25 สิงหาคม 2560 : พล.อ.วิวรรธน์ สุชาติ ประธานกรรมการ การทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) ชี้แจงถึงแนวทางการดำเนินโครงการระบบทางด่วนขั้นที่ 2 (ทางพิเศษศรีรัช รวมถึงส่วน D) ภายหลังสัญญาร่วมลงทุนสิ้นสุดว่า สัญญาสัมปทานกับ บมจ.ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ (BEM) ซึ่งอายุสิ้นสุดในวันที่ 19 ก.พ. 63 ซึ่ง ตาม พ.ร.บ.ร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ พ.ศ. 2556 ระบุว่า เมื่อใกล้ครบสัญญาให้ทำการศึกษา
โดยสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.)ให้จ้างคนกลางศึกษา กทพ.จึงจ้างมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ศึกษา ซึ่ง ขณะนี้มี 3 แนวทาง คือ 1. กทพ.เป็นผู้ดำเนินการเอง 2. ร่วมลงทุนกับเอกชน โดยเปิดคัดเลือกเอกชนรายใหม่ และ 3. เจรจากับเอกชนรายเดิม
โดย กทพ.ได้จ้างสถาบันวิจัยและให้คำปรึกษาแห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศึกษาตามพ.ร.บ.ร่วมทุนฯ 56 ระหว่างวันที่ 13 ธ.ค. 59-16 มิ.ย. 60 ระยะเวลา 180 วัน แต่เนื่องจากมีรายละเอียดค่อนข้างมาก และจะมีการสำรวจการมีส่วนร่วมของพนักงาน ผู้บริหารและประชาชนทั่วไป ในวันที่ 28-29 ส.ค.นี้ คาดว่าจะสรุปผลศึกษาในเดือนก.ย. จากนั้นคณะกรรมการตรวจการจ้างจะสรุปเสนอผู้บริหารและบอร์ดกทพ. ก่อนเสนอต่อไปยังคณะกรรมการกำกับดูแล กระทรวงคมนาคม และสคร.
นอกจากนี้ กทพ.จะต้องปฎิบัติตามสัญญา ซึ่งในข้อ 21 ระบุว่า การต่อระยะเวลาของสัญญาเป็นความตั้งใจของคู่สัญญาที่ระยะเวลาของสัญญาอาจต่อออกไปได้อีก 2 ครั้งๆละ 10 ปี ตามเงื่อนไขที่กทพ.และบริษัท BEM ได้ตกลงกัน โดยพิจารณาประกอบกับความเป็นไปได้อย่างต่อเนื่องของสิทธิตามสัญญาอัตราค่าตอบแทนของกทพ.และ BEM และผลประโยชน์ของสาธารณชน และผู้ถือหุ้นของ BEM และผู้ให้กู้ โดยก่อนสิ้นสุดระยะเวลาของสัญญา กทพ.และ BEM จะต้องเจรจาด้วยความสุจริตเพื่อพยายามต่อระยะเวลาของสัญญาออกไปตามเงื่อนไขที่ทั้งสองฝ่ายสามารถรับได้
“สัญญามีข้อความซ้อนอยู่มาก ตีความได้เยอะมาก วันนี้จึงตอบไม่ได้ จะทำอย่างไร ต้องรอผลการศึกษา ในฐานะรัฐต้องตีความให้เป็นประโยชน์กับรัฐ และที่สุดจะต้องเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) เป็นผู้พิจารณา กทพ.ต้องทำตามพ.ร.บ.ร่วมทุนฯ 56 และสัญญาให้ครบถ้วน เพื่อไม่ให้เกิดข้อข้อพิพาทกันอีก”ประธานกรรมการ กทพ.กล่าว
พล.อ.วิวรรธน์ กล่าวถึงการปรับค่าผ่านทางด่วนว่า ในเดือนก.ย. 61 จะครบกำหนดปรับค่าผ่านทางตามสัญญาสัมปทานทางด่วนขั้นที่ 1(เฉลิมมหานคร) และขั้นที่ 2 (ศรีรัช) ซึ่งจะมีการพิจารณาทุก 5 ปี ตามดัชนีผู้บริโภค (CPI) ซึ่งตัวเลขจะออกมาในช่วงเดือนเม.ย.-พ.ค. 61 จากนั้นจะต้องเสนอครม.ต่อไป ปัจจุบัน กทพ.แบกรับภาระภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) 7% แทนผู้ใช้ทางอยู่ประมาณ 1,000 ล้านบาทต่อปี
ส่วนความคืบหน้ากองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐาน เพื่ออนาคตประเทศไทย (Thailand Future Fund : TFF) หลังจากครม.อนุมัติ กทพ.ได้ร่างสัญญา โอนและรับสิทธิโอนรายได้ (Revenue Transfer Agreement : RTA) และได้ส่งไปยังอัยการสูงสุด (อสส.) สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา เพื่อตรวจสอบในประเด็นกฎหมายพร้อมทั้งข้อสังเกตุต่างๆ ที่กทพ.สงสัย และจะมีขั้นตอนการทดสอบความต้องการของตลาด ซึ่งที่ปรึกษาต้องไปดำเนินการ จะวัดผลได้ว่า จะขายได้เมื่อใด และในระหว่างนี้ เป็นช่วงทำแผนเพื่อโรดโชว์ และขั้นตอนการจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