18 สิงหาคม 2560 : ดร.สมชัย สัจจพงษ์ ปลัดกระทรวงการคลัง ในฐานะประธานกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (บอร์ดคปภ.) ให้เกียรติเป็นประธานเปิดการอบรมหลักสูตรวปส.รุ่นที่ 7 และปาฐกถาพิเศษในหัวข้อ “นโยบายภาครัฐกับบทบาทประกันภัยในการพัฒนาเศรษฐกิจประเทศ” โดยกล่าวว่า ธุรกิจประกันภัยถือเป็นเครื่องมือในการบริหารความเสี่ยงที่ช่วยสร้างหลักประกันความมั่นคงให้กับชีวิตและทรัพย์สินของประชาชนทุกระดับ รวมถึงมีส่วนช่วยแบ่งเบาภาระของรัฐด้านสวัสดิการและการสงเคราะห์ประชาชนอีกทางหนึ่งด้วย และการประกันภัยยังมีส่วนช่วยสังคมและประชาชนในการเตรียมพร้อมรับมือและช่วยบรรเทาผลกระทบจากความสูญเสียและความเสียหายเนื่องจากภัยพิบัติที่เกิดขึ้น
ดังเช่นกรณีการเกิดอุทกภัยที่ผ่านมา ภาคประกันภัยได้พิสูจน์แล้วว่ามีบทบาทที่สำคัญในการช่วยเยียวยาและสร้างความเชื่อมั่นทำให้ประชาชนตระหนักถึงประโยชน์ของการประกันภัยซึ่งเป็นเครื่องมือในการบริหารความเสี่ยงอย่างมีประสิทธิภาพ นอกจากนี้ธุรกิจประกันภัยยังเป็นอีกหนึ่งเสาหลักในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ และถือได้ว่าเป็นเสาหลักที่ไม่เคยเกิด Crisis แม้ว่าที่ผ่านมาจะมีบริษัทประกันวินาศภัยถูกปิดไปบ้างแต่ก็ไม่ส่งผลกระทบต่อภาพรวมของอุตสาหกรรมประกันภัย
ทั้งนี้เนื่องจากบอร์ดคปภ. และสำนักงานคปภ.ได้มีการพัฒนาและวางรากฐานของอุตสาหกรรมประกันภัยให้มีความมั่นคงและน่าเชื่อถือ โดยนำเอาระบบการตรวจสอบระดับมาตรฐานสากลมาใช้ เช่นระบบ RBC ระบบสัญญาณเตือนภัยล่วงหน้า EWS รวมทั้งส่งเสริมและพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ๆเพื่อรองรับกับเทคโนโลยีที่เข้ามาเปลี่ยนบริบทสังคมไทยอีกด้วย
ด้าน ดร.สุทธิพล ทวีชัยการ เลขาธิการคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) เปิดเผยว่า การจัดอบรม “หลักสูตรวปส.” มีวัตถุประสงค์เพื่อให้ผู้บริหารระดับสูงจากภาคส่วนต่างๆมีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับระบบประกันภัยทั้งการประกันชีวิต การประกันวินาศภัย การประกันภัยรถภาคบังคับ การบริหารจัดการความเสี่ยงภัยในด้านต่างๆ พัฒนาการของระบบประกันภัย ตลอดจนปัญหาและอุปสรรคที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งเสริมสร้างการเป็นผู้นำที่มีคุณธรรม จริยธรรม และการบริหารจัดการเชิงสร้างสรรค์นำองค์กรไปสู่ความสำเร็จ
สำหรับกิจกรรมหลักๆในการอบรม หลักสูตร วปส. ปีนี้ประกอบด้วยกิจกรรมการบรรยายด้านวิชาการแบ่งออกเป็น 8 หมวด ประกอบด้วย หมวดที่ 1 ประกันภัยกับการพัฒนาเศรษฐกิจเชิงรุกในระดับประเทศและในเวทีระหว่างประเทศ หมวดที่ 2 นโยบายการเงิน การลงทุนในการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศและโอกาสของธุรกิจไทยในอาเซียน หมวดที่ 3 ยกระดับการประกันวินาศภัยไทยสู่การขับเคลื่อนภารกิจเพื่อชาติ หมวดที่4 นวัตกรรมประกันภัยในยุคดิจิทัล
หมวดที่ 5 ความท้าทายของอุตสาหกรรมประกันชีวิตกับกระแสการเปลี่ยนแปลงของสังคมไทย หมวดที่ 6 การสร้างกลยุทธ์และวิสัยทัศน์ผู้นำยุคดิจิทัล หมวดที่ 7 การสร้างบรรษัทภิบาลกับการดำเนิน ธุรกิจในยุคดิจิทัล และหมวดที่ 8 ประเด็นร่วมสมัย โดยมีระยะเวลาการอบรมตั้งแต่เดือนสิงหาคม 2560 ถึงเดือนกุมภาพันธ์ 2561
สำหรับผู้เข้ารับการอบรมหลักสูตร วปส.รุ่นที่ 7 ในปีนี้ ทางคณะกรรมการสถาบันวิทยาการประกันภัยระดับสูงได้มีกระบวนการคัดเลือกอย่างเข้มข้นจากผู้ที่สมัครเข้ามาจำนวนมาก จนได้ผู้บริหารระดับสูงจากหน่วยงานทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน สื่อมวลชน สถาบันการเงิน และคนในแวดวงการประกันภัยไทยที่ผ่านการคัดเลือกเข้ารับการอบรมจำนวนทั้งสิ้น 98 คน ประกอบด้วย ภาคเอกชน จำนวน 66 คน ภาคราชการ รัฐวิสาหกิจ และหน่วยงานของรัฐ จำนวน 19 คน ภาคธุรกิจประกันภัย จำนวน 12 คน และสถาบันการเงิน 1 คน
“หลักสูตรวปส.ถือเป็นหลักสูตรเฉพาะทางด้านการประกันภัย และเป็นสหวิทยาการด้านการประกันภัยหลักสูตรเดียวในประเทศไทยที่รวมจุดเด่นของหลายๆ หลักสูตรเข้าด้วยกัน ทำให้ผู้เข้าอบรมได้รับความรู้ครบถ้วนในเรื่องประกันภัยภัยจากอดีต ปัจจุบัน สู่อนาคต โดยวปส.รุ่นที่ 7 ปีนี้จะมีคุณภาพที่ขับแก้ว เนื่องจากเป็นการต่อยอดมาจาก วปส.รุ่นที่ 6 ซึ่งเป็นรุ่นที่มีการพลิกโฉม โดยการปรับปรุงหลักสูตรใหม่หมดให้กระชับและมีประสิทธิภาพมากขึ้น รวมทั้งมีการเพิ่มเรื่องวิทยากรผู้ทรงคุณวุฒิ ผู้เชี่ยวชาญจากต่างประเทศหลายท่านมาแลกเปลี่ยนประสบการณ์เกี่ยวกับพัฒนาการใหม่ๆและประเด็นร่วมสมัยด้านประกันภัย ตลอดจนวิทยาการอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง” ดร.สุทธิพลกล่าว