14 ธันวาคม 2560 : นายวิวัฒน์ ศัลยกำธร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ มอบนโยบายให้แก่ผู้บริหารกรมฝนหลวงและการบินเกษตร ว่า กรมฝนหลวงและการบินเกษตรเป็นหน่วยงานที่มีความสำคัญในการบรรเทาปัญหาวิกฤตภัยแล้ง และสภาพอากาศแปรปรวน ซึ่งจะยกระดับศักยภาพงานในพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลที่ 9 โดยเฉพาะโครงการฝนหลวง ที่ทรงทุ่มเทพระวรกายในการศึกษาด้านฝนหลวงด้วยพระองค์เอง จนขณะนี้การทำฝนหลวงได้มีการพัฒนาก้าวหน้าไปมาก โดยสามารถใช้ต้นทุนในการทำฝนหลวงเพียง 12 บาทต่อไร่ ส่วนปริมาณน้ำฝนที่ได้รับขึ้นอยู่กับสภาพภูมิอากาศในขณะนั้น
อย่างไรก็ตาม เมื่อได้ประชุมร่วมกับหน่วยงานแล้วทำให้ได้รับทราบถึงปัญหา จึงได้มอบนโยบายและจะให้การสนับสนุนในด้านต่างๆ ดังนี้ 1.ด้านกรอบอัตรากำลังคน ซึ่งเป็นสิ่งแรกที่ต้องให้ความสำคัญ โดยจะขอเพิ่มอัตรากำลังและความก้าวหน้าของบุคลากร ซึ่งต้องเจรจากับสำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน (กพ.) และสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาระบบบริหารราชการ (กพร.) เพื่อให้สอดคล้องเหมาะสมกับความต้องการของหน่วยงาน
2.เพิ่มประสิทธิภาพกำหนดเป้าหมายในการปฏิบัติการฝนหลวง เนื่องจากปัญหาภัยแล้งจำเป็นต้องมีการเตรียมการวางแผนล่วงหน้าเพื่อรองรับฝนทิ้งช่วง จึงได้มอบหมายให้กรมฝนหลวงและการบินเกษตรวางแผนงาน โดยมุ่งเน้นการปฏิบัติการฝนหลวงให้ตรงตามกลุ่มเป้าหมาย และพื้นที่ที่ประสบปัญหา ตลอดทั้งพัฒนาเทคโนโลยีฝนหลวง ซึ่งจะต้องสร้างศูนย์ถ่ายทอดเทคโนโลยีด้านฝนหลวงในระดับนานาชาติ และจัดตั้งโรงเรียนการบินขึ้นอย่างเป็นรูปธรรม
3.ส่งเสริมความร่วมมือของประชาชน และการสร้างความเข้มแข็งในมวลชนอาสาสมัครฝนหลวง ซึ่งปัจจุบันกรมฝนหลวงมีอาสาสมัครฝนหลวงอยู่แล้ว แต่จะทำอย่างไรให้เกิดความเข้มแข็งมากขึ้น โดยให้ชาวบ้านในพื้นที่ได้เข้าไปมีส่วนร่วม เช่น ส่งเสริมให้ชาวบ้านมีการปลูกต้นไม้ เก็บกักน้ำ เพื่อให้เกิดความชื้นสัมพัทธ์ในอากาศอย่างเหมาะสมที่จะทำฝนหลวงในพื้นที่ เป็นต้น
และ 4.จัดตั้งกองทุนเพื่อสนับสนุนการปฏิบัติการฝนหลวง และดูแลความเป็นอยู่ของบุคลากรในสังกัด ซึ่งกรมฝนหลวงและการบินเกษตรเป็นหน่วยงานที่ปฏิบัติงานในช่วงฤดูการทำฝน จำนวน 8 เดือน (ม.ค.-ต.ค.) โดยไม่มีวันหยุดราชการ อาจส่งผลให้บุคลากรมีความท้อถอยในการปฏิบัติงานได้ จึงควรสร้างขวัญและกำลังใจด้วยค่าตอบแทนที่เท่าเทียมสมเหตุสมผล
ด้าน นายสุรสีห์ กิตติมณฑล อธิบดีกรมฝนหลวงและการบินเกษตร กล่าวว่า กรมฝนหลวงฯ ได้จัดทำยุทธศาสตร์ฝนหลวง 20 ปี เพื่อรองรับพันธกิจสำคัญที่ต้องดำเนินการ ทั้งในด้านการพัฒนาเทคโนโลยีฝนหลวง การบริหารจัดการน้ำในชั้นบรรยากาศให้เกิดฝนในปริมาณและการกระจายที่เหมาะสม โดยจัดทำในกรอบเวลา 5 ปี, 10 ปี, 15 ปี และ 20 ปีตามลำดับ ซึ่งกรมฝนหลวงฯ ได้ตั้งเป้าหมายในการเป็นศูนย์กลางการถ่ายทอดเทคโนโลยีการดัดแปรสภาพอากาศตามศาสตร์พระราชาระดับภูมิภาคอาเซียน และเป็นศูนย์การบินดัดแปรสภาพอากาศตามศาสตร์พระราชาระดับอาเซียน ภายในระยะ 5 ปี และระยะ 10 ปี และพัฒนาเป็นระดับเอเชียในระยะ 15 ปี และระดับโลกในระยะ 20 ปี
“การดำเนินงานตามนโยบายดังกล่าวจะสามารถช่วยป้องกันและบรรเทาปัญหาภัยแล้งได้กว่า 90% และป้องกันและบรรเทาปัญหาภัยพิบัติได้ถึง 70% เพื่อช่วยเหลือประชาชนและพี่น้องเกษตรกรอย่างมีประสิทธิภาพต่อไป” นายสุรสีห์ ระบุ