27 ตุลาคม 2560 : ธนาคารกลางยุโรป (European Central Bank: ECB) ประกาศมาตรการผ่อนคลายนโยบายการเงิน(Quantitative Easing: QE) ตามที่ตลาดคาดในการประชุมวันที่ 26 ตุลาคม 2017 เพื่อสนับสนุนให้ระบบการเงินมีสภาพคล่องต่อเนื่องและผลักดันอัตราเงินเฟ้อให้เข้าสู่เป้าหมายที่ 2% มาตรการดังกล่าว ประกอบด้วย
1. ขยายระยะเวลาการดำเนินมาตรการผ่อนคลายทางการเงินเพิ่มเติม 9 เดือน โดยจากเดิมที่มาตรการจะสิ้นสุดในเดือนธันวาคม 2017 เป็นสิ้นสุดในเดือนกันยายน 2018 ทั้งนี้ อาจมีการขยายระยะเวลาเพิ่มเติมได้หากอัตราเงินเฟ้อและการฟื้นตัวของระบบเศรษฐกิจไม่เป็นไปตามที่ ECB คาด
2. ลดขนาดวงเงินที่จะเข้าซื้อพันธบัตรรัฐบาล โดยจะยังคงวงเงินปริมาณการอัดฉีดต่อเดือนที่ 6 หมื่นล้านยูโร จนถึงเดือนธันวาคม 2017 และลดการอัดฉีดปริมาณเงินต่อเดือนลงเหลือ 3 หมื่นล้านยูโร ซึ่งจะเริ่มต้นในเดือนมกราคม 2018 จนถึงเดือนกันยายน 2018
การตอบสนองของตลาดการเงินไม่ผันผวนนัก เนื่องจาก ECB แสดงมุมมองที่ระมัดระวังต่อแผนการถอนมาตรการผ่อนคลายทางการเงิน ภายหลังนาย มาริโอ ดรากี ประธาน ECB ประกาศดำเนินมาตรการผ่อนคลายทางการเงินเพิ่มเติม อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลระยะยาว 10 ปี ในประเทศเศรษฐกิจหลักของยูโรโซน ได้แก่ เยอรมนี ฝรั่งเศส อิตาลี และสเปน ปรับลดลงโดยเฉลี่ยเพียง 5 bps ลงมาอยู่ที่ 0.45% 0.85% 1.97% และ 1.57% ตามลำดับ
ขณะที่ค่าเงินยูโรอ่อนค่าลงเล็กน้อยที่ 0.4% อยู่ที่ระดับ 1.1777 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อยูโร จากระดับ 1.181 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อยูโร ก่อนการประกาศมาตรการฯ ทั้งนี้ ตลาดการเงินตอบสนองในทิศทางดังกล่าวและไม่ผันผวนนัก เนื่องจากนักวิเคราะห์บางส่วนคาดการณ์ไว้ว่า ECB จะปรับลดวงเงิน QE สู่ระดับ 4 หมื่นล้านยูโร เป็นระยะเวลาเพียง 6 เดือน และจะทำให้ ECB สามารถปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยได้ในช่วงปลายปี 2018
อย่างไรก็ดี การปรับลดวงเงินสู่ระดับ 3 หมื่นล้านยูโร เป็นระยะเวลา 9 เดือน สะท้อนว่า ECB มีมุมมองที่ระมัดระวังต่อแผนการถอนมาตรการผ่อนคลายทางการเงินเป็นอย่างมาก (Dovish stance) และอาจทำให้การเริ่มมาตรการตึงตัวทางการเงินเป็นไปได้ช้า
อีไอซีมองว่า ECB จะเริ่มปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายในช่วงหลังของปี 2019 โดยการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายจะเกิดขึ้นภายหลังจากที่ ECB สิ้นสุดมาตรการเข้าซื้อพันธบัตรรัฐบาล ซึ่งมีแนวโน้มที่จะสิ้นสุดภายในครึ่งแรกของปี 2019 ทั้งนี้ แม้ว่าเศรษฐกิจยูโรโซนที่มีแนวโน้มเติบโตต่อเนื่องและทั่วถึงมากขึ้นจะสนับสนุนให้ ECB สามารถยุติการเข้าซื้อพันธบัตรรัฐบาลและเริ่มมาตรการตึงตัวทางการเงินได้ในช่วงครึ่งหลังของปี 2019 แต่ปัจจัยเสี่ยงที่จะทำให้ ECB อาจไม่สามารถเร่งออกมาตรการตึงตัวทางการเงินได้ตามที่คาด ประกอบด้วย
