6 ตุลาคม 2560 : เมื่อวันที่ 2 ตุลาคม 2560 กลุ่ม 7 สมาคมผู้ประกอบการอุตสาหกรรมเหล็กไทย ได้แก่ (1) สมาคมเหล็กแผ่นรีดร้อนไทย (2) สมาคมเหล็กแผ่นรีดเย็นไทย (3) สมาคมผู้ผลิตท่อโลหะและแปรรูปเหล็กแผ่น (4) สมาคมผู้ผลิตเหล็กทรงยาวด้วยเตาอาร์คไฟฟ้า (5) สมาคมผู้ผลิตเหล็กโครงสร้างรูปพรรณรีดร้อน (6) สมาคมผู้ผลิตเหล็กแผ่นเคลือบสังกะสี และ (7) สมาคมโลหะไทย นำโดย นายวิกรม วัชรคุปต์ ประธานกลุ่มอุตสาหกรรมเหล็ก สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ในฐานะที่ปรึกษากลุ่ม 7 สมาคม เข้าพบนายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เพื่อนำเสนอปัญหาของผู้ประกอบการอุตสาหกรรมเหล็กไทย และเรียกร้องให้มีการใช้เหล็กที่ผลิตในประเทศสำหรับโครงการก่อสร้างระบบคมนาคมขนส่ง ของกระทรวงคมนาคม
นายวิกรม กล่าวว่า ขณะนี้อุตสาหกรรมเหล็กไทยกำลังประสบปัญหาการใช้อัตรากำลังการผลิตที่ต่ำมาก โดยเฉพาะผลิตภัณฑ์เหล็กทรงยาว เช่น เหล็กเส้น เหล็กลวด ที่ใช้สำหรับงานก่อสร้าง อัตรากำลังการผลิตเฉลี่ยไม่ถึงร้อยละ 40 ในขณะที่ประเทศเพื่อนบ้านอย่างเวียดนามมีปริมาณการบริโภคเหล็กแซงหน้าประเทศไทยไปแล้ว เนื่องจากการก่อสร้างโครงการพื้นฐานของเวียดนามมีการขยายตัวอย่างรวดเร็ว
นายวิกรม กล่าวอีกว่า อุตสาหกรรมเหล็กเป็นอุตสาหกรรมพื้นฐานที่สำคัญของประเทศ เนื่องจากเป็นผู้ผลิตวัตถุดิบให้กับอุตสาหกรรมต่อเนื่องจำนวนมาก ดังนั้นรัฐบาลควรส่งเสริมให้มีการใช้วัสดุเหล็กที่ผลิตในประเทศในงานก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานภาครัฐ เช่น โครงการก่อสร้างอาคารผู้โดยสารสนามบินสุวรรณภูมิ โครงการก่อสร้างโรงไฟฟ้า โรงกลั่นน้ำมัน และ โครงการก่อสร้างสะพาน เพื่อช่วยพัฒนาผู้ผลิตในประเทศให้เกิดการต่อยอดการพัฒนาผลิตภัณฑ์และนวัตกรรมเหล็กใหม่ๆ
“ในอนาคตรถไฟระบบรางมีแนวโน้มที่จะเปลี่ยนไปเป็นรถไฟฟ้าระบบราง ประเทศไทยสามารถอาศัยความได้เปรียบของการเป็นฐานการผลิตรถยนต์และชิ้นส่วนที่เข้มแข็ง ต่อยอดไปสู่อุตสาหกรรมการผลิตชิ้นส่วนและส่วนประกอบรถไฟ ปัจจุบันเราส่งออกเศษเหล็กที่เป็นเหล็กกล้าไร้สนิมนับแสนตัน ซึ่งเศษเหล็กเหล่านี้สามารถนำมาแปรรูปผลิตเป็นล้อและเพลาของรถไฟได้” นายวิกรม กล่าว
