WELCOME TO SEQUEL ONLINE (ซีเคว้ล ออนไลน์)
วันอาทิตย์ ที่ 24 พฤศจิกายน 2567 ติดต่อเรา
ครั้งแรกในประวัติศาสตร์!! ธุรกิจประกันภัย ลงนามแชร์ข้อมูลเพื่อประโยชน์ต่อส่วนรวม##

28 สิงหาคม 2560 : นายจีรพันธ์ อัศวะธนกุล นายกสมาคมประกันวินาศภัยไทย เปิดเผยว่า ตามที่สำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) กำลังจะดำเนินการจัดทำโครงการพัฒนาระบบฐานข้อมูลการประกันภัย จึงจัดให้มี “โครงการศูนย์กลางฐานข้อมูลด้านการประกันวินาศภัย” Insurance Bureau System (IBS) ขึ้น โดย “สมาคมประกันวินาศภัยไทย” และ “บริษัทประกันวินาศภัย” ตกลงจะให้ความร่วมมือและยินยอมแลกเปลี่ยนข้อมูลกลางด้านการประกันวินาศภัย ยกเว้นข้อมูลส่วนบุคคลของผู้เอาประกันภัย

MoU 28 ส.ค.60

ต่อเรื่องดังกล่าว “บริษัทประกันวินาศภัย” ยินยอมให้ “สำนักงาน คปภ.” นำข้อมูลด้านการประกันวินาศภัยที่ได้รับจาก “บริษัทประกันวินาศภัย” จัดส่งให้แก่ “สมาคมประกันวินาศภัยไทย” เพื่อประโยชน์ในการพัฒนาธุรกิจประกันภัย ทั้งนี้ ข้อมูลใดๆ ที่ “สมาคมประกันวินาศภัยไทย” ได้รับ “สมาคมประกันวินาศภัยไทย” ตกลงจะเก็บรักษาเป็นความลับ โดยจะไม่นำข้อมูลทั้งหมดหรือส่วนหนึ่งส่วนใดของข้อมูลไปเผยแพร่ต่อสาธารณชน บุคคลที่สาม หรือนำข้อมูลที่ได้ไปแสวงหาผลประโยชน์ไม่ว่าทางหนึ่งทางใดในเชิงพาณิชย์ รวมตลอดถึงจะไม่นำข้อมูลที่ได้ไปกระทำการใดๆ อันเป็นทางที่จะก่อให้เกิดความเสียหายแก่ “บริษัทประกันวินาศภัย”

โดยมอบหมายให้ สมาคมประกันวินาศภัยไทย เป็นผู้บริหารจัดการระบบฐานข้อมูลกลางด้านการประกันวินาศภัย เพื่อใช้ประโยชน์ของข้อมูลในการตอบสนองความต้องการของประชาชน ในการจัดการกับความเสี่ยงได้อย่างมีประสิทธิภาพ

จากการมีข้อมูลขนาดใหญ่ที่มีทั้งหมดจะทำให้ธุรกิจประกันวินาศภัย สามารถนำไปวิเคราะห์ ต้นทุน ความเสี่ยง อ้างอิง ในแต่ละประเภทผลิตภัณฑ์ประกันภัยได้อย่างถูกต้องตามหลักคณิตศาสตร์ประกันภัย ทำให้ผู้รับประกันภัย สามารถนำเสนออัตราเบี้ยประกันภัยที่สะท้อนถึงความเสี่ยงที่แท้จริง และยิ่งไปกว่านั้น จะเพิ่มศักยภาพให้กับธุรกิจประกันวินาศภัย จัดทำระบบป้องกันการฉ้อฉล รวมถึงจัดทำรายงานสถิติของธุรกิจประกันวินาศภัย วิเคราะห์และคาดการณ์ทิศทางแนวโน้มและโอกาสที่จะเกิดความเสี่ยงทุกรูปแบบ อันจะทำให้ธุรกิจประกันวินาศภัยสามารถนำเสนอผลิตภัณฑ์ที่ตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคได้อย่างมีศักยภาพ

IMG20170828135409

การที่ภาคธุรกิจประกันวินาศภัยมีศูนย์กลางฐานข้อมูลด้านการประกันวินาศภัย จะเพิ่มขีดความสามารถในการให้บริการได้ตรงกับความต้องการของประชาชน ช่วยให้สามารถนำข้อมูลมาใช้ในการวิเคราะห์ความเสี่ยงภัยของประเทศ นอกจากนั้น การมีข้อมูลจะเสริมสร้างความแข็งแกร่งให้กับบริษัทประกันวินาศภัยเพราะข้อมูลที่รวดเร็ว และถูกต้องทำให้บริษัทประกันวินาศภัยสามารถบริหารจัดการกับความเสี่ยงภัยที่รับเข้ามาอย่างมีประสิทธิภาพ อันจะส่งผลดีต่อการประกอบธุรกิจประกันวินาศภัย

นายจีรพันธ์ กล่าวเพิ่มเติมว่า การลงนามในบันทึกข้อตกลง ว่าด้วยการแลกเปลี่ยนข้อมูลกลางด้านการประกันวินาศภัย ระหว่าง สมาคมประกันวินาศภัยไทย และบริษัทประกันวินาศภัยในครั้งนี้ จะเป็นประโยชน์ต่อธุรกิจประกันวินาศภัยในการเป็นผู้บริหารความเสี่ยงให้กับประชาชนและธุรกิจทุกประเภทเพื่อการเจริญเติบโตอย่างยั่งยืนให้กับเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ สมาคมประกันวินาศภัยไทย ขอขอบคุณบริษัทประกันวินาศภัยทุกบริษัทที่เข้าร่วมการลงนามในครั้งนี้ ซึ่งถือได้ว่าเป็นการรวมพลังความร่วมมือครั้งสำคัญอีกครั้งหนึ่งของภาคธุรกิจประกันวินาศภัย ในการร่วมกันขับเคลื่อนและพัฒนาธุรกิจประกันวินาศภัยไทยให้ก้าวหน้า เติบโตอย่างมั่นคง และยั่งยืนต่อไป

