WELCOME TO SEQUEL ONLINE (ซีเคว้ล ออนไลน์)
วันอังคาร ที่ 26 พฤศจิกายน 2567 ติดต่อเรา
กนง.มีมติเอกฉันท์…คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ 1.5% ##

28 กันยายน 2560 : ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ในวันที่ 27 ก.ย.60 มีมติเป็นเอกฉันท์ให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ 1.50% ต่อปี โดยในการประชุมครั้งนี้มีกรรมการ 1 ท่านลาประชุม

ทั้งนี้ คณะกรรมการฯ เห็นว่า ระบบการเงินโดยรวมมีเสถียรภาพ แต่ยังต้องติดตามความเสี่ยงในบางจุดที่อาจจะสร้างความเปราะบางให้กับเสถียรภาพระบบการเงินได้ในอนาคต โดยเฉพาะพฤติกรรมแสวงหาผลตอบแทนที่สูงขึ้นในภาวะอัตราดอกเบี้ยต่ำเป็นเวลานาน ซึ่งอาจนำไปสู่การประเมินความเสี่ยงต่ำกว่าที่ควร

นอกจากนี้ ยังต้องติดตามความสามารถในการชำระหนี้ของภาคครัวเรือนและธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SME) โดยเฉพาะธุรกิจ SME ที่ได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงของปัจจัยเชิงโครงสร้างและรูปแบบการทำธุรกิจ

คุณจาตุรงค์ จันทรังษ์01

ขณะที่มองไปข้างหน้า การขยายตัวของเศรษฐกิจไทยในภาพรวมมีแนวโน้มชัดเจนมากขึ้น โดยเฉพาะจากปัจจัยด้านต่างประเทศ ในขณะที่ยังต้องติดตามความเข้มแข็งของการฟื้นตัวของอุปสงค์ในประเทศ

ดังนั้น คณะกรรมการฯ จึงเห็นว่านโยบายการเงินควรอยู่ในระดับผ่อนปรนต่อไป โดยพร้อมใช้เครื่องมือเชิงนโยบายที่มีอยู่เพื่อสนับสนุนให้เศรษฐกิจขยายตัวได้อย่างต่อเนื่อง ควบคู่กับการรักษาเสถียรภาพการเงินของประเทศ

“ในการตัดสินนโยบาย คณะกรรมการฯ ประเมินว่าเศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มขยายตัวได้ดีกว่าที่ประเมินไว้เดิมจากการขยายตัวของการส่งออกสินค้าและบริการ รวมทั้งอุปสงค์ในประเทศที่ฟื้นตัวต่อเนื่องและเริ่มกระจายตัวมากขึ้น อัตราเงินเฟ้อทั่วไปมีแนวโน้มปรับสูงขึ้นแต่ในอัตราที่ชะลอลงกว่าประมาณการเดิมจากปัจจัยด้านอุปทานโดยเฉพาะราคาอาหารสดเป็นสำคัญ ขณะที่ภาวะการเงินโดยรวมยังอยู่ในระดับผ่อนคลายและเอื้อต่อการขยายตัวของเศรษฐกิจ คณะกรรมการฯ เห็นว่านโยบายการเงินที่ผ่อนคลายในระดับปัจจุบันมีส่วนช่วยสนับสนุนการขยายตัวของเศรษฐกิจและเอื้อให้อัตราเงินเฟ้อทั่วไปกลับสู่เป้าหมายได้แม้อาจต้องใช้เวลาอีกระยะหนึ่ง จึงเห็นควรให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้” นายจาตุรงค์ จันทรังษ์ เลขานุการกนง. กล่าว

