17 มกราคม 2561 : นางสาวกุลยา ตันติเตมิท ผู้ตรวจราชการกระทรวงการคลัง ในฐานะโฆษกกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า คณะรัฐมนตรีได้มีมติเมื่อวันที่ 16 มกราคม 2561 เห็นชอบ มาตรการภาษีเพื่อส่งเสริมการจัดตั้งศูนย์รับเลี้ยงเด็ก เพื่อเป็นสวัสดิการของลูกจ้างสำหรับสถานประกอบการของบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล โดยมีสาระสำคัญสรุปได้ ดังนี้
1. กระทรวงการคลังได้หารือร่วมกับกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์และกระทรวงแรงงานในการพิจารณาทบทวนหลักเกณฑ์การจัดตั้งศูนย์รับเลี้ยงเด็กตามกฎหมายว่าด้วยการคุ้มครองเด็ก เพื่อกำหนดหลักเกณฑ์การจัดตั้งศูนย์รับเลี้ยงเด็กในสถานประกอบกิจการให้มีความแตกต่างจากหลักเกณฑ์สำหรับศูนย์เลี้ยงเด็กทั่วไป (Stand-alone)
โดยคณะกรรมการคุ้มครองเด็กแห่งชาติได้ออกระเบียบคณะกรรมการคุ้มครองเด็กแห่งชาติว่าด้วยการจัดให้มีศูนย์รับเลี้ยงเด็กในสถานประกอบกิจการ พ.ศ. 2560 ซึ่งมีความเหมาะสมกับบริบทของศูนย์รับเลี้ยงเด็กในสถานประกอบการเป็นการเฉพาะ
2. คณะรัฐมนตรีได้มีมติเมื่อวันที่ 16 มกราคม 2561 เห็นชอบมาตรการภาษีเพื่อส่งเสริมการจัดตั้งศูนย์รับเลี้ยงเด็กเพื่อเป็นสวัสดิการของลูกจ้างสำหรับสถานประกอบการของบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล ซึ่งกำหนดให้บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลสามารถนำค่าใช้จ่ายในการจัดตั้งศูนย์รับเลี้ยงเด็กในสถานประกอบการมาหักเป็นรายจ่ายได้ตามที่จ่ายจริงและสามารถหักได้เพิ่มขึ้นอีก 1 เท่าตามที่จ่ายจริง (หักค่าใช้จ่ายได้ 2 เท่า) แต่ไม่เกิน 1 ล้านบาท โดยมีเงื่อนไข ดังนี้
(1) นายจ้างหรือผู้ได้รับมอบหมายจากนายจ้างต้องได้รับใบประกาศการจัดให้มีศูนย์รับเลี้ยงเด็ก จากกรมกิจการเด็กและเยาวชน หรือสำนักงานพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จังหวัด
(2) ค่าใช้จ่ายที่นำมาหักเป็นรายจ่ายได้จะต้องมีลักษณะและคุณสมบัติถูกต้องครบถ้วน ตามกฎกระทรวงกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการขอรับใบอนุญาตจัดตั้งสถานรับเลี้ยงเด็ก พ.ศ. 2549 หรือระเบียบคณะกรรมการคุ้มครองเด็กแห่งชาติ ว่าด้วยการจัดให้มีศูนย์รับเลี้ยงเด็กในสถานประกอบกิจการ พ.ศ. 2560
(3) การให้สิทธิประโยชน์ทางภาษีข้างต้น มีผลบังคับสำหรับค่าใช้จ่ายที่ได้จ่ายในรอบระยะเวลาบัญชีที่เริ่มในหรือหลังวันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2561 ถึงวันที่ 31 ธันวาคม พ.ศ. 2563
นางสาวกุลยา กล่าวต่อไปว่า มาตรการข้างต้น เป็นการจูงใจให้ผู้ประกอบการมีการจัดตั้งศูนย์รับเลี้ยงเด็กในสถานประกอบการเพื่อเป็นสวัสดิการขั้นพื้นฐานให้แก่ลูกจ้าง อันจะเป็นการเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงานของลูกจ้าง ซึ่งเป็นการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต และสนับสนุนการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศต่อไป