26 กันยายน 2560 : กรณีที่มีประกาศในราชกิจจานุเบกษา มีประกาศธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) เรื่อง รายชื่อธนาคารพาณิชย์ที่มีนัยต่อความเสี่ยงเชิงระบบในประเทศ ซึ่งได้มีชื่อของธนาคารกรุงไทย เป็นหนึ่งในธนาคารพาณิชย์ที่มีนัยต่อความเสี่ยงระบบในประเทศนั้น เนื่องจาก เป็นธนาคารขนาดใหญ่ที่จะมีผลต่อระบบการเงินรวม ดังนั้น ธปท.จึงกำหนดอัตราส่วนเงินกองทุนสูงกว่าธนาคารขนาดเล็ก ซึ่งธนาคารเห็นว่า ประกาศของธปท.ดังกล่าว เป็นตามเกณฑ์กฎบาเซิล 3 ที่ใช้ทั่วโลก
นายพูลพัฒน์ ศรีเปล่ง รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ สายงานบริหารความเสี่ยง ธนาคารกรุงไทย เปิดเผยว่า ตามประกาศของธปท.ดังกล่าว ทำให้ในปี 2562 ต้องมีการดำรงเงินกองทุนต่อสินทรัพย์เสี่ยงขั้นต่ำ เพิ่มขึ้นอีก 0.5% กล่าวคือ ในปี 2562 ธนาคารพาณิชย์ดังกล่าวทั้ง 5 แห่งตามประกาศ ต้องมีเงินกองทุนทั้งสิ้นต่อสินทรัพย์เสี่ยง (Total Capital Ratio) ขั้นต่ำอยู่ที่ 11.50% ตามเกณฑ์ธปท. โดยปัจจุบันเงินกองทุนทั้งสิ้นต่อสินทรัพย์เสี่ยงของธนาคารกรุงไทย (ตามเกณฑ์กลุ่มธุรกิจทางการเงิน) ณ สิ้นมิ.ย.2560 อยู่ที่ 16.27% ของสินทรัพย์ถ่วงน้ำหนักตามความเสี่ยง สูงกว่าเกณฑ์ที่ธปท.กำหนดไว้เช่นกัน
“ธนาคารมีเงินกองทุนตามเกณฑ์บาเซิล 3 มาแล้วตั้งแต่ปี 2556 ซึ่งขณะนี้เงินกองทุนของธนาคารสูงกว่าเกณฑ์ธปท.กำหนดไว้ ขอยืนยันว่า ขณะนี้ยังไม่มีความกังวลใดๆ เกี่ยวกับเรื่องเงินกองทุนในปัจจุบัน ซึ่งสถานะทางการเงินของธนาคารยังมีความแข็งแกร่ง” นายพูลพัฒน์กล่าว
สำหรับประกาศ ธปท.เรื่องแนวทางการระบุและการกำกับดูแลธนาคารพาณิชย์ ที่มีนัยสำคัญต่อความเสี่ยงเชิงระบบในประเทศนั้น ก่อนหน้านี้ ธปท.ยังได้กำหนดให้ธนาคารพาณิชย์ดำรงอัตราส่วนเงินกองทุนส่วนเพิ่ม เพื่อรองรับผลขาดทุนในภาวะวิกฤต(Conservation buffer) โดยให้ทยอยดำรงส่วนเงินกองทุนเพิ่มเติมจากอัตราส่วนเงินกองทุนขั้นต่ำอีก ปีละ 0.625% ตั้งแต่ 1 ม.ค.2559 จนครบ 2.50% ในวันที่ 1 ม.ค.2562 ซึ่งในปัจจุบันธนาคารได้มีการตั้งสำรองตามเกณฑ์ของธปท.ครบถ้วน
นายพูลพัฒน์ กล่าวในตอนท้ายว่า ธนาคารมีความเชื่อมั่นว่า เงินกองทุนตามเกณฑ์ดังกล่าว จะสามารถรองรับความเสี่ยงที่จะเกิดขึ้นในอนาคตได้ ส่งผลให้สถานะทางการเงินของธนาคารมีความแข็งแกร่ง และสามารถรองรับการขยายธุรกิจได้ในอนาคต