“สมาคมประกันวินาศภัยไทย” จะต้องทำงานร่วมกับทีมวิเคราะห์ ข้อมูลต้้งแต่ปี 2559 จะเริ่มเก็บเป็นสถิติไปเรื่อยๆ ยกตัวอย่างการประกันภัยข้าวนาปี กว่าเบี้ยประกันจะออกมาเป็นรูปธรรมมีการนำข้อมูลมาพิจารณาย้อนหลังถึง 15 ปี ถึงจะคิดเบี้ยประกันออกมาในปัจจุบัน และความร่วมมือครั้งนี้คาดว่า ข้อมูลทั้งหมดจะเก็บมาอยู่จุดเดียวกันทั้งหมดภายใน 1 มกราคม 2561

IMG20170828151926

ขณะเดียวกัน ทางด้าน ดร.สุทธิพล ทวีชัยการ เลขาธิการคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย หรือ คปภ. กล่าวว่า ความร่วมมือดังกล่าว สิ่งที่จะเห็นเป็นรูปธรรมชัดเจนคือ ประชาชนจะสามารถสืบค้นข้อมูลด้านประกันภัยได้ เช่น การจ่ายสินไหมทดแทนจะสามารถสืบค้นได้ว่าลำดับขั้นการจ่ายสินไหมเป็นอย่างไรแล้ว ขณะเดียวกันสำนักงานคปภ.ก็สามารถนำข้อมูลไปบริหารจัดการในเชิงสถิติ จะเป็นประโยชน์ต่อการวิเคราะห์สภาพตลาด ผลิตภัณฑ์ประกันภัย รวมถึงข้อมูลการจ่ายสินไหมทดแทน ล้วนเป็นประโยชน์และเพิ่มประสิทธิภาพในการกำกับดูแล

หากมีประเด็นอุบัติเหตุรายใหญ่ เดิมปัจจุบันไม่มีการเก็บรวบรวมข้อมูลไว้ ทางคปภ.ต้องโทรศัพท์ไปสอบถามจากทางสมาคมประกันวินาศภัย หากสมาคมฯ ไม่มีข้อมูล ก็ต้องโทรสอบถามไปยังบริษัทประกันภัยแต่ละบริษัท นับว่าเป็นความยากลำบากต่อการทำงานอย่างยิ่ง ยกตัวอย่าง การลงพื้นที่น้ำท่วม มีผู้แจ้งเหตุว่าประชาชนถูกกระแสน้ำพัดไปเสียชีวิต ทางคปภ.ก็เร่งดำเนินการหาข้อมูล เพื่อดำเนินการช่วยเหลือ แต่ด้วยเพราะไม่ทราบว่า บุคคลดังกล่าวทำประกันภัยไว้กับบริษัทใด วิธีการคือต้องโทรศัพท์เช็คกับบริษัทประกันชีวิตทุกแห่งใช้เวลาเกือบ 1 วันเต็มจึงจะทราบข้อมูล ฉะนั้นหากมีข้อมูลส่วนกลางนี้ ก็จะสามารถเข้าไปช่วยเหลือและเร่งดำเนินการให้บริษัทประกันภัยเข้ามาช่วยเหลือได้อย่างรวดเร็วได้ เป็นต้น

ในอนาคตฐานข้อมูลประกันวินาศภัยดำเนิการแล้วประสบความสำเร็จ ก็มีเป้าหมายจะต่อยอดไปยังสมาคมประกันชีวืตไทย จนในที่สุดฐานข้อมูลระบบประกันภัยไทยก็จะครบวงจรอย่างสมบูรณ์แบบ สิ่งที่เป็นห่วงเวลานี้คือ ตัวกฏกติกาต่างๆ ที่ล้าสมัยที่เป็นปัญหาและอุปสรรคที่มีอยู่ประมาณ 8 เรื่อง ก็จะทำการยกเลิก ขณะนี้อยู่ระหว่างเตรียมเสนอให้ทางคณะกรรมการพิจารณา

ทั้งนี้ ธุรกิจประกันภัยมีเบี้ยประกันทั้งระบบ 2.5 แสนล้านบาท ธุรกิจมีจำนวนกรมธรรม์ทั้งหมด 56 ล้านฉบับ แบ่งเป็นอัคคีภัย 3.5 ล้านฉบับ มารีน 8.45 แสนฉบับ รถยนต์ภาคบังคับ 29.1 ล้านฉบับ รถยนต์ภาคสมัครใจ 8.6 ล้านฉบับ เบ็ดเตล็ด 2.4 ล้านฉบับ ประกันอุบัติเหตุส่วนบุคคล 10.9 ล้านฉบับ ประกันสุขภาพ 5.03 แสนฉบับ logo เล็ก (ปิดท้ายข่าว)

ประกันภัย ดูทั้งหมด



COPYRIGHT © 2016 SEQUEL ONLINE. ALL RIGHTS RESERVED.
FOLLOW UP