นายชัยเฉลิม บุญญานุวัตร ผู้แทนจากสมาคมผู้ผลิตเหล็กทรงยาวด้วยเตาอาร์คไฟฟ้า ชี้แจงว่าสำหรับโครงการรถไฟความเร็วสูงไทย-จีน เฟสแรก ซึ่งกำหนดให้ใช้มาตรฐานสินค้าเหล็กของจีนเป็นหลัก นั้น ผู้ผลิตในประเทศมีความสามารถในการผลิตเหล็กเส้นกลมและเหล็กข้ออ้อย ตามมอก.บังคับของไทย แต่จำเป็นต้องขออนุญาตทำผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมที่แตกต่างไปจาก มอก.บังคับของไทย ซึ่งต้องใช้ระยะเวลาขออนุมัติจากทางสมอ.ทุกครั้งก่อน อันอาจส่งผลต่อระยะเวลาการส่งมอบสินค้า จึงเสนอให้กระทรวงคมนาคมพิจารณาให้ใช้สินค้าที่ผลิตตามมอก.บังคับของประเทศไทยเป็นหลัก
ขณะที่นายเภา บุญเยี่ยม เลขาธิการสมาคมเหล็กโครงสร้างรูปพรรณรีดร้อนเหล็ก ชี้ประเด็นปัญหาการนำเข้าเหล็กโครงสร้างประกอบสำเร็จ (Prefabricated Structure Steel) ที่ยังไม่มีมาตรฐานควบคุม มีปริมาณสูงขึ้น โดยในช่วง 8 เดือนแรกของปี 2560 นำเข้ามาแล้วกว่า 64,000 ตัน สูงกว่าช่วงเดียวกันของปีก่อนถึง 9% และมีแนวโน้มการนำเข้าเพิ่มสูงขึ้น ซึ่งเหล็กโครงสร้างดังกล่าวยังไม่มีมาตรฐานรองรับ ผู้นำเข้าอาจใช้เหล็กด้อยคุณภาพหรือไม่เป็นไปตาม มอก. มาเป็นส่วนประกอบ อาจเกิดความไม่ปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของประชาชนในอนาคต
“เหตุที่มีการนำเหล็กเหล็กโครงสร้างประกอบสำเร็จเข้ามาขายในประเทศจำนวนมาก เพราะผู้นำเข้ามองเห็นช่องว่างด้านพิกัดศุลกากรที่สามารถนำเข้ามาโดยไม่ต้องเสียภาษีและอากรตอบโต้การทุ่มตลาด ซึ่งเป็นการใช้เทคนิคการเลี่ยงภาษีและอากรแบบหนึ่ง ดังนั้น การนำเข้าเหล็กโครงสร้างประกอบสำเร็จ นอกจากจะกระทบกับภาพรวมด้านเศรษฐกิจที่ไม่ก่อให้เกิดการจ้างงาน และส่งผลกระทบต่อกลุ่ม Fabricator และ Supply Chain ในประเทศแล้ว ยังทำให้ประเทศขาดรายได้จากการจัดเก็บภาษีและอากรทางการค้าด้วย รวมทั้งอาจมีความเสี่ยงในด้านความไม่ปลอดภัยต่อชีวิตและทรัพย์ของประชาชนหากใช้เหล็กโครงสร้างประกอบสำเร็จจากต่างประเทศที่ไม่มีมาตรฐานกำกับควบคุม” นายเภากล่าว
นายอนุวัฒน์ หวังวณิชชากร อุปนายกสมาคมเหล็กแผ่นรีดเย็นไทย กล่าวว่า ตามมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (มอก.) ของประเทศไทย สมาชิกของกลุ่ม 7 สมาคมฯ สามารถผลิตสินค้าเหล็กได้ครบทั้งหมด 20 มอก.บังคับ และอีก 32 มอก.ทั่วไป ซึ่งครอบคลุมวัสดุเหล็กส่วนใหญ่ที่ใช้ในการก่อสร้าง และอุตสาหกรรมต่างๆ จึงเสนอให้รัฐบาล และกระทรวงคมนาคมพิจารณานโยบาย Make in Thailand ส่งเสริมการใช้สินค้าเหล็กภายในประเทศไทย
