WELCOME TO SEQUEL ONLINE (ซีเคว้ล ออนไลน์)
วันอังคาร ที่ 26 พฤศจิกายน 2567 ติดต่อเรา
ลายแทงสู่ความมั่งคั่ง???

เมื่อต้นเดือนกันยายนที่ผ่านมา “กรุงศรีคอนซูเมอร์” ผู้นำในธุรกิจบัตรเครดิตและสินเชื่อบุคคล บริษัทในเครือธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) ได้เปิดตัวโครงการ “ฉลาดคิด ฉลาดใช้” ซึ่งโครงการนี้เป็นการให้ความรู้ ด้านการบริหารการเงินส่วนบุคคลสำหรับบุคคลทั่วไป และกิจกรรมประกวดสื่อให้ความรู้ทางการเงินสำหรับนิสิต นักศึกษา ส่งเสริมให้คนรุ่นใหม่มีวินัยทางการเงินที่ดี หวังลดปัญหาหนี้ครัวเรือน

โครงการดังกล่าว นายฐากร ปิยะพันธ์ ประธานกรรมการ กรุงศรี คอนซูมเมอร์ ได้กล่าวว่า “โครงการ ฉลาดคิด ฉลาดใช้” โดยกรุงศรี คอนซูมเมอร์ เป็นโครงการที่บริษัทริเริ่มขึ้น เพื่อกระตุ้นให้คนรุ่นใหม่เห็นความสำคัญของการวางแผนทางการเงิน และมีวินัยทางการเงินที่ดี โดยประกอบด้วยกิจกรรมให้ความรู้เกี่ยวกับการบริหารการเงินส่วนบุคคลผ่านทางสื่อออนไลน์ สำหรับบุคคลทั่วไป โดยเฉพาะกลุ่มวัยเริ่มทำงาน และกิจกรรมประกวดสื่อให้ความรู้ทางการเงินสำหรับนิสิต นักศึกษาทั่วประเทศ เพื่อสร้างการรับรู้และการมีส่วนร่วมในกลุ่มเยาวชนที่จะเติบโตเป็นวัยทำงานในอนาคต จะได้สามารถสื่อสารความเข้าใจได้ตรงกับความต้องการของกลุ่มเป้าหมายซึ่งเป็นกลุ่มคนรุ่นใหม่ด้วยกัน และเสริมสร้างความเข้าใจอันดีเกี่ยวกับการวางแผนทางการเงินที่เหมาะสม ลดปัญหาหนี้ครัวเรือนในระยะยาว

ฉลาดคิด ฉลาดใช้01

แนวคิด “ฉลาดคิด ฉลาดใช้ ออมให้ได้ 20%” โดยหวังส่งเสริมให้กลุ่มคนวัยเริ่มทำงาน รู้จักวางแผนทางการเงิน โดยการวางแผนงบการใช้จ่ายอย่างง่าย ๆ เริ่มต้นด้วยการหักเงินรายรับที่ได้มา 20% มาเป็นเงินออมก่อนเพื่อสร้างวินัยทางการเงินที่ดี ส่วนที่เหลือให้ประเมินรายจ่ายในแต่ละเดือน และกันงบสำหรับค่าใช้จ่ายที่จำเป็นไว้ก่อน ส่วนที่เหลือจึงเอาไว้ใช้จ่ายเพื่อความสุขส่วนตัว เป็นการฝึกจัดสรรการใช้จ่ายให้เหมาะสมกับ รายรับอย่างเป็นระบบ เพื่ออนาคตทางการเงินที่มั่นคง

