5 มกราคม 261 : ศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยว่า ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคในเดือน ธ.ค.60 อยู่ที่ 79.2 จาก 78.0 ในเดือน พ.ย.60 โดยเป็นการปรับตัวดีขึ้นต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 5 และเป็นระดับสูงสุดในรอบ 35 เดือน
ขณะที่ดัชนีความเชื่อมั่นต่อเศรษฐกิจโดยรวมอยู่ที่ 66.2 จาก 65.2 ในเดือน พ.ย.60 ส่วนดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับโอกาสการหางานทำอยู่ที่ 74.0 จาก 72.7 และดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับรายได้ในอนาคตอยู่ที่ 97.5 จาก 96.1
สำหรับ ปัจจัยบวก ได้แก่ คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) มีมติให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ระดับ 1.50% ต่อปี, กนง.ปรับเพิ่มคาดการณ์อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจของไทยปี 60 จากขยายตัว 3.8% เป็น 3.9%, ยอดส่งออกเดือน พ.ย.60 ขยายตัว 13.36%, ราคาขายปลีกน้ำมันในประเทศปรับตัวลดลง, เงินบาทแข็งค่าขึ้นเล็กน้อย และรัฐบาลออกมาตรการภาษีเพื่อกระตุ้นการบริโภค (ช็อปช่วยชาติ)
ส่วน ปัจจัยลบ ได้แก่ ราคาพืชผลทางการเกษตรยังทรงตัวอยู่ในระดับต่ำ, ผู้บริโภคยังกังวลปัญหาค่าครองชีพ และความกังวลสถานการณ์การเมืองระหว่างประเทศ
ดร.ธนวรรธน์ พลวิชัย ผู้อำนวยการ ศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ กล่าวว่า ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคโดยรวมในเดือน ธ.ค.60 ที่ปรับตัวดีขึ้นต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 5 จะส่งผลให้ผู้บริโภคเริ่มกลับมามีความมั่นใจในการบริโภคสินค้าและบริการมากขึ้นในช่วงครึ่งแรกของปีนี้ ซึ่งน่าจะมีส่วนสำคัญที่ทำให้เศรษฐกิจไทยฟื้นตัวได้อย่างเด่นชัดขึ้น ตั้งแต่ปลายไตรมาสที่ 2 ของปี 61 และเป็นปัจจัยที่ช่วยเกื้อหนุนให้เศรษฐกิจไทยขยายตัวได้ในระดับ 4.2-4.5%
อย่างไรก็ดี ความเชื่อมั่นผู้บริโภคในเดือน ธ.ค.ที่ปรับเพิ่มขึ้นนั้น ในภาพรวมแล้วยังเป็นความเชื่อมั่นที่มาจากคนชั้นกลางเป็นส่วนใหญ่ที่รู้สึกว่าเศรษฐกิจปรับตัวดีขึ้น ขณะที่คนฐานรากยังมีกำลังซื้อที่ไม่โดดเด่นนัก เพราะยังมีปัญหาเรื่องค่าครองชีพ และเผชิญกับราคาสินค้าเกษตรที่ยังทรงตัวอยู่ในระดับต่ำ ทั้งข้าว และยางพารา ซึ่งเป็นเกษตรกรส่วนใหญ่ของประเทศทั้งในภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคใต้