13 ธันวาคม 2560 : ดร.สุทธิพล ทวีชัยการ เลขาธิการคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) เปิดเผยว่า สำนักงาน คปภ. กล่าวภายหลังการจัดงานสัมมนาผู้บริหารบริษัทประกันภัยเพื่อเตรียมความพร้อมสำหรับการบังคับใช้มาตรฐานการรายงานทางการเงินเกี่ยวกับเครื่องมือทางการเงินและสัญญาประกันภัย ว่า การสัมมนาดังกล่าวมีที่มาจากการที่ประเทศไทย โดยสภาวิชาชีพบัญชี ในพระบรมราชูปถัมภ์ ได้กำหนดทิศทางด้านมาตรฐานการรายงานทางการเงินไทย ที่จัดทำขึ้นตามเกณฑ์มาตรฐานการรายงานทางการเงินระหว่างประเทศ (IFRS)
ซึ่ง IFRS 9 เป็นการกำหนดวิธีปฏิบัติทางบัญชีเกี่ยวกับการรับรู้และการวัดมูลค่าสินทรัพย์ทางการเงิน หนี้สินทางการเงิน และสัญญาซื้อหรือขายรายการสินทรัพย์ที่ไม่ใช่รายการทางการเงินบางประเภท ซึ่งในต่างประเทศ จะเริ่มบังคับใช้ IFRS 9 ในปี 2561 ส่วนประเทศไทยจะมีผลบังคับใช้ในปี 2562 และ IFRS 17 เป็นเรื่องการวัดมูลค่าหนี้สิน การรับรู้รายได้ และการเปิดเผยข้อมูล ซึ่งในต่างประเทศ จะเริ่มบังคับใช้ IFRS 17 ในปี 2564
ส่วนประเทศไทยจะมีผลบังคับใช้ในปี 2565 สำนักงาน คปภ. ในฐานะหน่วยงานกำกับดูแลธุรกิจประกันภัย ได้วิเคราะห์และติดตามแล้วเห็นว่ามาตรฐานการรายงานทางการเงินจะกระทบกับแบบงบการเงิน รายงานทางการเงิน รวมไปถึงรูปแบบในการประกอบธุรกิจของบริษัทประกันภัยในอนาคต
ดังนั้นจึงต้องมีการทบทวนประกาศคำสั่งที่เกี่ยวข้องเพื่อปรับปรุงให้มีความสอดคล้องกับหลักเกณฑ์ที่กำลังจะออกมาใหม่ รวมไปถึงการเตรียมความพร้อม เพื่อรองรับการบังคับใช้มาตรฐานการรายงานทางการเงินทั้ง 2 ฉบับ โดยสำนักงาน คปภ.ได้ทำงานร่วมกับบริษัทที่ปรึกษา บริษัท ไพร้ซวอเตอร์เฮาส์คูเปอร์ เอบี เอเอส จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทผู้เชี่ยวชาญด้านการเงิน บัญชีและธุรกิจประกันภัย เข้ามาช่วยดูแลในการฝึกอบรมและพัฒนาศักยภาพให้กับบุคลากรภาคธุรกิจประกันภัยไทย
ดร.สุทธิพล กล่าวด้วยว่า การพัฒนาเพื่อให้มาตรฐานการรายงานทางการเงิน มีความสอดคล้องกับมาตรฐานสากล (International Financial Reporting Standard (IFRS)) ตามแนวทางของสภาวิชาชีพบัญชี ฯ ส่งผลให้หลักเกณฑ์การจัดทำรายงานทางการเงินของธุรกิจประกันภัยไทย ในช่วงหลังๆ มีความเฉพาะเจาะจง และมีความชัดเจนขึ้น ทำให้บริษัทประกันภัยมีแนวปฏิบัติไปในทิศทางเดียวกันและมีความเป็นสากล แต่เนื่องจากการจัดทำรายงานทางการเงิน-การบัญชี ของธุรกิจประกันภัยมีลักษณะพิเศษ และค่อนข้างมีความซับซ้อน
โดยมาตรฐานการรายงานทางการเงิน ฉบับที่ 9 นั้นจะส่งผลกระทบต่อการจัดประเภทรายการและการวัดมูลค่าที่จะเป็นตัวกำหนดให้แต่ละบริษัทจัดประเภทเครื่องมือทางการเงิน ให้เป็นไปตามรูปแบบการดำเนินธุรกิจ (Business model) และมาตรฐานการรายงานทางการเงิน ฉบับที่ 17 เรื่อง สัญญาประกันภัย จะกระทบต่อการวัดมูลค่าหนี้สินจากสัญญาประกันภัย และการเปิดเผยข้อมูลเกี่ยวกับสัญญาประกันภัย
ซึ่งสำนักงาน คปภ.คาดการณ์ว่า มาตรฐานทั้ง 2 ฉบับ จะส่งผลให้การจัดวางแผนงาน และนโยบายด้านการเงิน-บัญชี การลงทุน และการจำหน่ายผลิตภัณฑ์ประกันภัย ของบริษัท ในช่วง 1-5 ปี ข้างหน้านี้จะปรับเปลี่ยนรูปแบบไปอย่างมีนัยสำคัญ ดังนั้นการสื่อสาร การสร้างความรู้ความเข้าใจที่ตรงกัน และการเตรียมความพร้อมเพื่อรับมือกับมาตรฐานการรายงานทางการเงินทั้ง IFRS 9 และ IFRS 17 จึงเป็นสิ่งจำเป็นอย่างมาก