WELCOME TO SEQUEL ONLINE (ซีเคว้ล ออนไลน์)
วันเสาร์ ที่ 23 พฤศจิกายน 2567 ติดต่อเรา
กรมเชื้อเพลิงฯคาดออก TOR ประมูลแหล่งบงกช-เอราวัณรูปแบบ PSC ปลายปีนี้ ##

7 พฤศจิกายน 2560 : นายวีระศักดิ์ พึ่งรัศมี อธิบดีกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ ระบุว่า คาดว่าจะสามารถเปิดประมูลแหล่งปิโตรเลียมบงกช และเอราวัณ ที่ใกล้จะหมดอายุสัมปทานในปี 65-66 ได้ภายในปลายปีนี้ หลังล่าสุดได้ออกหลักเกณฑ์และวิธีการกำหนดพื้นที่ที่จะดำเนินการสำรวจหรือผลิตปิโตรเลียม ในรูปแบบของสัมปทาน สัญญาแบ่งปันผลผลิต (PSC) หรือสัญญาจ้างบริการ (SC) แล้ว และอยู่ระหว่างเตรียมออกกฎกระทรวงที่เกี่ยวข้องอีก 4 ฉบับ เพื่อรองรับการออกประกาศเชิญชวนประมูล (TOR) ทั้ง 2 แหล่งในรูปแบบของ PSC หลังจากนั้นคาดว่าจะใช้เวลาพิจารณาอีกราว 7 เดือนก็จะสามารถคัดเลือกผู้ที่ชนะการประมูลครั้งนี้ได้

5

นายวีระศักดิ์ กล่าวว่า สำหรับการประมูลแหล่งปิโตรเลียมทั้งบงกช และเอราวัณ ซึ่งเป็นแหล่งก๊าซธรรมชาติในอ่าวไทย จะอยู่ในรูปแบบ PSC นั้น จะเริ่มจากส่วนแบ่งกำไร (profit sharing) ที่สัดส่วน 50:50 คือบริษัทผู้ลงทุนและรัฐบาลจะได้ฝ่ายละ 50% ขณะที่จะต้องลงทุนฝ่ายละ 50% เช่นเดียวกัน ซึ่งการประมูลจะพิจารณาจาก 3 ปัจจัยสำคัญ ได้แก่ ปริมาณซื้อขาย , ราคาซื้อขาย และแผนการดำเนินงาน

สำหรับราคาซื้อขายก๊าซฯ จะกำหนดเป็นราคาเพดานสูงสุด ซึ่งเบื้องต้นเห็นควรให้บมจ.ปตท. (PTT) เป็นผู้รับซื้อภายใต้สูตรราคาการประมูลใหม่ ที่จะอิงราคานำเข้าก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG) เป็นหลัก จากเดิมที่สูตรราคาจะอิงราคาน้ำมันเตาเป็นหลัก โดยการที่เห็นควรให้ PTT เป็นผู้รับซื้อเพื่อให้เกิดมูลค่าสูงสุดของประเทศ เนื่องจากก๊าซฯจากอ่าวไทยนั้นมีคุณสมบัติที่สามารถนำไปใช้ทำปิโตรเคมีได้ โดยก๊าซฯที่ได้ควรจะต้องนำมาเข้าสู่โรงแยกก๊าซฯก่อนนำเข้าสู่โรงงานปิโตรเคมีต่อไป

อย่างไรก็ตาม กรณีนี้ก็จะต้องผ่านความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรี (ครม.) ก่อน ซึ่งล่าสุดได้เจรจาเพื่อกำหนดราคาเพดานสูงสุดของก๊าซฯของแหล่งบงกช และเอราวัณ กับปตท.แล้ว เบื้องต้นจะต้องไม่เกินราคานำเข้า LNG แต่จะเป็นราคาที่สูงกว่าการรับซื้อก๊าซฯจากทั้งสองแหล่งในปัจจุบัน ที่รับซื้อก๊าซฯจากแหล่งบงกช 174 บาท/ล้านบีทยู และแหล่งเอราวัณ 155 บาท/ล้านบีทียู

ทั้งนี้ รายละเอียดหลักเกณฑ์ต่าง ๆ จะถูกกำหนดอยู่ใน TOR ซึ่งปัจจุบันยังไม่สามารถออกรายละเอียดได้ โดยยังต้องรอให้มีการประกาศกฏกระทรวงอีก 4 ฉบับ ออกมาให้เรียบร้อยก่อน โดยมีร่างกฎกระทรวงที่จะต้องให้กรมฯยืนยันกลับไปที่ครม. และจะนำไปประกาศในราชกิจจานุเบกษาต่อไป จำนวน 3 ฉบับ ได้แก่ กฎกระทรวงกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการขอและการได้รับสิทธ์เป็นผู้รับสัญญาแบ่งปัญผลผลิต(ม.53/1)

กฎกระทรวงกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ เงื่อนไขและระยะเวลาในการให้ผู้รับสัญญาแบ่งปันผลผลิตนำส่งค่าภาคหลวงแก่รัฐ(ม.53/6) และกฏกระทรวงกำหนดค่าธรรมเนียมสำหรับสัมปทาน สัญญาแบ่งปันผลผลิต และสัญญาจ้างบริการ ซึ่งคาดว่าจะออกประกาศได้ใน 2-3 สัปดาห์หน้าข้างหน้า

ส่วนกฎกระทรวงที่เหลืออีก 1 ฉบับ ซึ่งจะเป็นแบบสัญญาของ PSC ซึ่งอยู่ระหว่างการพิจารณาของคณะกรรมการกฤษฎีกา เมื่อแบบสัญญาเสร็จก็จะสามารถประกาศ TOR ได้ทันที ซึ่งเชื่อว่าเมื่อ TOR ออกมาแล้วจะทำให้มีความชัดเจนมากขึ้นว่ามีผู้สนใจเข้าร่วมประมูลมากน้อยแค่ไหน นอกจากเบื้องต้นที่ยืนยัน ได้แก่ สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ (UAE) ,กลุ่มเชฟรอน และบมจ.ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม (PTTEP)

ส่วนบมจ.บางจากคอร์ปอเรชั่น (BCP) แม้มีความสนใจแต่ทุนค่อนข้างน้อย ซึ่งการเข้าร่วมประมูลก็อาจจำเป็นต้องหาพันธมิตรเข้ามาร่วมด้วย ขณะที่กลุ่มบริษัท อีโค่ โอเรียนท์ รีซอสเซส (ประเทศไทย) จำกัด ซึ่งเป็นกลุ่มผู้ได้รับสัมปทานน้ำมันดิบแหล่งวิเชียรบุรี ก็ให้ความสนใจประมูลครั้งนี้เช่นกัน

นายวีระศักดิ์ กล่าวด้วยว่า หลังจากการประมูลแหล่งบงกช และเอราวัณ ซึ่งเป็นแหล่งปิโตรเลียมที่จะหมดอายุผ่านไปแล้ว กรมฯก็เตรียมที่จะเปิดประมูลแหล่งปิโตรเลียมใหม่ รอบที่ 22 ภายในปี 61 หลังจากที่การประมูลแหล่งปิโตรเลียม รอบที่ 21 ไม่ประสบความสำเร็จโดยการเปิดประมูลใหม่จะใช้ตามหลักเกณฑ์และวิธีการกำหนดพื้นที่ที่จะดำเนินการสำรวจหรือผลิตปิโตรเลียม ที่เพิ่งประกาศออกมา โดยพื้นที่ปิโตรเลียมในอ่าวไทย เป็นการประมูลในรูปแบบของ PSC ส่วนพื้นที่บนบก เป็นการประมูลในรูปแบบสัมปทาน ส่วนระบบ SC อาจจะเป็นการประมูลในแหล่งขนาดเล็ก

สำหรับประเทศไทยยังคงมีพื้นที่ที่มีศักยภาพของแหล่งปิโตรเลียม แต่การแสวงหาปิโตรเลียมไม่ใช่เรื่องที่ง่ายนัก โดยกรณีของแหล่งน้ำมันดิบวิเชียรบุรี ในจ.เพชรบูรณ์ ปัจจุบันมีการผลิต 2 แปลงสำรวจ มีกำลังการผลิตน้ำมันดิบรวมประมาณ 1,000 บาร์เรล/วัน ขณะที่ในปีที่แล้วได้มีการขุดเจาะสำรวจอีก 9 หลุม แต่ค้นพบปิโตรเลียมเพียง 3 หลุม

โดยล่าสุดการจัดทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) 1 หลุมได้รับการอนุมัติแล้ว อยู่ระหว่างรอกรมฯทำหนังสือยืนยันให้ผลิตกลับมาก็จะสามารถเปิดการผลิตน้ำมันดิบจากหลุมใหม่ดังกล่าวได้อีกราว 600 บาร์เรล/วัน ส่วนอีก 2 หลุมที่ค้นพบปิโตรเลียมนั้นได้รับการอนุมัติจากคณะกรรมการปิโตรเลียมแล้ว และอยู่ในกระบวนการจัดทำ EIA ซึ่งคาดว่าจะใช้เวลาประมาณ 1-2 ปี โดยคาดว่าการผลิตน้ำมันดิบจาก 2 หลุมนี้จะอยู่ที่ราว 500 บาร์เรล/วัน logo เล็ก (ปิดท้ายข่าว)

ธุรกิจ ดูทั้งหมด



COPYRIGHT © 2016 SEQUEL ONLINE. ALL RIGHTS RESERVED.
FOLLOW UP