หลังจากที่เราฟังแนวคิดดีจากองค์กรชั้นนำของประเทศ ออกมาให้คนไทยหันมาออมเงินมากขึ้น นั้นแสดงว่า ที่ผ่านมาคนไทยออมเงินกันน้อยมาก ผู้จัดการบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน (บลจ.) ถึงกับออกมาเอ่ยว่า จากการสำรวจพบว่า คนไทยมีบัญเพื่อการออมหรือการลงทุนน้อยมาก เมื่อเทียบกับประชากรที่มีอยู่ภายในประเทศกว่า 60 ล้านคน และนั้นก็หมายความว่า คนไทยยังละเลยในการวางแผนให้ตัวเองเพื่อรองรับชีวิตในยามแก่เฒ่าแบบล้มเหลว และการบริหารจัดการใช้จ่ายการเงินแบบไม่ถูกวิธี ทำให้คนไทยเป็นหนี้มากกว่ามีเงินเก็บเพื่อใช้จ่ายในยามแก่เฒ่าเสียอีก

และต้องอย่าลืมว่า มูลค่าเงินสมัยนี้ไม่เหมือนสมัยก่อน สินค้าและบริการต่างๆมีการปรับตัวขึ้นอย่างต่อเนื่องเมื่อเทียบกับรายรับที่ปรับตัวขึ้นน้อยมาก โดยเฉพาะที่เกี่ยวเนื่องกับการรักษาพยาบาลที่นับวันค่าใช้จ่ายส่วนนี้จะสูงขึ้นเรื่อยๆ ถ้าเราไม่มีเงินรองรับไว้มากพอก็ย่อมมีปัญหากับตนเองแน่นอน

แล้วถามว่า การออมให้ได้ 20% ช่วยได้จริง? ก็อย่างที่กล่าวมาข้างต้น “หักเงินรายรับที่ได้มา 20% มาเป็นเงินออมก่อนเพื่อสร้างวินัยทางการเงินที่ดี “ นั้นหมายความว่า ถ้าเราทำเป็นประจำก็เป็นการสร้างวินัยทางการเงินของเราได้ดีขึ้น จนติดเป็นนิสัย และเงินออมที่เรามีนำมาบริหารจัดการ โดยต่อยอดเงินด้วยเงินอย่างถูกวิธี เม็ดเงินออมที่มีก็จะเพิ่มขึ้นเรื่อยๆจนน่าตกใจเลยที่เดียว แล้วการต่อยอดเงินนั้นมีอะไรบ้าง ซึ่งมีหาลายอย่างให้เลือก ขึ้นอยู่กับการยอรับความเสี่ยงนั้นๆได้มากน้อยแค่ไหน อย่างเช่น การลงทุนผ่านบัญชีเงินฝากธนาคาร การลงทุนผ่านกองทุน การลงทุนผ่านตลาดหุ้น การลงทุนผ่านประกันฯลฯ เพียงแต่คนลงทุนต้องเรียนรู้กับวิธีลงทุนในแบบต่างที่เหมาะสมกับตัวเองให้มากที่สุด

ส่วนวิธีการออมให้ได้ 20% นั้น คือ แบ่งสัดส่วนเงินสำหรับใช้จ่าย ด้วยการกันเงินออมออกมาก่อน 20% โดย 10% แรกสำหรับไว้ใช้ในยามฉุกเฉิน เช่น เจ็บป่วย ส่วนอีก 10% สำหรับความฝันในอนาคต เช่น เป็นเงินทุนสำหรับเรียนต่อ หรือเปิดกิจการของตนเอง ส่วนการแบ่งงบสำหรับใช้จ่ายในเรื่องจำเป็น และใช้จ่ายเพื่อความสุขส่วนตัวนั้น ก็จะทำให้เข้าใจได้ง่ายขึ้นว่า ด้วยรายได้ในปัจจุบันของแต่ละคน จะเหลือเงินใช้จ่ายได้เท่าไร หากคิดจะเป็นหนี้ก้อนใหญ่ เช่น ซื้อบ้าน หรือรถยนต์ จะสามารถรับภาระหนี้ได้หรือไม่ ตราบใดที่คนไทยหันมาออมเงินและใช้จ่ายเงินอย่างถูกวิธี ปัญหาหนี้ภาคครัวเรือนในระดับสูงก็ลดลงไปด้วย

