8 ธันวาคม 2560 : นางพรนิจ ตุลย์วัฒนจิต ผู้ช่วยผู้จัดการใหญ่ สายปฏิบัติการสนับสนุน ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า ธนาคารร่วมกับองค์กรชั้นนำระดับโลก “กลุ่มพันธมิตร R3” (R3 Consortium) ผู้พัฒนาเทคโนโลยีและซอฟท์แวร์ด้านการเงินแห่งอนาคต (Fin Tech) และ “TradeIX” ผู้พัฒนาเทคโนโลยีด้านการเงินระหว่างประเทศ (Trade Finance) เพื่อประยุกต์ Distributed Ledger Technology หรือ Blockchain มาใช้กับบริการด้านธุรกรรมการเงินระหว่างประเทศแบบ Open Account ซึ่งจะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการบริการและสะดวกเพราะสามารถปรับให้เข้ากับความต้องการใช้งานได้หลากหลาย และปลอดภัย
บริการนี้จะช่วยให้สถาบันการเงินสามารถพิจารณาการให้บริการทางการเงินได้ทันทีตั้งแต่ก่อนจัดส่ง และหลังจัดส่งสินค้า (Pre- and Post-shipment financing) ทั้งจะช่วยลดความเสี่ยงสำหรับผู้ซื้อและผู้ขายสินค้าจากทั่วโลก ซึ่งทำให้ทั้งผู้ซื้อและผู้ขายสินค้า สามารถทำการค้าได้สะดวกขึ้น สามารถเข้าถึงสินเชื่อในเวลาที่ต้องการได้อย่างเหมาะสมและลดความเสี่ยงในวงจรการค้าระหว่างกัน นอกจากนี้ ระบบยังถูกออกแบบมาให้สามารถใช้งานหรือพัฒนาร่วมกับแพลตฟอร์มอื่นๆ ได้อีกด้วย
“บริการนี้พิสูจน์ให้เห็นถึงคุณประโยชน์ของเทคโนโลยี Distributed Ledger ที่นำมาปรับใช้ได้จริงในหลายกรณี อีกทั้งยังเป็นการแบ่งปันความรู้ระหว่างสถาบันการเงินของกลุ่มพันธมิตรที่ทำงานร่วมกัน โดยการพัฒนา Trade Finance นับเป็นตัวเลือกที่ดีที่สุดในการทดสอบแนวคิดเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพของบริการ เนื่องจากการค้าระหว่างประเทศนั้นมีผู้เกี่ยวข้องหลายฝ่าย ซึ่งอาจไม่เคยทำธุรกิจด้วยกันมาก่อน ธนาคารจึงเชื่อมั่นว่า ความร่วมมือกันอย่างใกล้ชิดของกลุ่มพันธมิตร R3 จะช่วยให้ธนาคารสามารถพัฒนาบริการและผลิตภัณฑ์ และนำเสนอโซลูชั่นที่ตรงความต้องการและมีประโยชน์แก่ลูกค้าของเราได้รวดเร็วยิ่งขึ้น” นางพรนิจ กล่าว
ด้าน นายเอียน กาย กิลลาด ผู้ช่วยผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงเทพ กล่าวว่า ภายใต้ความร่วมมือของสมาชิก R3 ธนาคารกรุงเทพยังเป็น 1 ใน 11 ธนาคารพันธมิตรที่สามารถนำแอปพลิเคชันใหม่ ที่ R3 และ CGI พันธมิตรด้านเทคโนโลยีพัฒนาร่วมกัน เข้ามาช่วยสนับสนุนกระบวนการเกี่ยวกับการออก Letter of Credit (L/C) ให้สามารถดำเนินการได้อย่างมีประสิทธิภาพ ลดขั้นตอนและต้นทุนลง โดยสามารถเชื่อมโยงกับผู้ส่งสินค้า และผู้ให้บริการด้านขนส่ง ให้สามารถเข้าถึงรายละเอียดของการจัดส่งสินค้าได้อย่างรวดเร็ว ทุกขั้นตอน และเป็นมาตรฐานเดียวกัน แม้ว่าธุรกิจแต่ละแห่งจะมีเทคโนโลยีที่แตกต่างกันก็ตาม โดย L/C ยังถือเป็นธุรกรรมสำคัญของผลิตภัณฑ์ด้านธุรกรรมระหว่างประเทศ
ทั้งนี้ ธนาคารยังได้เข้าร่วมเป็นสมาชิกกับ Banking Industry Architecture Network (BIAN) ซึ่งเป็นองค์กรอิสระที่ไม่แสวงหากำไร เพื่อร่วมกันพัฒนาสถาปัตยกรรมการบริการด้านการการเงินที่ดีที่สุด โดยมีสมาชิก 4 กลุ่มร่วมกันพัฒนา ประกอบด้วย สถาบันการเงินชั้นนำ(Financial Institution) ผู้ผลิตและจำหน่ายซอฟท์แวร์ (Software venders) บริษัทผู้ให้บริการในอุตสาหกรรมธนาคาร (Service Providers of the Bank Industry) และสถาบันวิชาการ (Academic)
สำหรับกลุ่มลูกค้ารายย่อย ที่ผ่านมา ธนาคารได้ร่วมกับบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนรวม บัวหลวง จำกัด (กองทุนบัวหลวง) และ FundRadar เปิดตัวแอปพลิเคชัน Bualuang Fund (BF) เพื่อเป็นอีกหนึ่งเครื่องมืออำนวยความสะดวกแก่ลูกค้าผู้ถือหน่วยลงทุน ให้สามารถเข้าถึงข้อมูลและทำธุรกรรมต่างๆ ได้สะดวก รวดเร็ว ทุกที่ทุกเวลา ผ่านช่องทางดิจิทัลได้ง่ายๆ โดย FundRadar เป็น 1 ในสตาร์ทอัพที่ได้รับคัดเลือกให้เข้าสู่รอบสุดท้ายของ โครงการบ่มเพาะธุรกิจสตาร์ทอัพในกลุ่มเทคโนโลยีการเงิน (Fin Tech) หรือ Bangkok Bank InnoHub
นอกจากนี้ ธนาคารยังได้เร่งพัฒนาบริการด้านการโอนและชำระเงินผ่านระบบพร้อมเพย์ในรูปแบบต่างๆ ที่สอดคล้องกับพฤติกรรมของลูกค้าอย่างต่อเนื่อง นอกจากการทำธุรกรรมโอนเงินผ่านพร้อมเพย์แล้ว ปัจจุบันลูกค้าสามารถเลือกใช้แอพพลิเคชั่นบัวหลวง เอ็มแบงก์กิ้ง สแกน QR Code มาตรฐานที่ร้านค้าเพื่อชำระเงินได้ทันที โดยไม่ต้องใช้เงินสด และล่าสุดได้เปิดตัวบริการ “QR Code Payment on EDC” สำหรับธุรกิจร้านค้าขนาดใหญ่รับชำระเงินด้วยคิวอาร์โค้ดผ่านเครื่อง EDC ที่เงินจะเข้าบัญชีร้านค้าโดยตรง ช่วยให้บริหารจัดการเงินสดง่าย พร้อมสรุปเป็นรายงานประจำวัน ช่วยเพิ่มช่องทางการชำระเงิน ลดต้นทุนการบริหารจัดการ