16 ตุลาคม 2560 : นางกุลณี อิศดิศัย อธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กล่าวว่า สถิติการจดทะเบียนธุรกิจเดือน ก.ย.60 มีผู้ประกอบธุรกิจยื่นขอจดทะเบียนห้างหุ้นส่วนบริษัทจัดตั้งใหม่ทั่วประเทศจำนวน 6,532 ราย ลดลง 627 ราย หรือ 9% จากเดือน ส.ค.60 ที่มีจำนวน 7,159 ราย แต่เพิ่มขึ้น 456 ราย หรือ 8% จากเดือน ก.ย.59
โดยมีนิติบุคคลที่จดทะเบียนเลิกจำนวน 1,717 ราย ลดลง 38 ราย หรือ 2% จากเดือน ส.ค.60 ที่มีจำนวน 1,755 ราย และลดลง 132 ราย หรือ 7% จากเดือน ก.ย.59 ที่มีจำนวน 1,849 ราย ขณะที่มูลค่าทุนจดทะเบียนจัดตั้งใหม่ในเดือน ก.ย.60 มีจำนวนทั้งสิ้น 31,628 ล้านบาท ลดลง 15,726 ล้านบาท หรือ 33% จากเดือน ส.ค.60 ที่มีจำนวน 47,354 ล้านบาท แต่เพิ่มขึ้นจำนวน 9,199 ล้านบาท หรือ 41% จากเดือน ก.ย.59 ที่มีจำนวน 22,429 ล้านบาท
สำหรับประเภทธุรกิจที่มีการประกอบธุรกิจใหม่สูงสุด 5 อันดับแรก ได้แก่ ธุรกิจก่อสร้างอาคารทั่วไป จำนวน 522ราย รองลงมาคือธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ จำนวน 442 ราย ธุรกิจภัตตาคาร/ร้านอาหาร จำนวน 191 ราย ธุรกิจร้านขายปลีกเครื่องประดับ จำนวน 143 ราย และธุรกิจการขนส่งสินค้ารวมถึงคนโดยสาร จำนวน 138 ราย ตามลำดับ ส่งผลให้มีห้างหุ้นส่วนบริษัทจดทะเบียนจัดตั้งทั้งสิ้น (ณ 30 ก.ย.60) จำนวน 1,415,923 ราย มูลค่าทุนจดทะเบียนรวม 21.73 ล้านล้านบาท
โดยมีห้างหุ้นส่วนบริษัทที่ดำเนินกิจการอยู่ทั่วประเทศจำนวน 671,540 ราย มูลค่าทุนจดทะเบียน 15.87 ล้านล้านบาท แบ่งเป็น บริษัทจำกัด 491,076 ราย บริษัทมหาชนจำกัด 1,178 ราย และห้างหุ้นส่วนจำกัด/ห้างหุ้นส่วนสามัญนิติบุคคล 179,286 ราย
ขณะที่ผลการจดทะเบียนธุรกิจไตรมาส 3/2560 มีการจดทะเบียนจัดตั้งห้างหุ้นส่วนบริษัทจำนวน 19,670 ราย เพิ่มขึ้น 2,530 ราย หรือ 15% จากไตรมาส 2 (เม.ย.-มิ.ย.) และเพิ่มขึ้น 2,475 ราย หรือ 14% จากช่วงไตรมาสเดียวกันของปีก่อน (ก.ค.-ก.ย.59) โดยประเภทธุรกิจที่จัดตั้งสูงสุด ได้แก่ ธุรกิจก่อสร้างอาคารทั่วไป รองลงมาธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ และธุรกิจภัตตาคาร /ร้านอาหาร ส่วนการจดทะเบียนเลิกในไตรมาส 3/2560 (ก.ค.-ก.ย.) มีจำนวน 5,098 ราย เพิ่มขึ้น 1,598 ราย หรือ 46% จากไตรมาส 2 (เม.ย.-มิ.ย.) ที่ผ่านมา โดยประเภทธุรกิจที่จดทะเบียนเลิกสูงสุดได้แก่ ธุรกิจก่อสร้างอาคารทั่วไป รองลงมาธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ และธุรกิจค้าสลาก
นางกุลณี กล่าวว่า ช่วง 9 เดือนที่ผ่านมา (ม.ค.-ก.ย.60) มีการจดทะเบียนจัดตั้งห้างหุ้นส่วนบริษัท จำนวน 55,612 ราย มีมูลค่าจดทะเบียนทั้งสิ้น 264,521 ล้านบาท ซึ่งมีจำนวนนิติบุคคลจดทะเบียนจัดตั้งใหม่เพิ่มขึ้น 6,625 ราย หรือ 14% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน (ม.ค.-ก.ย.59) ที่มีจำนวน 48,987 ราย เนื่องจากได้รับปัจจัยสนับสนุนจากเศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มขยายตัวได้ดีกว่าที่คาดการณ์ไว้ หลังภาคการส่งออก ภาคการท่องเที่ยว และสัญญาณการพื้นตัวกำลังซื้อในประเทศดีขึ้นตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก
ซึ่งสอดคล้องกับที่ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ได้ปรับประมาณการตัวเลขผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ปีนี้เป็น 3.8% ประกอบกับคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ได้มีมติให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ 1.5% ต่อปี โดยเป็นการคงดอกเบี้ยติดต่อกัน 53 เดือน เนื่องจากประเมินว่าเศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มขยายตัวอย่างชัดเจน จึงส่งผลให้ผู้ประกอบการเกิดความเชื่อในการลงทุนมากขึ้นในปีนี้