ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจ ทีเอ็มบี หรือ TMB Analytics ประเมินแนวโน้มราคายางพาราใน 1-2 ปีข้างหน้าจะยังคงทรงตัว ชี้ผลกระทบส่วนใหญ่จะตกแก่ชาวสวนยางพารา แนะผู้ประกอบการเพิ่มมูลค่าให้แก่สินค้ายางพารา
ราคายางพาราแผ่นดิบที่ลดลงอย่างต่อเนื่องจากระดับสูงสุด 180 บาท/ก.ก. ในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ 2554 ลงมาสู่ระดับ 41-47 บาท/ก.ก. ในปัจจุบัน (มี.ค.59) จะเห็นว่าในช่วงสี่ปีที่ผ่านมาราคายางพาราลดลงกว่า 5 เท่าตัว ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจฯ ประเมิน แนวโน้มราคายางพาราจะทรงตัวใกล้เคียงระดับปัจจุบันไปอย่างน้อย 1-2 ปีข้างหน้า ด้วยเหตุผล 4 ปัจจัยหลัก ดังนี้
ปัจจัยแรก คือ ปริมาณความต้องการใช้ โดยยางพาราส่วนใหญ่ถูกนำใช้ในอุตสาหกรรมยางล้อ ซึ่งจะเติบโตตามอุตสาหกรรมยานยนต์ ทั้งนี้ บริษัท IHS Automotive ผู้เชี่ยวชาญอุตสาหกรรมรถยนต์ คาดว่ายอดขายรถยนต์โลกในปี 2559-60 จะเพิ่มขึ้นประมาณ 3.0-4.0% ต่อปี คาดว่าจะส่งผลทำให้ปริมาณความต้องการใช้ยางพาราโลกขยายตัวประมาณ 3.0-3.5% ต่อปี โดยความต้องการยางพาราของตลาดหลักบางส่วน ได้แก่ สหรัฐอเมริกาและอินเดีย เริ่มฟื้นตัวตามภาวะเศรษฐกิจ อย่างไรก็ตาม ความต้องการใช้ในจีนและญี่ปุ่นยังดูไม่ดีนัก เนื่องจากเศรษฐกิจมีแนวโน้มชะลอตัว (ผู้บริโภครายใหญ่ได้แก่ จีน (39.1%) อินเดีย (8.3%) สหรัฐอเมริกา (7.7%) และญี่ปุ่น (5.8%) ของปริมาณการใช้รวม 12.6 ล้านตัน)
ปัจจัยที่สองคือ ปริมาณการผลิต สถาบัน International Rubber Study Group (IRSG) ผู้เชี่ยวชาญด้านยางพาราของโลก คาดว่าปริมาณผลิตยางพาราจะเพิ่มขึ้นระหว่าง 4.0-4.2% ต่อปีในช่วงปี 2559-60 ผลผลิตที่เพิ่มขึ้นจะมาจากขยายพื้นที่เพาะปลูกยางพาราของอินโดนีเซีย เวียดนาม จีน และอินเดียเป็นหลัก ซึ่งแน่นอนว่าจะเป็นปัจจัยเสี่ยงที่จะก่อให้เกิดอุปทานส่วนเกินยางพาราได้ในช่วงถัดไป (ผู้ผลิตรายใหญ่ได้แก่ ไทย (35.8%) อินโดนีเซีย (26.1%) จีน (7.1%) อินเดีย (5.8%) และมาเลเซีย (5.5%) ของปริมาณการผลิตรวม 12.6 ล้านตัน)
ปัจจัยที่สาม คือ ปริมาณสต็อกยางพารา จะปรับตัวเพิ่มขึ้นอันมีสาเหตุหลักมาจากการขยายพื้นที่เพาะปลูกของผู้ผลิตนับตั้งแต่ปี 2553 เป็นต้นมา โดยเฉพาะผู้ผลิตอินโดนีเซีย เวียดนาม และจีน ก่อให้เกิดการทยอยสะสมสต็อก ถือเป็นระดับสูงสุดนับตั้งแต่ IRSG เก็บข้อมูลสต็อกยางพาราของโลกมา (ผู้ผลิตที่มีสต็อกรายใหญ่ได้แก่ ไทย (16.6%) และมาเลเซีย (4.5%) ของปริมาณสต็อกรวม 3.4 ล้านตัน)
