7 มกราคม 2561 : นายอภิรมย์ สุขประเสริฐ ผู้จัดการธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) เผยแผนยุทธศาสตร์ปี 61 โดยผ่านพันธกิจ 4 เป้าหมาย คือ 1. เพิ่มขีดความสามารถภาคการเกษตร 2.ปลุกพลัง SMART FARMER ขับเคลื่อนการผลิตตลอดห่วงโซ่มูลค่าสินค้าเกษตร 3.อัปเกรดสู่ผู้ประกอบการ SMAEs เน้นสร้างภูมิคุ้มกัน แก้ปัญหาความยากจนของเกษตรกรอย่างถาวร และ 4. ผนึกพลังชุมชน – เชื่อมโยงประชารัฐ บูรณาการพัฒนาเศรษฐกิจฐานรากเข้มแข็งอย่างยั่งยืน มุ่งสู่เป้าหมาย “ศูนย์กลางทางการเงินภาคการเกษตรและภาคชนบท”
ธ.ก.ส.ได้กำหนดยุทธศาสตร์และแผนการดำเนินงาน ปีบัญชี 2561 (1เมษายน 2561 – 31 มีนาคม 2562) เพื่อมุ่งสู่เป้าหมาย การเป็น ศูนย์กลางทางการเงินภาคการเกษตรและภาคชนบท (Rural Universal Bank) โดยกำหนดแนวทางไว้ 5 ยุทธศาสตร์ ดังนี้
ยุทธศาสตร์ที่ 1 เพิ่มขีดความสามารถภาคเกษตรไทย แผนงานเพิ่มประสิทธิภาพภาคการผลิต ตามนโนบายภาคการเกษตร และยกระดับสหกรณ์ วิสาหกิจชุมชน กลุ่มเกษตร ผู้ประกอบการและองค์กรธุรกิจชุมชนเป็นหัวขบวนในการขับเคลื่อนตลอดห่วงโซ่มูลค่าสินค้าเกษตร แผนงานพัฒนาและสนับสนุนกลุ่มเกษตรกรรุ่นใหม่ให้เป็น ผู้ประกอบการธุรกิจเกษตร
และสร้างเครือข่ายวิสาหกิจชุมชน โครงการพัฒนาทายาทเกษตรกร (Smart Farmer) และโครงการพัฒนาสหกรณ์การเกษตรให้มีศักยภาพและการบริการจัดการที่ดี และปรับโครงสร้างการผลิต ส่งเสริมเกษตรแปลงใหญ่ แผนงานพัฒนาและยกระดับเกษตรกรผู้มีรายได้น้อยให้หลุดพ้นความยากจน ด้วยการแก้ไขปัญหาหนี้สิน ส่งเสริมพัฒนา อาชีพและแผนงานสร้างระบบภูมิคุ้มกันให้เกษตรกร
ยุทธศาสตร์ที่ 2 เพิ่มพัฒนาบริการทางการเงินครบวงจรและทันสมัย ประกอบด้วย แผนงานพัฒนาและบริหาร ช่องทางอย่างมีประสิทธิภาพ พัฒนาและขยายขอบเขตการบริการผ่านช่องทางดิจิทัล ให้ก้าวทันต่อการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยี (Disruptive Technology) โครงการพัฒนาความร่วมมือกับพันธมิตรให้เป็นเครือข่ายทางการเงิน แผนงานพัฒนาผลิตภัณฑ์ และบริการ ให้ครอบคลุมความต้องการลูกค้าแต่ละกลุ่มตลอดห่วงโซ่และโครงการพัฒนาระบบการบริหารความสัมพันธ์กับลูกค้า เพื่อต่อยอดการเติบโตทางธุรกิจอย่างต่อเนื่องและยั่งยืน
ยุทธศาสตร์ที่ 3 บริหารเงินทุนให้สมดุลเพื่อความมั่นคงและยั่งยืน ประกอบด้วย แผนงานพัฒนาผลิตภัณฑ์บริการ เพื่อเพิ่มสัดส่วนเงินฝากต้นทุนต่ำ แผนงานบริหารส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยสุทธิและพัฒนาระบบ Fund Transfer Pricing แผนงานพัฒนาเครื่องมือการบริหารความเสี่ยงตามมาตรฐานของธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) และแผนงานดูแลเงินกองทุนให้เพียงพอต่อการดำเนินงานเพื่อให้เกิดความยั่งยืน
