คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบโครงการบ้านประชารัฐ เพื่อสร้างโอกาสให้ประชาชนทั่วไปที่มีรายได้น้อย รวมทั้งข้าราชการพลเรือน ทหาร ตำรวจ และบุคลากรทางการศึกษา ที่ไม่เคยมีกรรมสิทธิ์ในที่อยู่อาศัยมาก่อนให้สามารถมีที่อยู่อาศัยเป็นของตนเองในราคาที่ไม่เกิน 1.5 ล้านบาท โดยให้ธนาคารอาคารสงเคราะห์ ธนาคารออมสิน และธนาคารกรุงไทยสนับสนุนสินเชื่อที่อยู่อาศัยสำหรับประชาชน (post finance) เพื่อการกู้ซื้อ ปลูกสร้าง ซ่อมแซม/เพิ่มเติม และรวมถึงการซื้อทรัพย์ NPA ของธนาคารที่เข้าร่วมโครงการ มีวงเงิน 40,000 ล้านบาท ในระยะเวลา 2 ปี
โดยให้อัตราดอกเบี้ยระดับต่ำและผ่อนปรนสัดส่วนความสามารถชำระหนี้ต่อรายได้ (Debt Service Ratio หรือ DSR) เพิ่มขึ้นแต่ไม่เกิน 50% ของรายได้สุทธิต่อเดือนกรณีลูกค้ารายย่อย ทั้งนี้ กรณีลูกค้าสวัสดิการที่ทำข้อตกลงหักเงินเดือนกับธนาคารจะใช้ DSR ที่ 80% ของรายได้สุทธิ และสินเชื่อเพื่อการพัฒนาที่อยู่อาศัยสำหรับผู้ประกอบการที่เข้าร่วมโครงการมีวงเงินอีก 30,000 ล้านบาท โดยให้อัตราดอกเบี้ยต่ำที่ 4% ต่อปี ในระยะเวลา 2 ปี
มาตรการนี้ นอกจากจะช่วยกระตุ้นตลาดที่อยู่อาศัยระดับล่าง ซึ่งปัจจุบันมีอัตราการขายได้ช้าลงและจำนวนเหลือขายสูงประมาณ 33% ของทั้งตลาดแล้ว ยังช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจจากการใช้จ่ายในอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องอีกด้วย ณ สิ้นปี 2015 ตลาดที่อยู่อาศัยในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑลมีอัตราการขายที่อยู่อาศัยระดับล่างช้าลงค่อนข้างมากจากเฉลี่ย 10% ต่อเดือนในปี 2014 เหลือเพียง 5% ต่อเดือนในปี 2015 โดยจำนวนหน่วยเหลือขายที่ระดับราคาต่ำกว่า 2 ล้านบาท ทั้งหมด 55,300 หน่วย และในส่วนของหน่วยเหลือขายที่ระดับราคาต่ำกว่า 1 ล้านบาท ประมาณ 10,550 หน่วย ซึ่งเกือบทั้งหมดเป็นหน่วยเหลือขายจากตลาดคอนโดมิเนียมถึง 9,700 หน่วย
ทั้งนี้ บริเวณที่มีหน่วยเหลือขายมากสุด 3 ลำดับแรก คือ รังสิต คลอง 1-7, บางพูน และบางกอกน้อย-บางกอกใหญ่ ขณะที่หน่วยเหลือขายที่ระดับราคา 1-2 ล้านบาท อีกกว่า 44,750 หน่วย ซึ่งส่วนใหญ่เป็นคอนโดมิเนียมประมาณ 24,500 หน่วย โดยบริเวณแรกที่มีหน่วยเหลือขายมากสุด 3 ลำดับแรก คือ รัตนาธิเบศร์, วงแหวนรอบนอก-เพชรเกษมและบางขัน-คลองหลวง