6 ตุลาคม 2560 : ดร.สุทธิพล ทวีชัยการ เลขาธิการคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) เปิดเผยว่า สำนักงาน คปภ. ได้มีการปรับปรุงกฎหมายแม่บทว่าด้วยการประกันภัย ซึ่งเป็นการยกร่างพระราชบัญญัติประกันชีวิต พ.ศ…. และพระราชบัญญัติประกันวินาศภัย พ.ศ… เพื่อแก้ไขปัญหาอันเกิดจากการบังคับใช้กฎหมายในปัจจุบัน เป็นการยกระดับมาตรฐานการกำกับดูแลธุรกิจประกันภัย รองรับการเข้ารับการประเมินการปฏิบัติตามมาตรฐานการกำกับดูแลธุรกิจประกันภัย ซึ่งกำหนดโดยสมาคมผู้กำกับดูแลธุรกิจประกันภัยนานาชาติ ในปลายปี 2561 ที่จะถึงนี้
นอกจากนี้ยัง คปภ.ได้นำร่างกฎหมายดังกล่าวเสนอต่อคณะกรรมการ คปภ. และได้รับความเห็นชอบในหลักการตามที่ สำนักงาน คปภ. เสนอ โดยคณะกรรมการ คปภ. ได้ให้จัดหมวดหมู่ของประเด็นการแก้ไขกฎหมาย และแยกเป็นการแก้ไขกฎหมายฉบับเพิ่มเติม เพื่อให้เกิดความรวดเร็วในกระบวนการตรากฎหมาย ดังนั้น การแบ่งกลุ่มบทบัญญัติจึงได้แบ่งตามเนื้อหาที่มีความเกี่ยวข้องกัน เป็น 3 กลุ่ม ประกอบด้วย
กลุ่มที่ 1 มุ่งเน้นให้ความคุ้มครองประชาชนโดยตรง ซึ่งมีการกำหนดเกี่ยวกับการฉ้อฉลประกันภัย ปรับปรุงการกำกับดูแลการปฏิบัติหน้าที่ของคนกลางประกันภัย ได้แก่ ตัวแทนประกันภัย นายหน้าประกันภัย และผู้ประเมินวินาศภัยให้เข้มข้นขึ้น ตลอดจนเปิดโอกาสให้ธุรกิจประกันภัย สามารถใช้วิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ในการประกอบธุรกิจประกันภัย สำหรับบทบัญญัติในกลุ่มที่ 1 นี้ได้ผ่านความเห็นชอบในหลักการจากคณะรัฐมนตรี (ครม.) และขณะนี้อยู่ระหว่างการพิจารณาของคณะกรรมการกฤษฎีกา
กลุ่มที่ 2 การเสริมสร้างเสถียรภาพและความมั่นคงของบริษัท กำหนดให้บริษัทต้องมีการกำกับดูแลกิจการที่ดี แหล่งที่มาของเงินทุนมีความโปร่งใส เพื่อเสริมสร้างความมั่งคงของบริษัทในระยะยาว อีกทั้งในการกำกับดูแลตามความเสี่ยงของบริษัทหน่วยงานกำกับดูแลต้องมีกระบวนการแก้ไขฐานะการเงินและดำเนินงานที่ชัดเจนเป็นขั้นเป็นตอน อย่างเพียงพอตามความเหมาะสม
กลุ่มที่ 3 การส่งเสริมการควบโอนกิจการและความรับผิดของกรรมการและผู้มีอำนาจในการจัดการ ในกรณีแสวงหาประโยชน์อันมิชอบ หรือปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ ส่งผลกระทบต่อบริษัท ผู้เอาประกันภัยหรือประชาชน
สำหรับแนวทางการปรับปรุงในกลุ่มที่ 2 และกลุ่มที่ 3 นั้นได้มีการปรับปรุงเนื้อหาให้สอดคล้องกับมาตรฐานสากล ด้านการกำกับดูแลการประกอบธุรกิจประกันภัยตามที่ธนาคารโลกได้ให้ข้อสังเกตไว้ 2 ประเด็น เกี่ยวกับการดำรงตำแหน่งของ Key Control Function หรือผู้มีอำนาจในการจัดการของบริษัทประกันภัย และอำนาจในการเปิดเผยและเปลี่ยนข้อมูลของหน่วยงานกำกับดูแล อีกด้วย
ดังนั้น เพื่อให้การปรับปรุงร่างพระราชบัญญัติประกันชีวิต และร่างพระราชบัญญัติประกันวินาศภัยมีความครอบถ้วนสมบูรณ์ คปภ.จัดสัมมนาเพื่อสร้างความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับร่างกฎมายดังกล่าว เป็นครั้งที่ 5 เพื่อชี้แจงทำความเข้าใจสาระสำคัญของร่างพระราชบัญญัติประกันชีวิต และร่างพระราชบัญญัติประกันวินาศภัย ในกลุ่มที่ 1 ซึ่งได้ผ่านความเห็นชอบในหลักการจากคณะรัฐมนตรี (ครม.) และขณะนี้อยู่ระหว่างการพิจารณาของคณะกรรมการกฤษฎีกา รวมทั้งชี้แจงสาระสำคัญเกี่ยวกับหลักการของร่างพระราชบัญญัติประกันชีวิต และร่างพระราชบัญญัติประกันวินาศภัย ร่างกฎหมายในกลุ่มที่ 2
ตลอดจนรับฟังความคิดเห็นสาธารณะผ่านทางเว็บไซต์ของ สำนักงาน คปภ.ระหว่างวันที่ 6 ตุลาคมถึง 6 พฤศจิกายน 2560 ซึ่งการสัมมนาครั้งนี้มีผู้เข้าร่วมสัมมนากว่า 300 คนประกอบด้วย ผู้แทนจากสมาคมประกันชีวิตไทย สมาคมประกันวินาศภัยไทย สมาคมตัวแทนประกันชีวิตและที่ปรึกษาการเงิน สมาคมนายหน้าประกันภัยไทย สมาคมนักคณิตศาสตร์ประกันภัยแห่งประเทศไทย สภาวิชาชีพบัญชี สมาคมธนาคารไทย ผู้แทนบริษัทประกันภัย ผู้แทนกองทุนประกันชีวิต ผู้แทนกองทุนประกันวินาศภัย ผู้แทนบริษัทที่ปรึกษากฎหมาย ผู้แทนบริษัทที่ปรึกษาบัญชี ผู้บริหารและพนักงาน สำนักงาน คปภ. และประชาชนที่สนใจ