โดยยกตัวอย่าง สหรัฐอเมริกาใช้นโยบาย Buy America กำหนดเงื่อนไขผลิตภัณฑ์เหล็กที่ใช้ว่าจะต้องมีกระบวนการผลิตในประเทศตั้งแต่ขั้นตอนการผลิตเหล็กกล้า (Steel Making) จนเป็นผลิตภัณฑ์เหล็กสำเร็จรูป (Melted & Poured Standard) และ มาตรา 232 (Section 232) จำกัดการนำเข้าสินค้าเหล็กที่มีผลกระทบต่อความมั่นคงของชาติ หรือประเทศอินเดียที่ประกาศนโยบาย Make in India สนับสนุนผู้ผลิตเหล็กในประเทศเป็นลำดับแรกในการจัดซื้อจัดจ้างงานโครงการภาครัฐ มีการกำหนดสัดส่วนการใช้เหล็กในประเทศ (Local Content) ถึงร้อยละ 50 เป็นต้น
ภายหลังรับฟังปัญหาและข้อเสนอของผู้แทน 7 สมาคม นายอาคมกล่าวยืนยันว่า กระทรวงคมนาคมมีนโยบายชัดเจนอยู่แล้วที่จะสนับสนุนการใช้วัสดุที่ผลิตในประเทศเป็นลำดับแรกก่อน
ในส่วนของโครงการรถไฟความเร็วสูงไทย-จีน เฟสแรก การรถไฟแห่งประเทศไทยได้พิจารณาให้สามารถใช้สินค้าเหล็กเส้นกลม และเหล็กเส้นข้ออ้อยตามมาตรฐานไทยได้ โดยควบคุมสินค้าให้มีคุณสมบัติสอดคล้องกับมาตรฐานประเทศจีน
โครงการรถไฟฟ้ามหานคร สายสีชมพู (แคราย-มีนบุรี) และสายสีเหลือง (ลาดพร้าว-สำโรง) ก็ได้กำหนดร่างขอบเขตงาน (TOR) ให้ใช้วัสดุในประเทศ (Local Content) มากถึงร้อยละ 90
ขณะที่นายชาติชาย ทิพย์สุนาวี ปลัดกระทรวงคมนาคม กล่าวย้ำนโยบายสนับสนุนการใช้เหล็กในประเทศ โดยนอกเหนือจากเรื่องคุณภาพและมาตรฐานสินค้าแล้ว ขอให้ผู้ประกอบการอุตสาหกรรมเหล็กไทยพิจารณาเรื่องของราคาที่แข่งขันได้และสามารถผลิตได้อย่างเพียงพอกับความต้องการด้วย
นายนาวา จันทนสุรคน นายกสมาคมผู้ผลิตเหล็กแผ่นรีดร้อนไทย แสดงความยินดีที่กระทรวงคมนาคมมีนโยบายชัดเจนในการส่งเสริมการใช้วัสดุเหล็กในประเทศ โดยจะระบุใน TOR ของโครงการต่างๆ ต่อไป พร้อมกำหนดใช้วัสดุตามมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (มอก.) ของประเทศไทยเป็นหลัก หลังจากได้ความมั่นใจจากท่านรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมแล้ว ผู้ประกอบการอุตสาหกรรมเหล็กในประเทศจะติดตามการขับเคลื่อนในเรื่องดังกล่าว เพื่อมีส่วนร่วมในโครงการคมนาคมและขนส่งของภาครัฐ
สำหรับประเด็นที่ กระทรวงคมนาคมเป็นห่วงว่าผู้ผลิตในไทยจะสามารถเพิ่มปริมาณการผลิตได้เพียงพอหรือไม่ ขอเรียนยืนยันว่าสามารถผลิตได้เพียงพออย่างแน่นอน เพราะปัจจุบันในภาพรวมผู้ผลิตในประเทศยังเหลือกำลังการผลิตอีกมาก