WELCOME TO SEQUEL ONLINE (ซีเคว้ล ออนไลน์)
วันอังคาร ที่ 26 พฤศจิกายน 2567 ติดต่อเรา
สายป่านที่ต้องระวัง!!

31 กรกฎาคม 2560 : ปิดงบแบงก์ไตรมาสสามของปีนี้ไปแบบสวยบ้างไม่สวยบ้างแบงก์ บ้างแบงก์ถึงขนาดปิดงบฯไปแบบลูกผีลูกคนก็มี ก็ทำไงได้จู่ๆสิ่งที่ไม่คาดคิดว่ามันจะเกิดมันก็เกิดขึ้นมาซะดื้อๆ ทำให้แผนงานด้านกำไรไม่สามารถเป็นไปตามเป้าหมายได้ แหม่ พูดมากไปก็จะเคืองกันเปล่าๆ ย้อนกลับมาที่งบแบงก์ที่พาเหรดปิดกันไปเมื่อช่วงสองสัปดาห์ก่อน ภาพรวมถือว่าออกมาดีเกินคาด อาจจะเป็นเพราะมีการปรับแผนงานรับมือความเสี่ยงเรื่องหนี้เสียกันทำให้สินเชื่อที่ปล่อยไปกระจุกตัวอยู่กับฐานลูกค้ารายใหญ่ ส่วนลูกค้าเอสเอ็มอีถือเป็นจุดเสี่ยงที่ต้องปล่อยแบบระวัง

ส่วนภาพการปล่อยสินเชื่อในช่วงครึ่งปีแรกเป็นอย่างไร ล่าสุด ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ได้สรุปข้อมูลสินเชื่อ เงินฝาก และสภาพคล่องของธนาคารพาณิชย์ไทย 14 แห่งไว้อย่างน่าสนใจ

โดย ณ สิ้นเดือนมิ.ย.60 จากเอกสารรายการย่อแสดงสินทรัพย์และหนี้สิน (ธ.พ.1.1) ธนาคารแห่งประเทศไทย มีดังนี้ คือ สินเชื่อสุทธิเดือน มิ.ย.60 ขยายตัวดีขึ้น แต่ยังกระจุกตัวในสินเชื่อธุรกิจขนาดใหญ่ ขณะที่สินเชื่อธุรกิจเอสเอ็มอีและรายย่อย เริ่มมีทิศทางที่ดีขึ้นจากต้นปีเล็กน้อย ทั้งนี้ สำหรับภาพรวมสินเชื่อสุทธิเดือน มิ.ย. 60 ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากระยะเดียวกันปีก่อน 2.38% เมื่อเทียบช่วงปีก่อน ( YoY ) และเพิ่มขึ้นจากสิ้นปีก่อน 1.56% YTD ซึ่งเป็นระดับการขยายตัวที่ดีที่สุดในรอบปีนี้ ตามการเพิ่มขึ้นของสินเชื่อสุทธิเกือบ 1 แสนล้านบาท เมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้าเป็น 10.77 ล้านล้านบาท โดยส่วนใหญ่เพิ่มขึ้นในกลุ่มธนาคารพาณิชย์ขนาดใหญ่และกลาง 7 แห่ง ที่มีพอร์ทสินเชื่อรวมกว่า 90% ของระบบ

0008

ทั้งนี้ สินเชื่อที่เพิ่มขึ้นส่วนมากมาจากสินเชื่อธุรกิจขนาดใหญ่ โดยเฉพาะในภาคอสังหาริมทรัพย์และการก่อสร้าง รวมถึงกิจการสาธารณูปโภคและบริการ สำหรับสินเชื่อธุรกิจเอสเอ็มอีและรายย่อย มีแนวโน้มขยายตัวดีขึ้นเมื่อเทียบกับช่วงต้นปี ขณะเดียวกัน ยังมีอานิสงส์ของสินเชื่อรายย่อยประเภทให้เช่าซื้อรถยนต์ที่พลิกกลับมาเป็นบวก จากยอดขายรถยนต์ใหม่ที่เร่งตัวขึ้นด้วยเลขสองหลักเป็นครั้งแรกในรอบ 4 ปี และการทยอยครบกำหนดชำระของสินเชื่อเช่าซื้อในโครงการรถคันแรก

สำหรับหนี้ไม่ก่อให้เกิดรายได้สุทธิหลังหักค่าเผื่อหนี้สงสัยฯ (Net NPLs) ของระบบธนาคารพาณิชย์ในรอบครึ่งแรกปีนี้ เพิ่มขึ้น 8.4% YoY และ 6.5% YTDเป็น 1.87 แสนล้านบาท ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นผลจากประเด็นของลูกค้าธุรกิจรายใหญ่เฉพาะราย

ส่วนเงินฝากเดือน มิ.ย. 60 เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนในอัตราต่ำกว่าการขยายสินเชื่อ หลังภาพรวมสภาพคล่องยังอยู่ในระดับสูง และธนาคารต้องให้ความสำคัญกับการบริหารต้นทุนยิ่งขึ้นเพื่อประคองรายได้สุทธิของธุรกิจหลัก โดยภาพรวมเงินฝากเดือน มิ.ย. 60 เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนเพียง 2.6 หมื่นล้านบาท หรือ 0.22% เมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้า (MoM) แต่หากเทียบกับระยะเดียวกันปีก่อน และสิ้นปีก่อน เงินฝากขยายตัวค่อนข้างดีที่ 3.78% เมื่อเทียบกับปีก่อน( YoY ) และ 2.57% YTD