ปัจจัยสุดท้าย คือ ราคายางสังเคราะห์ จะทรงตัวในระดับต่ำตามราคาน้ำมันดิบโลก ทั้งนี้ ยางสังเคราะห์ถือเป็นสินค้าทดแทนยางพารา โดยผู้ผลิตผลิตภัณฑ์ยางสามารถปรับสัดส่วนการผลิตผลิตภัณฑ์ยางในสัดส่วนที่ต้องการได้ กล่าวคือ เมื่อราคายางสังเคราะห์ลดลง ผู้ผลิตผลิตภัณฑ์ยางก็ปรับสัดส่วนการใช้ยางสังเคราะห์ในการผลิตผลิตภัณฑ์ยางมากขึ้น เพราะมีต้นทุนที่ต่ำกว่า ดังนั้น ผู้ผลิตยางพาราจึงต้องลดราคาขายของตนเองลงมา เพื่อให้สามารถขายแข่งกับยางสังเคราะห์ได้
เมื่อประเมิน 4 ปัจจัยหลักที่กระทบราคายางพาราใน 1-2 ปีข้างหน้า พอจะสรุปได้ว่า ทิศทางราคายางพารายังคงมีปัจจัยกดดันให้ทรงตัวใกล้เคียงกับระดับปัจจุบัน โดยคาดว่าราคายางพาราแผ่นดิบในประเทศเฉลี่ยจะอยู่ที่ 45-50 บาท/ก.ก.
ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจฯ ประเมินว่า ทิศทางราคายางพาราที่อยู่ในระดับนี้ ผลกระทบทางลบส่วนใหญ่จะตกแก่ “ชาวสวนยางพารา” เนื่องจากมีต้นทุนการเพาะปลูกยางพาราเฉลี่ย 65 บาท/ก.ก. (ที่มา: สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร, 2556)
ซึ่งจะเห็นว่าชาวสวนยางมีต้นทุนการผลิตที่สูงกว่าราคาที่คาดว่าจะขายได้ ทำให้มีแนวโน้มต้องเผชิญกับการขาดทุน ในขณะที่ “ผู้ค้า/ผู้ส่งออก” มองว่าผลกระทบกลุ่มนี้จะขึ้นอยู่กับการบริหารสต็อกยางพาราที่รับซื้อมา หากมีการจัดการสต็อกที่รับซื้อมาอย่างมีประสิทธิภาพจะช่วยบรรเทาผลกระทบลงได้ ด้านผู้ผลิตสินค้าที่ใช้ยางพาราเป็นวัตถุดิบในการผลิต ได้แก่ ล้อรถยนต์ ชิ้นส่วนยานยนต์ ถุงมือยาง ถุงยางอนามัย ฯลฯ ถือว่าเป็นกลุ่มที่ได้รับผลประโยชน์จากต้นทุนวัตถุดิบที่ลดลงเนื่องจากการผลิตใช้เครื่องจักรและเทคโนโลยีสูง มีการสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้า จึงทำให้ราคาขายของสินค้าไม่ลดลงตามราคาวัตถุดิบยางพารา
ทั้งนี้ การที่ภาครัฐผลักดันนิคมอุตสาหกรรมกรรมยางพารา (Rubber City) ในเขตพื้นที่อุตสาหกรรมภาคใต้ จ.สงขลา เพื่ออำนวยความสะดวกแก่ผู้ประกอบการที่ต้องการเพิ่มมูลค่าให้กับสินค้ายางพารา ซึ่งคาดว่าจะเป็นรูปธรรมในปี 2564 ผู้ประกอบการควรพิจารณาเข้ามาใช้ประโยชน์ลงทุนเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับยางพารา ซึ่งจะช่วยให้ราคายางพารามีทิศทางดีขึ้น และจะทำให้ Rubber City เป็นตามฝัน คือ “ชาวสวนยางพาราอยู่ได้ ประเทศชาติมีรายได้จากสินค้าที่มีมูลค่าเพิ่มจากยางพารา”