(1) อัตราเงินเฟ้อที่อยู่ในระดับต่ำกว่าเป้าหมายที่ 2% ซึ่งปัจจุบันอยู่ที่ 1.5% ในเดือนกันยายน (2) ความเสี่ยงต่อการแยกตัวเป็นเอกราชของคาตาโลเนียออกจากสเปน (Catalexit) (3) การเลือกตั้งทั่วไปของอิตาลีที่จะเกิดขึ้นภายในเดือนพฤษภาคม ปี 2018 ซึ่งอาจก่อให้เกิดกระแส anti-establishment ได้หากพรรคที่ต่อต้าน EU ได้รับชัยชนะ (4) การเจรจา Brexit ที่ต้องได้ข้อสรุปภายในเดือนมีนาคม 2019 โดยหากไม่ได้ข้อสรุป UK จำเป็นต้องออกจาก EU ด้วยความสัมพันธ์ภายใต้เงื่อนไขขององค์การการค้าโลก (WTO) ซึ่งเรียกได้ว่าไม่มีอภิสิทธิ์ใดเลยและนับเป็นกรณีที่เลวร้ายที่สุด
ค่าเงินยูโรเทียบดอลลาร์สหรัฐฯ มีแนวโน้มอ่อนค่าลงในปี 2018 ค่าเงินยูโรมีแนวโน้มอ่อนค่าลงจากในระดับปัจจุบันที่1.18 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อยูโร สู่ระดับ 1.15 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อยูโร ในช่วงสิ้นปี 2018 เนื่องจากปัจจัยด้านส่วนต่างระหว่างอัตราดอกเบี้ยนโยบายสหรัฐฯ และยูโรโซนที่กว้างมากขึ้น ตามแนวโน้มการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายของสหรัฐฯ ที่เร็วกว่ายูโรโซน
โดยอีไอซีคาดว่า Fed จะมีการปรับขึ้นอีก 1 ครั้งในการประชุมเดือนธันวาคม 2017 และอีก 3 ครั้งในปี 2018 นอกจากนี้ ความเสี่ยงด้านการเมืองในยุโรป ไม่ว่าจะเป็น Catalexit การเลือกตั้งในอิตาลี และการเจรจา Brexit ก็นับว่าเป็นปัจจัยที่อาจทำให้เงินทุนไหลออกจากยูโรโซนได้เช่นกัน
ค่าเงินบาทเทียบดอลลาร์สหรัฐฯ มีแนวโน้มอ่อนค่าลงในปี 2018 ตามทิศทางการดำเนินนโยบายการเงินแบบตึงตัวของ Fed และ ECB อีไอซีมองว่าค่าเงินบาทจะอยู่ที่ราว 33.5-34.5 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯ ในช่วงสิ้นปี 2018 อ่อนค่าลงจากในปัจจุบันที่ 33.14 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯ
โดยทิศทางการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของ Fed ประกอบกับสภาพคล่องในตลาดการเงินทั่วโลกที่น้อยลง จากทั้งการลดวงเงินสำหรับการอัดฉีดสภาพคล่องของ ECB และการปรับลดงบดุลของ Fed ส่งผลให้อัตราผลตอบแทนพันธบัตร (Bond yield) ของสหรัฐฯและยูโรโซนสูงขึ้นเมื่อเทียบกับไทย เนื่องจากธนาคารแห่งประเทศไทยยังมีแนวโน้มที่จะคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ 1.5% ตลอดปี 2017 และ 2018