6 ธันวาคม 2560 : นายกลินท์ สารสิน ประธานกรรมการ สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย ในฐานะประธานคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) คาดว่า การส่งออกของไทยในปี 60 มีความเป็นไปได้ที่จะขยายตัวได้ประมาณ 9% หลังจากที่ 10 เดือนแรกของปี 60 (ม.ค.-ต.ค.) การส่งออกขยายตัวสูงถึง 9.7%
สำหรับประเด็นสำคัญที่ต้องติดตาม คือ สถานการณ์ทางการเมืองในต่างประเทศ อาทิ ความคืบหน้าของร่างปฎิรูปกฎหมายภาษีของสหรัฐฯ , การสอบสวนกรณีความเชื่อมโยงระหว่างทำเนียบขาวกับรัสเซีย, การจัดตั้งรัฐบาลในเยอรมนี, การเจรจากรณี Brexit และความตึงเครียดในคาบสมุทรเกาหลี ซึ่งอาจจะส่งผลกระทบต่อความเคลื่อนไหวในตลาดการเงินโลก รวมทั้งทิศทางค่าเงินบาทที่ยังมีแนวโน้มผันผวนในกรอบที่แข็งค่าเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐ ที่ขาดแรงหนุนใหม่ๆ ในระยะอันใกล้นี้ โดย กกร.มีความเป็นห่วงว่าเงินบาทที่แข็งค่าเร็วเกินไป อาจจะไม่เป็นผลดีต่อภาคการค้าระหว่างประเทศในระยะต่อไป
ในส่วนของเงินบาทแข็งค่าสุดในรอบ 31 เดือน แตะ 32.55 บาท/ดอลลาร์ฯ ในช่วงปลายเดือน พ.ย. (และแข็งค่าแล้ว 9.7% จากปลายปีก่อน) เนื่องจากเงินดอลลาร์ฯ ถูกกดดันจากความไม่แน่นอนเกี่ยวกับร่างกฎหมายภาษีของสหรัฐฯ รวมทั้งจากการไหลกลับเข้ามาของเงินลงทุนต่างชาติ ซึ่งความเคลื่อนไหวของเงินทุนระยะสั้นดังกล่าว อาจส่งผลกระทบถึงความสามารถในการแข่งขันและการประกอบการของผู้ส่งออกได้ ภาครัฐจึงควรดูแลให้ความเคลื่อนไหวเงินทุนระยะสั้นดังกล่าวส่งผลกระทบต่อผู้ประกอบการให้น้อยที่สุด
พร้อมกันนี้ กกร.ได้ให้ความสำคัญกับการส่งเสริมให้ SMEs ประกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน ซึ่งในขณะนี้ได้มีการจัดทำโครงการส่งเสริมการให้ความรู้ และการทดลองการนำเครื่องมือป้องกันความเสี่ยงมาใช้กับ SMEs ทั่วประเทศ จึงอยากให้ SMEs ที่มีการส่งออกและนำเข้าที่มีคุณสมบัติตามเกณฑ์เข้าร่วมโครงการ
ทั้งนี้ แม้ว่าการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยจะยังไม่เกิดขึ้นอย่างทั่วถึงในทุกภาคส่วน สะท้อนได้จากการใช้จ่ายของผู้บริโภคที่ยังคงเปราะบาง แต่การที่ภาครัฐกำลังอยู่ระหว่างการเตรียมออกมาตรการเพิ่มเติมเพื่อดูแลผู้มีรายได้น้อยหรือเศรษฐกิจฐานราก รวมทั้งการเร่งผลักดันการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ และการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) เพื่อให้มีผลบังคับใช้ในช่วงต้นปี 2561 ก็น่าจะช่วยให้การขยายตัวของเศรษฐกิจมีแนวโน้มที่จะกระจายตัวมากขึ้นในระยะข้างหน้า โดยเบื้องต้น กกร. เห็นว่าในปี 2561 เศรษฐกิจไทยน่าจะมีแนวโน้มขยายตัวได้ใกล้เคียงกับในปี 2560 ที่ผ่านมา
กกร. คาดว่า การเติบโตทางเศรษฐกิจและการส่งออกของไทยในปี 61 จะอยู่ในอัตราใกล้เคียงกับปีนี้ที่เติบโตได้ 4% และ 9% ตามลำดับ โดยมีปัจจัยเสี่ยงในเรื่องของความผันผวนของอัตราแลกเปลี่ยน และปัญหาความขัดแย้งบนคาบสมุทรเกาหลี ขณะเดียวกันอาจเป็นผลดีต่อการท่องเที่ยว ทำให้นักท่องเที่ยวเดินทางเข้ามาไทยเพิ่มขึ้น จากปีนี้ที่คาดว่าจะมีนักท่องเที่ยวต่างชาติราว 34.5 ล้านคน
ส่วนปัญหาราคาสินค้าเกษตรตกต่ำนั้น ขอรอดูการทำงานของรัฐมนตรีใหม่สักระยะหนึ่งก่อน ซึ่งคาดว่าจะมีมาตรการต่อเนื่องจากเดิม
สำหรับการปรับคณะรัฐมนตรีชุดใหม่ กกร. เห็นว่ารัฐมนตรีหลายคนเป็นที่ยอมรับของภาคเอกชน เพราะทุกคนมีความรู้ ความสามารถ ซึ่งเรื่องสำคัญที่จะต้องดำเนินการต่อ คือ สานต่อนโยบายการสร้างขีดความสามารถในการแข่งขันให้กับผู้ประกอบการระหว่างภาครัฐและภาคเอกชนให้มีความต่อเนื่อง และเป็นไปตามแผนของรัฐบาลที่กำหนดให้นำไปสู่ประเทศ 4.0 ภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี
ทั้งนี้ ภาคเอกชนต้องการให้รัฐบาลให้ความสำคัญในการเร่งนโยบายดำเนินการต่าง ๆ เพื่อให้เกิดประโยชน์ต่อประเทศมากที่สุด อาทิ 1) การแก้ปัญหาความเป็นอยู่ของประชาชนให้ดีขึ้น 2) การปรับปรุงแก้ไขกฎหมาย / กฎระเบียบต่าง ๆ เพื่ออำนวยความสะดวกทางการค้าการลงทุน 3) การเร่งสร้างโครงสร้างพื้นฐาน รวมถึงการลงทุนโครงการเน็ตประชารัฐ
อย่างไรก็ดี ภาพรวมเศรษฐกิจ การส่งออก และการท่องเที่ยวมีการขยายตัวที่ดีมาก แต่เศรษฐกิจฐานรากยังไม่ดีเท่าที่ควร รัฐบาลจึงจำเป็นต้องมีการพัฒนาโครงการต่าง ๆ ในท้องถิ่น เพื่อกระจายรายได้ไปสู่เศรษฐกิจฐานราก และมีเงินหมุนเวียนในระบบมากขึ้น รวมทั้งเพื่อให้ประชาชนมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นด้วย
ในส่วนของการร่าง พ.ร.บ.ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง พ.ศ….ซึ่งคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างฯ ฉบับแก้ไข จะมีการเปิดรับฟังความคิดเห็นสาธารณะอีกครั้งในวันที่ 19 ธ.ค.60 นั้น กกร. ได้มอบหมายให้คณะทำงานฯ นำร่างฯ ฉบับแก้ไขดังกล่าว เพื่อศึกษาและให้ข้อคิดเห็นในเวทีรับฟังความคิดเห็นฯ ทั้งนี้ เพื่อจะนำไปสู่แนวทางในการปฏิบัติตามกฎหมายให้เกิดประสิทธิภาพ และเป็นประโยชน์ต่อประชาชนและประเทศต่อไป
ด้าน นายเจน นำชัยศิริ ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวว่า ภาคเอกชนหวังว่าธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) จะเข้ามาดูแลไม่ให้เงินบาทแข็งค่าเร็วเกินไป โดยขณะนี้เงินบาทแข็งค่าสูงกว่า Dollar Index ซึ่งน่าจะเป็นผลจากการไหลเข้าของเงินทุนต่างประเทศในระยะสั้น ซึ่งจะส่งผลเสียต่อระบบเศรษฐกิจไทยมากกว่าผลดี