ยุทธศาสตร์ที่ 4 เพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันองค์กรอย่างมีธรรมาภิบาล ประกอบด้วย แผนงานการใช้ Big Data เพื่อบริหารข้อมูลตลอดห่วงโซ่ในหลากหลายมิติ แผนงานส่งเสริมนวัตกรรมและวิจัยสู่การปฏิบัติอย่างต่อเนื่องทั้งองค์กร และลูกค้า/ชุมชน แผนงานประเมินความสำเร็จด้านผลกระทบทางเศรษฐกิจ สังคมและสิ่งแวดล้อมในการเป็นกลไกขับเคลื่อนนโยบายของรัฐและโครงการส่งเสริมประสิทธิภาพเชิงนิเวศเศรษฐกิจ แผนงานยกระดับศักยภาพบุคลากรให้มีความเป็นเลิศและเชี่ยวชาญตรงสายงาน แผนงานพัฒนากระบวนการให้เป็นมาตรฐานเพื่อการบริการที่เป็นเลิศและแผนงานส่งเสริมธรรมาภิบาลและคุณธรรมภายในองค์กรตามมาตรฐานสากล
9
ยุทธศาสตร์ที่ 5 พัฒนาศักยภาพชุมชนแบบบูรณาการเพื่อความยั่งยืนของเศรษฐกิจฐานรากสังคมและสิ่งแวดล้อม ที่ให้ความสำคัญกับ แผนงานเสริมสร้างความยั่งยืนเชิงนิเวศเศรษฐกิจ แผนงานการเชื่อมโยงตลาดผลิตภัณฑ์การเกษตรและแผนงานให้ความรู้คู่การพัฒนาชุมชนเพื่อสร้างเสริมชุมชนเข้มแข็ง และยกระดับสู่ชุมชนอุดมสุข
ยกตัวอย่าง มูลนิธิดอยช้าง มีเงินหมุนเวีียน 15 ล้านบาท/ปี นำไปพัฒนาต่อยอดและปลูกป่าเพิ่ิมเติม ส่งผลให้มีการผลิตกาแฟได้ปีละไม่ต่ำกว่า 3,000 ล้านบาท โดยธ.ก.ส.ช่วยอุดหนุนด้านสินเชื่อ 700 ล้านบาท รวมถึงรัฐวิสาหกิจอื่นๆ อีกกว่า 30 กลุ่ม
อีกทั้งยังส่งเสริมตลาดประชารัฐสีเขียวในปี 2561 เพิ่มอีก 131 แห่ง เช่นกรณี บ้านสันป่าเหียง จ.เชียงราย ตลาดนัดพุทธเกษตรอินทรีย์ เฉลิมพระเกียรติรัชการที่ 9 ต้องมีการต่อยอดสร้างผลิตภัณฑ์ SME เพื่อมุ่งเน้นแก้ไขเกษตรกรผู้มีรายได้น้อย สร้างเศรษฐกิจอุดมสุข และยังเป็นการลดต้นทุนนำไปสู่การใช้ A-Mobile ซึ่ง 7,927 ชุมชนทั่วประเทศ ใช้เป็นศูนย์กลางในการขยายธุรกิจท่องเที่ยว
นายอภิรมย์ กล่าวว่า ในปีบัญชี 2561 ธ.ก.ส. ได้ประมาณการผลดำเนินงานและอัตราส่วนทางการเงินที่สำคัญดังนี้ มีสินทรัพย์รวมที่ 1.74 ล้านล้านบาท เชื่อจำนวน 1.46 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้น 93,000 ล้านบาท เงินฝากอยู่ที่ 1.51 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้น 57,500 ล้านบาท รายได้ค่าธรรมเนียมและบริการ 4,800 ล้านบาท อัตราส่วนหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPLs) ไม่เกิน 4.00% คุณภาพชีวิตเกษตรกรดีขึ้น 85% กำไรสุทธิ 8,099 ล้านบาท อัตราผลตอบแทนต่อสินทรัพย์ 0.47% และเงินกองทุนต่อสินทรัพย์เสี่ยง BIS Ratio อยู่ที่ระดับ 11.22%
“ธ.ก.ส. กำหนดวิสัยทัศน์ พันธกิจและกรอบความยั่งยืน ที่มุ่งเน้นการดูแลลูกค้า ชุมชนและองค์กรเพื่อให้สอดคล้อง กับทิศทางการพัฒนาประเทศและเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน(SDGs) สอดรับกับวิสัยทัศน์ พันธกิจและกรอบความยั่งยืนใหม่ โดยยึดถือแนวทาง 4 เป้าประสงค์ 5 ยุทธศาสตร์ ค่านิยมและความสามารถพิเศษองค์กร ขยายการลงทุนด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงานและขีดความสามารถในการแข่งขันของธนาคาร ภายใต้กรอบนโยบายการขับเคลื่อนองค์กรให้บรรลุผลสำเร็จตามยุทธศาสตร์ที่ได้กำหนดไว้” นายอภิรมย์กล่าว
สำหรับผลการดำเนินงาน 9 เดือน ของปีบัญชี 2560 (1 เมษายน – 31 ธันวาคม 2560)ว่า สามารถสนับสนุนสินเชื่อเข้าสู่ระบบ เพื่อสนับสนุนภาคการเกษตร ผ่านผู้ประกอบการและเกษตรกรรายย่อยได้ จำนวน 438,000 ล้านบาท ส่งผลให้ยอดสินเชื่อคงเหลือเพิ่มเป็น 1,317,339 ล้านบาท หรือขยายตัวสูงกว่าต้นปีบัญชี 3.16% โดยธนาคารมีสินทรัพย์รวม อยู่ที่ 1,693,208 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากต้นปีบัญชี 4.7% ยอดเงินฝากรวม 1,426,277 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากต้นปี บัญชี 1.4% มีรายได้รวม 68,980 ล้านบาท ค่าใช้จ่ายรวม 61,140 ล้านบาท และมีกำไรสุทธิ 7,840 ล้านบาท
ส่วนคุณภาพสินทรัพย์ธนาคารมีหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPLs) 5.54% ของสินเชื่อรวม ซึ่งมีแนวโน้มลดต่ำลง
คาดว่าสิ้นปีบัญชี (31 มีนาคม 2561) NPLs จะต่ำกว่า 4% ของสินเชื่อรวม ด้านสถานะเงินกองทุนต่อสินทรัพย์เสี่ยง (BIS Ratio) อยู่ที่ระดับ 12.18% ซึ่งสูงกว่าเกณฑ์มาตรฐานที่ธนาคารแห่งประเทศไทยกำหนดที่ 8.50%
ด้านนโยบายรัฐบาลที่มอบหมายให้ ธ.ก.ส.ดำเนินการเพื่อช่วยเหลือเกษตรกรและกระตุ้นเศรษฐกิจฐานราก มีนโยบายที่สำคัญ เช่น 1. มาตรการช่วยเหลือเกษตรกรผู้ปลูกข้าว ซึ่งมีทั้งโครงการที่ช่วยแบ่งเบาภาระหนี้สิน การลดภาระค่าใช้จ่าย การปรับปรุงประสิทธิภาพการผลิต การสร้างมูลค่าเพิ่มผลผลิต การคุ้มครองความเสียหายจากภัยธรรมชาติ รวมถึงการจ่ายเงินช่วยเหลือค่าเก็บเกี่ยวและปรับปรุงคุณภาพข้าวให้เกษตรกรรายย่อยผู้ปลูกข้าวปีการผลิต 2560/61 ที่ได้จ่ายเงินเข้าบัญชีเกษตรกรไปแล้วจำนวน 3.6 ล้านราย จำนวนเงิน 34,000 ล้านบาท
2. มาตรการส่งเสริมปรับเปลี่ยนการผลิต เพื่อส่งเสริมให้เกษตรกรปรับเปลี่ยนการประกอบอาชีพและลดพื้นที่การทำนาไม่เหมาะสม โดยส่งเสริมการเลี้ยง กระบือ โคเนื้อ แพะ พืชอาหารสัตว์ มีเกษตรกรได้รับการสนับสนุนสินเชื่อกว่า 45,700 ราย เป็นเงินประมาณ 3,000 ล้านบาท
3. มาตรการพัฒนายางพาราทั้งระบบ เพื่อสนับสนุนสถาบันเกษตรกรในการรับซื้อและรวบรวมยางพารามาแปรรูปสร้างมูลค่าเพิ่ม และเชื่อมโยงธุรกิจตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ ปลายน้ำ มีสถาบันเกษตรกรได้รับการสนับสนุน 554 แห่ง วงเงินสินเชื่อกว่า 7,900 ล้านบาท
4. มาตรการช่วยเหลือเกษตรกรผู้ปลูกมันสำปะหลัง เพื่อบรรเทาภาระหนี้สิน ลดต้นทุนการผลิต เพิ่มประสิทธิภาพและยกระดับมาตรฐานการผลิต เป็นต้น มีเกษตรกรได้รับการช่วยเหลือและสนับสนุนสินเชื่อกว่า 201,700 ราย สถาบันเกษตรกร 221 แห่ง จำนวนเงิน 26,000 ล้านบาท
นายอภิรมย์กล่าวอีกว่า จากการที่รัฐบาลมีนโยบายที่จะช่วยเหลือเกษตรกรผู้มีรายได้น้อย รวมถึงการจัดการปัญหาหนี้นอกระบบ เพื่อแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำและความยากจนของประชาชนในประเทศ ธ.ก.ส. ในฐานะหน่วยงานของรัฐ พร้อมที่จะเป็นกลไกในการแก้ปัญหาดังกล่าว
โดยเบื้องต้นคณะกรรมการ ธ.ก.ส. เห็นชอบให้นำเสนอโครงการที่จะเข้าไปสนับสนุนนโยบายดังกล่าวแบบครบวงจร คือทั้งในส่วนของมาตรการในการพัฒนาตนเองของผู้มีรายได้น้อยในเรื่องความรู้และการบริหารจัดการทางการเงิน มาตรการในการพัฒนาอาชีพเสริมเพิ่มรายได้ และมาตรการในการลดภาระหนี้สินทั้งในระบบและนอกระบบ โดยคาดว่าจะใช้วงเงินสินเชื่อเพื่อสนับสนุนนโยบายช่วยเหลือผู้มีรายได้น้อยและการแก้ไขหนี้นอกระบบครั้งนี้ประมาณ 95,000 ล้านบาท