5 กุมภาพันธ์ 2561 : นายพรชัย ฐีระเวช ที่ปรึกษาด้านเศรษฐกิจการเงิน สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง กล่าวว่า การทำงานของคณะทำงานเกี่ยวกับสกุลเงินดิจิตอล (Cryptocurrency) มีกรอบเวลาเบื้องต้นกำหนดไว้ภายในวันที่ 28 ก.พ.จะต้องเสนอผลศึกษาและแนวทางต่อ Cryptocurrency ต่อกระทรวงการคลังและรัฐบาล
ก่อนหน้านี้ คณะทำงานได้มีการมอบหมายงานให้กับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องพิจารณาภายใต้อำนาจหน้าที่ โดยคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ดูแลเรื่องของการกำกับดูแลการลงทุนผ่านตลาดทุน, ธนาคารกลางแห่งประเทศไทย (ธปท.) ดูแลในเรื่องของการชำระเงินผ่านระบบการชำระเงินของประเทศ และสำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) ดูประเด็นการใช้ช่องทางนำเงินไม่ถูกกฎหมายมาใช้ ขณะที่กระทรวงการคลังเหมือนกับเป็นคนกลางในการช่วยกันดูแลว่าในแต่ละมุมหน่วยงานใดเกี่ยวข้องอย่างไร
สำหรับกรณีที่มีเอกชนไทยเริ่มทยอยระดมทุนด้วย Cryptocurrency ผ่านการทำ Initial Coin Offering (ICO) แล้วนั้น ขณะนี้ ก.ล.ต.ได้เข้าไปดูแลโดยตรงอยู่แล้ว ไม่ได้นิ่งนอนใจ ซึ่ง ก.ล.ต.อยู่ระหว่างการออกหลักเกณฑ์มากำกับดูแล คงไม่ใช่วัวหายแล้วล้อมคอก
“การระดมทุนอย่างนี้ต้องไปดูว่าสิ่งที่เขาทำ ทำขึ้นอยู่ในประเทศไทย หรือต่างประเทศ ซึ่งหากทำในต่างประเทศ ก็ไม่ได้อยู่ภายใต้กฎหมายไทยที่จะไปควบคุมได้ โดยจากที่ได้ทราบมาบริษัทเหล่านั้นเป็นการไปลงทุนในอนุพันธ์ต่างประเทศ แต่อย่างไรก็ตามทางก.ล.ต.ก็คงไม่ได้นิ่งนอนใจ เพราะตัวเขาเองก็มีหน้าที่ในการกำกับดูแลก็คงให้ความสำคัญพอสมควร”นายพรชัย กล่าว
ขณะที่ทางกระทรวงการคลังก็อยู่ระหว่างการตรวจสอบข้อมูลว่าการดำเนินการในลักษณะนี้ การทำธุรกรรมจริงหรือไม่ หากทำธุรกรรมไม่จริงและมีการใช้ข้อมูลเพื่อสื่อสารให้คนเชื่อได้ว่าให้ผลตอบแทนสูงและมีการโฆษณาชวนเชื่อมากกว่า 10 คนขึ้นไป อาจจะเข้าข่ายในเรื่องของการกระทำผิดในรูปแบบของแชร์ลูกโซ่
นายพรชัย กล่าวว่า Cryptocurrency ยังไม่ได้รับการรับรองให้เป็นเงินที่สามารถชำระหนี้ได้ตามกฎหมายไทย ส่วนในเรื่องอื่น เป็นเรื่องของการใช้ข้อมูล ซึ่งเงินสกุลดิจิทัลป็นการใช้โปรแกรมพัฒนาข้อมูล นำข้อมูลในคอมพิวเตอร์ออกมและออกมาเป็นตัว Cryptocurrency ที่อยู่ในวงจำกัด แต่หากมีการเชื่อมโยง หรือสามารถดำเนินการถูกต้องตามสิ่งที่ได้รับ หรือมีการซื้อขายกันจริง ก็คงจะไม่มีปัญหา เพียงแต่ว่าอาจจะมีความเสี่ยงที่เกิดจากตัวเงินสกุลดิจิตอลที่มีความผันผวนและไม่มีมูลค่าที่แท้จริงในตัวเอง ทำให้ผู้ลงทุนจะต้องรับความเสี่ยง อีกทั้งหากไม่มีการทำธุรกรรมนั้นจริงแต่เป็นการหลอกลวง ก็ถือว่าทำผิดกฎหมายการกู้ยืมเงินและการฉ้อโกงประชาชน