ทั้งนี้เศรษฐกิจไทยในภาพรวมมีแนวโน้มขยายตัวชัดเจนขึ้น จากการส่งออกสินค้าและการท่องเที่ยวที่เพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก ส่วนการบริโภคภาคเอกชนขยายตัวสูงขึ้นในหมวดบริการและสินค้าคงทน แม้โดยรวมจะยังมีแนวโน้มขยายตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไปตามกำลังซื้อที่ยังไม่เข้มแข็งนัก โดยเฉพาะของกลุ่มผู้มีรายได้น้อยที่รายได้ยังไม่ฟื้นตัวชัดเจน การลงทุนภาคเอกชนในหมวดเครื่องจักรและอุปกรณ์ปรับดีขึ้นในหลายธุรกิจ และมีแนวโน้มขยายตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไป ขณะที่การลงทุนภาครัฐยังเป็นแรงขับเคลื่อนเศรษฐกิจ แม้จะชะลอลงบ้างในระยะสั้น หลังจากเร่งเบิกจ่ายไปในช่วงก่อนหน้า

นายจาตุรงค์ กล่าวต่อว่า เศรษฐกิจไทยยังเผชิญกับความเสี่ยงจากปัจจัยภายในและภายนอกประเทศ ที่ต้องติดตามพัฒนาการต่อไปอย่างใกล้ชิด อาทิ ผลกระทบจากมาตรการจัดระเบียบแรงงานต่างด้าว ความไม่แน่นอนของนโยบายเศรษฐกิจและการค้าของสหรัฐฯ และความเสี่ยงด้านภูมิรัฐศาสตร์

อัตราเงินเฟ้อทั่วไปปรับสูงขึ้นช้ากว่าที่ประเมินไว้เดิมเล็กน้อย จากราคาอาหารสด ที่ปรับลดลงตามผลผลิตผัก และผลไม้ที่เพิ่มสูงขึ้นตามสภาวะอากาศที่เอื้ออำนวย ขณะที่แรงกดดันเงินเฟ้อด้านอุปสงค์ยังอยู่ในระดับต่ำ รวมทั้งยังต้องเผชิญกับการเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้างที่ส่งผลให้อัตราเงินเฟ้อเพิ่มขึ้นได้ช้ากว่าในอดีต ทั้งนี้ อัตราเงินเฟ้อทั่วไปมีทิศทางปรับสูงขึ้นอย่างช้า ๆ ตามการฟื้นตัวของอุปสงค์ในประเทศ และการปรับขึ้นอัตราภาษีสรรพสามิต รวมถึงผลกระทบจากมาตรการจัดระเบียบแรงงานต่างด้าวที่อาจมีต่อค่าจ้างแรงงานในระยะข้างหน้า ส่วนการคาดการณ์เงินเฟ้อของสาธารณชนยังอยู่ในระดับใกล้เคียงกับค่ากลางของกรอบเป้าหมาย

ภาวะการเงินโดยรวมอยู่ในระดับผ่อนคลายและเอื้อต่อการขยายตัวของเศรษฐกิจ สภาพคล่องในระบบการเงินอยู่ในระดับสูง อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลและอัตราดอกเบี้ยที่แท้จริงอยู่ในระดับต่ำและภาคธุรกิจสามารถระดมทุนได้เพิ่มขึ้นทั้งจากสินเชื่อสถาบันการเงินและตลาดทุน

ด้านอัตราแลกเปลี่ยนเงินบาทเทียบกับดอลลาร์สรอ. ปรับแข็งค่าขึ้นบ้างจากการอ่อนค่าของดอลลาร์สรอ. และการเกินดุลบัญชีเดินสะพัดของไทยเป็นสำคัญ อย่างไรก็ดี ค่าเงินบาทเทียบกับเงินสกุลประเทศคู่ค้าคู่แข่งไม่ได้เปลี่ยนแปลงอย่างมีนัยสำคัญ สำหรับในระยะข้างหน้า อัตราแลกเปลี่ยนจะยังมีแนวโน้มผันผวนสูงจากความไม่แน่นอนในต่างประเทศ อาทิ ความไม่แน่นอนของนโยบายเศรษฐกิจสหรัฐฯ และการดำเนินนโยบายการเงินของประเทศเศรษฐกิจหลัก คณะกรรมการฯ จึงเห็นควรให้ติดตามสถานการณ์ในตลาดอัตราแลกเปลี่ยนอย่างใกล้ชิด logo เล็ก (ปิดท้ายข่าว)

การเงิน ดูทั้งหมด



COPYRIGHT © 2016 SEQUEL ONLINE. ALL RIGHTS RESERVED.
FOLLOW UP