k-r

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ระบุไว้อย่างน่าสนใจว่า จากทำการสำรวจพบว่า ดัชนีภาวะเศรษฐกิจของครัวเรือน ในช่วงครึ่งหลังของปี 2560 ครัวเรือนยังกังวลเรื่องค่าครองชีพและหนี้สิน จากท่ามกลางอัตราเงินเฟ้อทั่วไปที่ในปัจจุบันยังอยู่ในระดับต่ำ สะท้อนระดับราคาสินค้าที่เพิ่มขึ้นไม่มากนัก แต่รายได้ครัวเรือนที่ไม่ปรับเพิ่มขึ้นหรือบางกลุ่มมีรายได้ลดลง ส่งผลให้ครัวเรือนมีความกังวลต่อประเด็นเรื่องค่าครองชีพ โดยจากการสำรวจ พบว่า ในช่วงครึ่งปีหลัง ครัวเรือนส่วนใหญ่มีความกังวลต่อประเด็นค่าครองชีพเป็นอันดับแรก ตามมาด้วยเรื่องหนี้สินและรายได้ สอดคล้องกับดัชนีภาวะเศรษฐกิจของครัวเรือน และดัชนีสะท้อนมุมมองคาดการณ์ 3 เดือนข้างหน้าที่ในเดือนก.ค. ปรับตัวลดลงมาอยู่ที่ระดับ 45.5 และระดับ 45.8 ตามลำดับ

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า ความเชื่อมั่นของครัวเรือนในระยะข้างหน้ายังมีแรงกดดันอยู่ ส่วนหนึ่งเป็นผลจากสัญญาณการชะลอตัวของรายได้เกษตรกรหลังราคาสินค้าเกษตรปรับตัวลดลง ซึ่งอาจจะมีผลทางอ้อมต่อการหมุนเวียนและกระจายรายได้ไปยังภาคส่วนอื่นของเศรษฐกิจ

จากการสำรวจมุมมองภาวะการครองชีพของครัวเรือน พบว่า ร้อยละ 53 ของครัวเรือนทั้งหมดที่ทำการสำรวจมีความกังวลต่อประเด็นค่าครองชีพเป็นอันดับแรกในช่วงครึ่งหลังของปี 2560 ตามมาด้วยประเด็นเรื่อง ‘หนี้สิน’ และ ‘รายได้’ ที่ถูกให้น้ำหนักความสำคัญมาเป็นอันดับที่ 2 และ 3 ตามลำดับ หากแบ่งตามกลุ่มรายได้ จะพบว่า ครัวเรือนกลุ่มผู้มีรายได้ต่ำกว่าหรือเท่ากับ 15,000 บาท/เดือน มีความกังวลเรื่องรายได้มากกว่าเรื่องภาระหนี้สิน ในทางกลับกัน ครัวเรือนกลุ่มผู้มีรายได้สูงกว่า 15,000 บาท/เดือน จะกังวลเรื่องปัญหาหนี้สินมากกว่าปัญหาเรื่องรายได้

หากแบ่งตามกลุ่มอาชีพ จะพบว่า ครัวเรือนกลุ่มอาชีพที่มีความไม่แน่นอนสูงต่อการถูกเลิกจ้าง ไม่ว่าจะเป็นอาชีพรับจ้าง (รายวัน) รวมถึงพนักงานบริษัทเอกชนจะมีความกังวลต่อประเด็นรายได้และภาวะการมีงานทำมากกว่าประเด็นเรื่องภาระหนี้สิน ในขณะที่ครัวเรือนกลุ่มอาชีพที่มีความเสี่ยงต่ำต่อการถูกเลิกจ้าง เช่น ข้าราชการ พนักงานรัฐวิสาหกิจ ประกอบกิจการส่วนตัว รวมถึงค้าขาย กลับกังวลเรื่องภาระหนี้สินมากกว่าประเด็นเรื่องรายได้ และภาวะการมีงานทำ สอดคล้องกับความเชื่อมั่นของครัวเรือนในเดือนก.ค. 2560 ที่ปรับตัวลดลงจากเดือนก่อนหน้า ซึ่งมาจากความกังวลที่เพิ่มขึ้นต่อประเด็นเรื่องสถานการณ์ทางด้านราคาสินค้า รวมถึงประเด็นเรื่องรายได้และภาวะการมีงานทำที่ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากการประกาศใช้ พ.ร.ก. การบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว พ.ศ. 2560