ส่วนความสับสนของประชาชนต่อการลงทุนในธุรกรรมเกี่ยวข้องกับสกุลเงินดิจิตอลนั้น เราจะสามารถตรวจสอบได้หรือไม่ ว่ามีการทำธุรกรรมจริงหรือไม่จริง หรือเข้าข่ายหลอกลวง ทางหน่วยงานที่เกี่ยวข้องก็พยายามทำการสื่อสารและทำความเข้าใจ หากผู้ลงทุนไม่แน่ใจก็อย่าเพิ่งเข้าไปลงทุน ซึ่งในช่วงที่ผ่านมาก็ได้มีการรวมตัวของผู้ที่ถูกหลอกหลายร้อยคน และได้ไปแจ้งความไว้ที่กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) ที่กำลังรวบรวมและดำเนินคดีกับผู้ที่เกี่ยวข้อง ซึ่งเป็นตัวอย่างที่เริ่มตระหนักแล้วว่ามีของไม่จริงเกิดขึ้น ก็ควรจะต้องให้ความสำคัญในส่วนนี้ด้วย
อย่างไรก็ตาม ประเด็นที่เกี่ยวข้องกับเรื่องดังกล่าวจะต้องแยกเป็น 2 ส่วน คือ การลงทุนจะต้องมีระบบรองรับในโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ ซึ่งแยกย่อยออกเป็นระบบการสื่อสาร การนำส่งข้อมูล หรือที่เรียกว่าบล็อกเชน ซึ่งเป็นเทคโนโลยีที่ได้รับการยอมรับทั่วโลก และสามารถช่วยในการชำระ หรือการทำธุรกรรมต่างๆที่เกี่ยวข้องกับการแลกเปลี่ยนได้ดี ขณะที่อีกส่วนหนึ่ง คือ เงินสกุลดิจิตอล ไม่มีมูลค่าที่แท้จริงที่สามารถประเมินได้
โดยในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา ที่ประชุมประจำปีของ “World Economic Forum”ก็ได้มีการสนทนาและหารือเกี่ยวกับสกุบเงินดิจิตอล ซึ่งทุกฝ่ายไม่ได้มีการปฎิเสธบล็อกเชน เพราะเป็นสิ่งที่มีศักยภาพสามารถนำไปประยุกต์ใช้ในภาคอุตสาหกรรมต่างๆ ได้ แต่ตัว Cryptocurrency ยังไม่ได้รับการตอบรับที่ดีมากนัก
อย่างไรก็ตามก็มีทางผู้ว่าการธนาคารกลางบางประเทศระบุว่า Cryptocurrency อาจจะเป็นเครื่องมือในการเก็งกำไรในการพนัน เพราะอาจจะไม่มีผลต่อเศรษฐกิจในระยะยาว แต่ตัวบล็อกเชน เป็นสิ่งที่น่าสนใจและน่าจะให้ความสำคัญ
สำหรับประเทศไทยเอง ในส่วนนี้ทางคณะทำงานก็กำลังพิจารณาว่าในเรื่องต่างๆ ทั้งเรื่องของการวางระบบ ตัวเงินสกุลดิจิตอล ก็ยังต้องมีการศึกษาทั้งสองส่วน และไปดูว่าในโครงสร้างต่างๆที่ประเทศอื่นๆ หรือบางกลุ่มประเทศที่มีการยอมรับ เช่น เกาหลีใต้ ที่มีการยอมรับในเรื่องของระบบแลกเปลี่ยนในสกุลเงินดิจิตอล เพียงแต่ว่าผู้ที่จะเข้ามาเทรดในตลาดหุ้นต้องผูกบัญชีกับตลาดหุ้นเท่านั้น และห้ามให้ผู้ที่มีอายุต่ำกว่า 18 ปีและเป็นชาวต่างชาติ โดยบังคับให้ธนาคารผู้ให้บริการมีหน้าที่ตรวจสอบด้วย