15 ธันวาคม 2560 : นายอภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เปิดเผยในงาน”Thailand Smart Money”ว่า กระทรวงการคลังมีแนวคิดผลักดันภาคการเงินอย่างธนาคารที่ถือเป็นโครงสร้างพื้นฐานของประเทศให้ไปสู่ระดับสากลมากขึ้น โดยจะกระตุ้นให้ธนาคารในไทยมีขนาดใหญ่หรือมีการควบรวมกิจการ เพื่อเพิ่มความสามารถการแข่งขัน เพราะมองว่ามีจะทำให้เกิดประโยชน์ต่อประเทศ แต่อาจต้องมีค่าใช้จ่ายและต้นทุนสูง ดังนั้น จึงอาจต้องมีการสร้างแรงจูงใจด้วยการรลดค่าใช้จ่ายและลดภาษี ซึ่งจะออกเป็นมาตรการต่อไป
“ธนาคารในไทยปัจจุบันมุ่งเน้นหาลูกค้าในประเทศเพียงอย่างเดียว ต่างจากสิงค์โปร์และมาเลเซียที่ภาครัฐมีนโยบายให้ธนาคารมีหน้าที่หารายได้จากต่างชาติด้วย แต่อย่างไรก็ตามสถาบันการเงินในประเทศ ยังมีจุดอ่อนในเรื่องขนาดที่เล็กซึ่งกระทรวงการคลังมีแนวคิดเพื่อกระตุ้นให้ธนาคารในไทยมีขนาดใหญ่ขึ้นหรือมีการควบรวมกิจการ เพื่อให้มีความสามารถเพียงพอต่อการแข่งขันในระดับสากลได้”
นอกจากนี้ ปัจจุบันภาคการเงินมีการเปลี่ยนแปลงเพื่อสอดรับยุคที่เทคโนโลยีเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว โดยปัจจุบันมีธุรกรรมต่าง ๆ เกิดขึ้นมากมายเพื่อรองรับความต้องการของผู้ใช้งาน ซึ่งมองว่า Blockchain ควรสามารถปรับใช้ในเทคโนโลยีในธุรกิจอื่น ๆ ได้ด้วยไม่เพียงแต่รองรับการซื้อขายสกุลเงินบิทคอยน์ (Crypto currency) เช่น อาจนำมาปรับใช้เพื่อระบุตัวตนในระบบพร้อมเพย์ และสำหรับเป็นฐานข้อมูล หากทำได้สำเร็จอาจนำระบบดังกล่าวนำไปใช้ในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยด้วย ทำให้คาดว่าอาจมีความเป็นไปได้ที่การซื้อขายหุ้นในอนาคตอาจไม่มีตัวกลางหรือโบรกเกอร์
นายอภิศักดิ์ กล่าวถึง”บิทคอยน์”ว่า เป็นประเด็นที่ทั่วโลกยังให้ความสนใจ โดยเป็นสินค้าซึ่งราคามีความผันผวนอยู่ตลอดเวลา บางช่วงเวลามีความผันผวนกว่า 10% แต่บางประเทศเริ่มให้ทดลองโดยเชื่อมต่อกับธนาคารกลางแล้ว ขณะเดียวกันธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) อยู่ระหว่างศึกษาด้านประโยชน์และผลกระทบอยู่ แต่ยังไม่มีระบบรองรับ
ขณะที่ปัจจุบันมีนักลงทุนไทยบางกลุ่มที่มีเงินทุนค่อนข้างมาก เข้าลงทุนบิทคอยน์ในต่างประเทศ ซึ่งมองว่าไม่เป็นปัญหา แต่ทั้งนี้สำหรับนักลงทุนทั่วไปไม่แนะนำให้ลงทุนในสิ่งที่ยังไม่เข้าใจ และนักลงทุนควรเลือกทางเลือกการลงทุนที่ปลอดภัยด้วย
สำหรับความคืบหน้ามาตรการลดหย่อนภาษีเพื่อการท่องเที่ยวในเมืองรองนั้น นายอภิศักดิ์ กล่าวว่า มีการเลือกจังหวัดที่เป็นเมืองรองจากการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) เพื่อให้สิทธิการลดหย่อนภาษีได้ 15,000 บาท/ปี ครอบคลุมค่าที่พักและค่าเดินทาง ซึ่งจะนำเสนอให้ ครม.พิจารณาต่อไป เพื่อลดความเหลื่อมล้ำและส่งเสริมรายได้ด้านการท่องเที่ยวแก่จังหวัดที่ยังมีโอกาสน้อย แต่คาดว่าคงไม่ทันภายในปีนี้