3 พฤศจิกายน 2560 : ผู้สื่อข่าวรายงานว่า การประชุมโต๊ะกลมระดับรัฐมนตรีพลังงานเอเชีย (Asian ministerial Energy Roundtable : AMER) ครั้งที่ 7 หรือ AMER7 ซึ่งไทยเป็นเจ้าภาพระหว่างวันที่ 1-3 พ.ย.60 โดยในช่วงการประชุมร่วมวันที่ (2 พ.ย.) ได้ให้ความสำคัญกับพัฒนาการด้านตลาดน้ำมัน ก๊าซธรรมชาติ พลังงานหมุนเวียน และเทคโนโลยี และได้ข้อสรุปร่วมกัน ดังนี้
1.บรรดารัฐมนตรีให้ข้อสังเกตว่าเอเชียเป็นจุดสำคัญของทั้งโลก ในการเปลี่ยนผ่านด้านพลังงานที่มั่นคง มีราคาที่เหมาะสม และเท่าเทียมกัน การเจริญเติบโตของความต้องการและน้ำหนักทางด้านภูมิเศรษฐศาสตร์ของเอเชียในโดยรวม จะช่วยลดความผันผวนในตลาดโลก และกำหนดทิศทางการเปลี่ยนผ่านด้านพลังงานของโลก
2.การสร้างความแข็งแรงด้านการลงทุนร่วมกันทั้งในเทคโนโลยีใหม่และเทคโนโลยีที่มีอยู่เดิมในทวีปเอเชียจะเป็นตัวอย่างให้แก่ภูมิภาคอื่นในการดำเนินรอยตามในการสร้างความมั่นคงและการเข้าถึงพลังงาน การเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ และการเปลี่ยนผ่านไปสู่ตลาดพลังงานที่สุขภาพดีและมีความยืดหยุ่นมากขึ้น
3.บรรดารัฐมนตรียินดีต่อการสนับสนุน โดยองค์การพลังงานสากล (International Energy Forum :IEF) เพื่อให้เกิดความมั่นคงด้านพลังงานตามแต่ละเส้นทางการเปลี่ยนผ่านต่าง ๆ ผ่านตลาดพลังงานที่ดำเนินการได้เป็นอย่างดี มีการแข่งขัน มีประสิทธิภาพ และโปร่งใส พร้อมทั้งส่งเสริมความร่วมมือ การค้า และการลงทุนทั่วภูมิภาคเพื่อการสร้างการเข้าถึงพลังงานให้กับผู้คนเพื่อให้มีมาตรฐานชีวิตที่สูงขึ้นและดีขึ้น ,การสนับสนุนการใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ และการลดของเสียเกิดขึ้นในห่วงโซ่อุปทานด้านพลังงาน ,การเพิ่มการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจตามเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืน (SDG) และการดำเนินการในเรื่องการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศตามข้อตกลงปารีส
4.การลงทุนในภาคพลังงานในด้านพลังงานหมุนเวียน และเทคโนโลยีก้าวกระโดดจะยังคงดำเนินต่อไป ในขณะที่การลงทุนในแหล่งพลังงานที่มีอยู่แล้วและในการบูรณาการด้านโครงข่ายด้านพลังงาน ซึ่งเป็นสัดส่วนใหญ่ของการเติบโตของความต้องการและความสมดุลทางตลาดนั้นอยู่ในช่วงถดถอยลง
5.ยังคงมุ่งมั่นมีความร่วมมือที่ใกล้ชิดกับองค์การระหว่างประเทศ และผู้มีส่วนได้ส่วนเสียที่เกี่ยวข้อง เพื่อรับประกันการลงทุนในพลังงานฟอสซิล พลังงานหมุนเวียน และพลังงานนิวเคลียร์ เพื่อให้เกิดการส่งเสริมกันในตลาดพลังงานที่บูรณาการและมีความยืดหยุ่น
6.ให้มีการเปิดตลาดเพื่อรองรับเทคโนโลยีและแนวนโยบายการเปลี่ยนผ่านใหม่ๆ ควบคู่ไปกับการหารือกับผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในตลาด นักลงทุนอุตสาหกรรม และสถาบันทางการเงิน เพื่อใช้โอกาสใหม่ๆได้อย่างเต็มที่ และลดความเสี่ยงจากการลงทุนที่มีอยู่เดิม