ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ ธนาคารไทยพาณิชย์ หรือ อีไอซี เผยถึงบทวิเคราะห์เรื่อง “เพิ่มโอกาสธุรกิจไทย หลังรัฐทุ่มลงทุนรถไฟไทย-จีนเต็มร้อย” ว่า เมื่อวันที่ 23 มีนาคม ที่ผ่านมา พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้ข้อยุติประเด็นการก่อสร้างรถไฟไทย-จีน เส้นทางกรุงเทพฯ-แก่งคอย-นครราชสีมา-หนองคาย ในหลักการ ไทยจะลงทุนดำเนินการเองทุกขั้นตอน โดยไม่มีการให้สัมปทานหรือร่วมลงทุนกับจีน และจะเริ่มสร้างรถไฟเส้นทาง กรุงเทพฯ-นครราชสีมา เป็นอันดับแรก จากนั้นจะขยายไปยังช่วงอื่นต่อไปในอนาคต
ในช่วงที่ผ่านมา ไทยและจีนจัดการประชุมคณะกรรมการร่วมเพื่อความร่วมมือด้านรถไฟมาแล้วทั้งสิ้น 9 ครั้ง แต่การหารือของทั้งสองฝ่ายยังไม่สามารถหาข้อยุติได้จากประเด็นด้านเงินกู้ และสัดส่วนการลงทุนระหว่างไทย-จีน ทำให้โครงการล่าช้ากว่าเป้าหมายเดิมกว่า 1 ปี ดังนั้น การที่ไทยได้ข้อยุติว่าจะดำเนินการเองทั้งหมดในทุกขั้นตอน โดยไม่ร่วมลงทุนกับจีนตามเดิม จึงทำให้โครงการดังกล่าวมีแนวโน้มเริ่มก่อสร้างได้ภายในปี 2016
ทั้งนี้ แม้ว่าจีนจะยังคงเป็นผู้ดำเนินโครงการก่อสร้างหลัก แต่จากการที่ไทยเป็นผู้ลงทุนเอง ส่งผลให้ไทยมีอิสระในการกำหนดเงื่อนไขการประมูลและการก่อสร้างได้เอง ซึ่งจะสร้างผลบวกเพิ่มเติมให้แก่ผู้ประกอบการไทยตลอดทั้ง value chain โดยเฉพาะงานด้านโยธา และงานระบบไฟฟ้า ที่ไทยมีศักยภาพทัดเทียมกับผู้ประกอบการต่างชาติ ทั้งนี้ งานด้านโยธา และระบบเดินรถและขบวนรถไฟในช่วงแรก (กรุงเทพฯ-นครราชสีมา) มีมูลค่าถึง 7.4 และ 4 หมื่นล้านบาท ตามลำดับ นอกจากนี้ ยังไม่รวมถึงธุรกิจท้องถิ่นตามแนวรถไฟพาดผ่านที่จะได้รับอานิสงส์ตามมา
โครงการรถไฟไทย-จีนมีมูลค่ารวมทั้งโครงการกว่า 5 แสนล้านบาท ซึ่งการที่ฝ่ายไทยจะลงทุนด้านการเงินทั้งหมด 100% อาจส่งผลกระทบต่อกรอบวินัยความยั่งยืนทางการคลัง โดยอีไอซีประเมินว่าเงินที่ไทยต้องลงทุนเพิ่มขึ้นทั้งโครงการจะเพิ่มหนี้สาธารณะต่อ GDP ราว 1.5% และเมื่อผนวกกับโครงการเมกะโปรเจกต์อื่นๆ ของภาครัฐ อาจทำให้ยอดหนี้สาธารณะต่อ GDP ของไทยมีค่าเกิน 50% ในอีก 3 ปีข้างหน้า ซึ่งเป็นระดับที่ค่อนข้างน่ากังวล จึงทำให้การจัดตั้งกองทุนโครงสร้างพื้นฐานเพื่ออนาคตประเทศไทย (Thailand Future Fund: TFF) เพื่อใช้เป็นช่องทางในการระดมทุนด้านโครงสร้างพื้นฐานโดยไม่กระทบกับหนี้สาธารณะยิ่งมีความจำเป็นมากยิ่งขึ้น
อย่างไรก็ดี เนื่องจากแผนการก่อสร้างใหม่จะทยอยก่อสร้างในบางเส้นทาง ต่างจากการก่อสร้างทุกเส้นทางในเวลาไล่เลี่ยกันเหมือนแผนการก่อนหน้า ทำให้ภาครัฐยังคงมีเวลาในการแสวงหาผลิตภัณฑ์ทางการเงินใหม่ๆ เพิ่มเติม เพื่อตอบโจทย์ความต้องการด้านเงินทุนของประเทศโดยที่ไม่กระทบวินัยทางการเงินการคลัง