0009

ทั้งนี้ ธนาคารพาณิชย์หลายแห่งชะลอการดึงเงินฝาก โดยหลีกเลี่ยงการแข่งขันด้านราคาสำหรับโครงการเงินฝากพิเศษที่ออกใหม่เพื่อทดแทนเงินฝากที่ครบกำหนดและลดการระดมเงินฝากพิเศษลง รวมทั้งขยับขึ้นสัดส่วนเงินฝากออมทรัพย์และกระแสรายวันอย่างต่อเนื่อง เพื่อปรับโครงสร้างต้นทุนการเงินให้ต่ำลงและให้เกิดสมดุลกับปริมาณสินเชื่อ

ส่วนสภาพคล่องเดือน มิ.ย.60 ตึงตัวขึ้นสูงสุดนับจากเดือน ม.ค. 60 ทั้งนี้ ภาพรวมสภาพคล่องของธนาคารตึงตัวขึ้นจากเดือนก่อน จากอัตราการขยายตัวของสินเชื่อที่สูงกว่าเงินฝาก ทำให้สัดส่วนเงินให้สินเชื่อรวมต่อเงินฝากรวมกับตราสารหนี้ที่ออกและเงินกู้ยืม (LTD+Borrowing Ratio) ในเดือน มิ.ย. 2560 ขยับขึ้นมาที่ 91.14% (จากระดับ 90.40% ในเดือน พ.ค.) ซึ่งเป็นระดับสูงสุดนับตั้งแต่เดือนม.ค.2560 สอดคล้องกับอัตราส่วนสินทรัพย์สภาพคล่องต่อสินทรัพย์รวมที่ปรับลดลงมาที่ระดับ 21.21% จาก 21.70% ในเดือนก่อนหน้า

อย่างไรก็ตาม หากเทียบกับสิ้นปี 59 สภาพคล่องยังมีทิศทางที่ผ่อนคลายกว่า โดย ณ สิ้นเดือน ธ.ค.59 สัดส่วนเงินให้สินเชื่อรวมต่อเงินฝากรวมกับตราสารหนี้ที่ออกและเงินกู้ยืมอยู่ที่ 91.31% และอัตราส่วนสินทรัพย์สภาพคล่องต่อสินทรัพย์รวม อยู่ที่ 20.61% แนวโน้มสินเชื่อครึ่งหลังของปี สินเชื่อรายย่อยยังเผชิญแรงกดดัน คาดหวังรายใหญ่นำการฟื้นตัว

สินเชื่อสุทธิในช่วงครึ่งปีแรก แม้จะได้แรงชดเชยจากแรงส่งของสินเชื่อสุทธิในเดือน มิ.ย.60 ที่เพิ่มขึ้นเกินคาด แต่ก็ยังมีประเด็นติดตามในช่วงครึ่งปีหลัง จากความต่อเนื่องของกิจกรรมทางเศรษฐกิจและความเชื่อมั่นในการใช้จ่าย โดยเฉพาะจากฝั่งครัวเรือน ซึ่งเมื่อประกอบกับการที่ธนาคารพาณิชย์น่าจะยังคงนโยบายเครดิตที่รัดกุม เพื่อดูแลการก่อหนี้ของลูกค้ารายย่อยให้เหมาะสมกับรายได้และความสามารถในการชำระคืนนี้ ก็อาจทำให้แนวโน้มการเติบโตของสินเชื่อรายย่อยบางประเภท อาทิ สินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัย สินเชื่อบัตรเครดิต และสินเชื่อส่วนบุคคล ยังอยู่ภายใต้แรงกดดัน

11

ขณะที่มาตรการใหม่ของ ธปท.ในการดูแลการก่อหนี้ของลูกค้าสินเชื่อบัตรเครดิตและสินเชื่อส่วนบุคคลรายใหม่นั้น น่าจะมีผลกระทบโดยตรงต่อธุรกิจธนาคารพาณิชย์ในไตรมาสสุดท้ายของปี 60 ที่จำกัด เนื่องจากสอดคล้องกับแนวปฏิบัติของธนาคารพาณิชย์ส่วนใหญ่ในปัจจุบันอยู่แล้ว นั่นหมายความว่า การเติบโตของสินเชื่อในช่วงครึ่งปีหลัง ยังต้องฝากความหวังไว้ที่สินเชื่อธุรกิจ โดยเฉพาะสินเชื่อเพื่อการค้าระหว่างประเทศที่อิงกับการส่งออกที่น่าจะประคองการเติบโตไว้ได้แม้แรงหนุนจากฝั่งราคาจะลดลง ตลอดจนสินเชื่อเงินทุนหมุนเวียนในประเทศ และสินเชื่อเพื่อการลงทุนที่คาดหวังว่าจะได้รับอานิสงส์จากการลงทุนของภาครัฐสุดท้ายแล้วก็น่าจะหนุนให้สินเชื่อของธนาคารพาณิชย์ไทยทยอยเคลื่อนเข้าหาระดับประมาณการที่ 4% ได้

ด้านเงินฝากนั้น คาดว่าจะเห็นภาพการระดมเงินฝากของธนาคารพาณิชย์ เพื่อมุ่งชดเชยรุ่นที่ครบกำหนดเป็นหลัก เนื่องจากธนาคารพาณิชย์ยังมีโจทย์ที่จะต้องบริหารจัดการต้นทุน เพื่อประคองความสามารถในการทำกำไร ในระหว่างที่สินเชื่อยังเติบโตในลักษณะค่อยเป็นค่อยไป และยังมีประเด็นด้านคุณภาพสินทรัพย์เป็นหนึ่งในความเสี่ยงเฉพาะหน้าที่สำคัญ logo เล็ก (ปิดท้ายข่าว)

การเงิน ดูทั้งหมด



COPYRIGHT © 2016 SEQUEL ONLINE. ALL RIGHTS RESERVED.
FOLLOW UP