และหน่วยเหลือขายจากทาวน์เฮ้าส์อีก 19,200 หน่วย โดยบริเวณที่มีหน่วยเหลือขายมากสุด 3 ลำดับแรก คือ บางนา-ตราด กม.10-30, ลำลูกกา และป้อมพระจุล ในขณะที่บ้านเดี่ยวมีสัดส่วนของหน่วยเหลือขายที่ค่อนข้างน้อยประมาณ 2% ของหน่วยเหลือขายทั้งหมดที่ระดับราคาต่ำกว่า 2 ล้านบาท นอกจากนี้ มาตรการดังกล่าวจะส่งผลดีต่อธุรกิจเกี่ยวเนื่อง ได้แก่ วัสดุก่อสร้าง ประกันภัย เครื่องใช้ไฟฟ้า และเฟอร์นิเจอร์ ที่จะได้รับผลพลอยได้จากโครงการดังกล่าว
ผู้มีรายได้น้อยจะมีโอกาสซื้อที่อยู่อาศัยมากขึ้น แต่อาจจะมีจำนวนไม่มากนัก เนื่องจากกลุ่มนี้มีระดับหนี้ค่อนข้างสูงอยู่แล้ว โดยกลุ่มผู้มีรายได้น้อยมีหนี้สินต่อรายได้ในระดับที่ค่อนข้างสูง ซึ่งจะทำให้ขอสินเชื่อได้ยาก แม้ว่าจะมีการผ่อนปรนเพดานหนี้ต่อรายได้เพิ่มขึ้นแล้วก็ตาม ทั้งนี้ อีไอซีมองว่า มาตรการจะช่วยกระตุ้นตลาดได้มาก เนื่องจากโครงการไม่จำกัดเงื่อนไขด้านรายได้และผู้ร่วมโครงการ ซึ่งจะได้รับประโยชน์สูงสุดทั้งในด้านอัตราดอกเบี้ยระดับต่ำที่ลดลงจากสถาบันการเงินที่ยื่นขอสินเชื่อ รวมทั้งค่าใช้จ่ายและส่วนลดของราคาขายที่อยู่อาศัยหรือส่วนลดพิเศษ ค่าธรรมเนียมจดทะเบียนการโอนอสังหาริมทรัพย์ ค่าธรรมเนียมจดทะเบียนการจำนอง และภาระค่าใช้จ่ายส่วนกลางในปีที่ 1 จากผู้ประกอบการที่จะรับผิดชอบให้ทั้งหมด
จับตาระดับหนี้ครัวเรือนที่อาจจะเพิ่มขึ้นและเร่งตัวเร็วขึ้น โดยโครงการบ้านประชารัฐราคาไม่เกิน 1.5 ล้านบาทนี้ ถือเป็นนโยบายเพิ่มเติมในการเพิ่มความต้องการซื้อที่อยู่อาศัยในตลาดอสังหาฯ ภายหลังมาตรการกระตุ้นอสังหาฯ ที่ให้ผลประโยชน์ทางด้านภาษี สำหรับที่อยู่อาศัยราคาไม่เกิน 3 ล้านบาท ที่ออกมาในช่วงปลายปี 2015 และจะสิ้นสุดในสิ้นปี 2016
อีไอซีมองว่า ทั้งสองมาตรการสามารถช่วยกระตุ้นตลาดอสังหาฯ และเศรษฐกิจในระยะสั้นได้ดี แต่อาจจะต้องจับตามองระดับหนี้ที่อาจจะเพิ่มเติมเข้ามาจากการจับจ่ายซื้อเฟอร์นิเจอร์และเครื่องใช้ไฟฟ้าที่ตามมาด้วย ซึ่งอาจจะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจในภาคการบริโภคที่อาจจะลดลงในระยะยาว เนื่องจากการประชาชนมีภาระหนี้สินที่เพิ่มขึ้นทำให้กำลังการจับจ่ายใช้สอยลดลงตามไปด้วย
ที่มา : Economic Intelligence Center (EIC)
ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน)