยายธุรกิจในด้านโทรคมนาคม สื่อ และเทคโนโลยี เพื่อสร้างคุณค่าเพิ่มให้แก่ผู้บริโภคและธุรกิจทั่วไปอย่างต่อเนื่อง รวมทั้งขับเคลื่อนสังคมและเศรษฐกิจไทยสู่ดิจิทัลอีโคโนมีเพื่อสร้างการเติบโตอย่างยั่งยืน”