ทำให้ครัวเรือนที่ประกอบกิจการส่วนตัวพยายามที่จะปรับตัวทางธุรกิจ ซึ่งในช่วงเปลี่ยนผ่านอาจส่งผลให้กระบวนการผลิตหยุดชะงักไปในบางธุรกิจและส่งผลต่อรายได้ที่เข้ามา นอกจากนี้ ครัวเรือนยังมีความกังวลเพิ่มขึ้นต่อประเด็นเรื่องหนี้สิน ส่วนหนึ่งเป็นผลของฐานในเดือนก่อน ประกอบกับครัวเรือนส่วนใหญ่ที่ไปสมัครเข้าร่วมโครงการคลินิกแก้หนี้มีคุณสมบัติไม่ผ่านเกณฑ์ (ผ่านเกณฑ์ราว 300 คนจากผู้สมัครเข้าร่วมโครงการประมาณ 1.8 หมื่นคน)

นอกจากนี้ ความเชื่อมั่นของครัวเรือนในปัจจุบันที่ปรับตัวลดลงยังส่งผลให้ครัวเรือนมีความกังวลต่อภาวะการครองชีพในอนาคตเพิ่มขึ้น สะท้อนจากดัชนีสะท้อนมุมมองคาดการณ์ในช่วง 3 เดือนข้างหน้า ที่ปรับตัวลดลงจากเดือนก่อนหน้า จากความกังวลที่เพิ่มขึ้นในเรื่องหนี้สินและสถานการณ์ทางด้านราคาสินค้าเป็นสำคัญ โดยเฉพาะราคาสินค้าสาธารณูปโภค อาทิ ค่าไฟฟ้าต่อหน่วยที่ปรับขึ้นจาก 3.5079 มาเป็น 3.5966 บาท จากการปรับขึ้นค่าไฟอัตโนมัติ (ค่าเอฟที) อีก 8.87 สตางค์ในรอบเดือนก.ย. – ธ.ค. 2560 เนื่องจากครัวเรือนที่ทำการสำรวจไม่อยู่ในกลุ่มผู้มีรายได้น้อย (มีรายได้ต่ำกว่า 30,000 บาทต่อปี) ที่จะได้รับผลดีจากมาตรการของรัฐ (ค่าน้ำ-ค่าไฟฟ้า-ค่าโดยสารสาธารณะฟรี) ที่คาดว่าจะเริ่มบังคับใช้ในวันที่ 1 ต.ค. 2560

โดยสรุป ความเชื่อมั่นของครัวเรือนเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑลในอนาคตปรับตัวลดลงจากความกังวลที่เพิ่มขึ้นต่อประเด็นเรื่องภาระหนี้สินและสถานการณ์ทางด้านราคาสินค้า เพิ่มเติมจากภาวะปัจจุบันที่ครัวเรือนมีความกังวลต่อประเด็นเรื่องรายได้และการมีงานทำ รวมถึงประเด็นเรื่องภาระหนี้สินอยู่แล้ว

ทั้งนี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า ความเชื่อมั่นของครัวเรือนเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑลในระยะข้างหน้าจะยังได้รับแรงกดดันทางอ้อมจากการชะลอตัวของรายได้ครัวเรือนเกษตรซึ่งจะส่งผลลบต่อเนื่องไปยังการหมุนเวียนและกระจายรายได้สู่ภาคส่วนเศรษฐกิจอื่นๆ อาทิ รายได้ร้านค้าปลีกที่ลดลงอาจนำมาสู่การจ้างงานที่ลดลงตามไปด้วย logo เล็ก (ปิดท้ายข่าว)

การเงิน ดูทั้งหมด



COPYRIGHT © 2016 SEQUEL ONLINE. ALL RIGHTS RESERVED.
FOLLOW UP