กรุงเทพฯ 15 ธันวาคม 2560 : หอสมุดแห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จัดพิธีรับมอบใบรับรองระบบบริหารคุณภาพ ISO 9001:2015 จากบริษัท เอสจีเอส (ประเทศไทย) จำกัด พร้อมทั้งเผยพฤติกรรมผู้ใช้ห้องสมุดเปลี่ยนแปลงไปตามการพัฒนาของเทคโนโลยี จึงกำหนดวิสัยทัศน์การพัฒนาโดยนำเทคโนโลยีมาปรับใช้เพื่อสนับสนุนการให้บริการและการเรียนรู้ทุกที่ทุกเวลา หรือ “Ubiquitous Learning”
ผู้ช่วยศาสตราจารย์เอกรินทร์ ยลระบิล ผู้อำนวยการหอสมุดแห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า ทางหอสมุดฯ ได้วางแนวทางในการจัดการระบบบริหารคุณภาพตามข้อกำหนด ISO 9001:2015 ในทุกกระบวนการที่เกี่ยวข้องกับการให้บริการ เพื่อพัฒนาความสามารถในการจัดหาทรัพยากรสารสนเทศ ให้บริการตามความต้องการของผู้ใช้บริการ และมุ่งสร้างความพึงพอใจแก่ผู้ใช้บริการ รวมถึงมีการปรับปรุงระบบอย่างต่อเนื่องเพื่อให้สอดคล้องกับข้อกำหนดของระบบบริหารคุณภาพและกฎระเบียบของส่วนราชการ
โดยเริ่มดำเนินการตั้งแต่เดือนกันยายน 2559 และผ่านการรับรองในเดือนพฤศจิกายน 2560 ซึ่งปัจจัยสำคัญของความสำเร็จคือบุคลากรที่มีศักยภาพในการพัฒนา เข้าใจงานทุกส่วนของหอสมุดอย่างแท้จริง มีความมุ่งมั่นตั้งใจและร่วมมือกันพัฒนาระบบการทำงานและคุณภาพของห้องสมุดอย่างจริงจัง จนสามารถบรรลุตามแผนที่วางไว้ในเวลาไม่นาน
หอสมุดแห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ได้ศึกษาพฤติกรรมผู้ใช้บริการ พบว่าผู้ใช้บริการมี 3 กลุ่มหลัก คือ กลุ่มนักศึกษาปริญญาตรี กลุ่มนักศึกษาปริญญาโทและนักวิจัย และกลุ่มอาจารย์และบุคลากร โดยพฤติกรรมการใช้บริการแบ่งออกได้เป็น 3 กลุ่ม กลุ่มแรกคือกลุ่มที่มาห้องสมุดเพื่อใช้สถานที่ทำงานหรือกิจกรรมส่วนตัวแต่ไม่ได้ใช้ทรัพยากรข้อมูลในห้องสมุด กลุ่มที่สองมีการผสมผสานกันระหว่างการใช้ทรัพยากรกับการใช้พื้นที่ห้องสมุด และกลุ่มที่สามเป็นกลุ่มที่ไม่ได้เข้าห้องสมุดแต่ใช้ทรัพยากรของห้องสมุดผ่านฐานข้อมูลออนไลน์ที่เข้าถึงได้ด้วยอุปกรณ์สื่อสารต่างๆ
ผศ. เอกรินทร์ กล่าวเพิ่มเติมว่า “ความท้าทายที่สำคัญคือเทคโนโลยีที่เปลี่ยนแปลงเร็วมาก ห้องสมุดจึงต้องปรับเปลี่ยนกระบวนการทำงานอยู่เสมอ รวมถึงต้องบริหารจัดการและใช้ประโยชน์จากการพัฒนาทางเทคโนโลยีอย่างมีประสิทธิภาพ ภายใต้เงื่อนไขและข้อจำกัดต่างๆ
“ดังนั้น การพัฒนาห้องสมุดจึงเป็นการปรับปรุงการให้บริการให้มีคุณภาพ สามารถตอบสนองความต้องการที่หลากหลาย เพื่อให้ห้องสมุดสามารถสนับสนุนการเรียนรู้ การวิจัยและทำงานต่างๆ ของผู้ใช้บริการทุกกลุ่ม ในขณะเดียวกันต้องนำเทคโนโลยีมาช่วยในการให้บริการอย่างมีประสิทธิภาพ และทำให้ห้องสมุดเป็นระบบดิจิทัลมากที่สุดเพื่อรองรับการใช้บริการแบบทุกที่ทุกเวลา ด้วยทุกอุปกรณ์สื่อสาร เพื่ออำนวยความสะดวกให้ผู้ใช้บริการสามารถศึกษาหาความรู้และใช้บริการต่างๆ ของห้องสมุดได้ทุกที่ ทุกเวลา หรือที่เรียกว่าเป็น Ubiquitous Learning นอกจากนี้ภายในห้องสมุดอาจจะต้องมีการจัดโซนนิ่งใหม่ให้มีพื้นที่สำหรับการสนทนาแลกเปลี่ยนเรียนรู้มากขึ้น”