WELCOME TO SEQUEL ONLINE (ซีเคว้ล ออนไลน์)
วันอังคาร ที่ 26 พฤศจิกายน 2567 ติดต่อเรา
ก็แค่เชือดไก่ให้ลิงดู!!!!

ห่างหายไปซะนาน สำหรับ ก.ล.ต.ยุคใหม่ (คณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์) ยุคของท่านเลขา “รพี สุจริตกุล” การกลับมาคราวนี้มาพร้อมกับผลงานชิ้นโบว์แดงใหม่ตัวล่าสุด หลังผลงานชิ้นโบว์แดงใหญ่ถูกแขวนขึ้นหิ้งไปพร้อมๆกับกฎหมายที่ดูจะไม่ศักสิทธิ์เมื่อนำมาใช้กับผู้บริหารบางรายของ IFEC ที่ว่า ก.ล.ต.แน่แล่วก็ยังไม่เท่าประธานบริษัท IFEC ที่มีกาวอย่างดีติดไว้ที่ก้น จะผลักซ้ายผลักขวาก็ยังคงมั่นคงไม่มีโซซัดโซเซเหมือนเจ้าอื่น ที่สั่งแล้วรีบทำตามทันที

รพี

ว้าพูดไปซะไกล กลับมาเรื่องของก.ล.ต.ยุคใหม่ดีกว่า ขืนไปพูดเรื่อง IFEC พูดไปวันนี้ก็ไม่มีวันจบ ก็เจ้าที่เขาแร๊งแรง เป็นอันว่า มาเล่าสู่กันฟังเรื่องใหม่กันดีกว่า “หุ้นไอเฟะ” เอ้ย “หุ้นไอเฟค” มหากาพย์นี้ไว้ค่อยมาประมวนเมาส์มอยในวันหลัง

กลับมาพูดถึงผลงานชิ้นโบว์แดงล่าสุด ของก.ล.ต. บอกแล้วว่าถ้าทำตัวไม่ดี เฮียรพี ก็ไม่เอาไว้นะจ๊ะ ล่าสุด ก.ล.ต. ใช้มาตรการลงโทษทางแพ่งกับอดีตกรรมการและผู้บริหาร CWT จำนวน 6 ราย ซึ่งทาง ก.ล.ต. เปิดเผยว่า การดำเนินคดีด้วยมาตรการลงโทษทางแพ่งกับอดีตกรรมการและผู้บริหารของบริษัท ชัยวัฒนา แทนเนอรี่ กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) (CWT) รวม 6 ราย ได้แก่ (1) นายวีระพล ไชยธีรัตต์ (2) นางวนิดา สิกขมาน (3) นางสาวณัฏฐ์สิชา ภาภัคธนานันท์ (4) นายธีระวัฒน์ ภู่ไพบูลย์ (5) นายชัชนนท์ โสภาจันทร์ และ (6) นายณรงค์ฤทธิ์ สมบัติสมภพ กรณีไม่ปฏิบัติหน้าที่ด้วยความรับผิดชอบและความระมัดระวัง เป็นเหตุให้บริษัทได้รับความเสียหาย โดยเรียกให้ชำระค่าปรับทางแพ่งรวม 3,000,000 บาท

หลังจากที่ ก.ล.ต. ตรวจสอบการดำเนินการของ CWT พบว่า ในช่วงเดือนสิงหาคม 2559 กรรมการของ CWT รวม 6 ราย ได้ร่วมกันพิจารณาและอนุมัติให้บริษัทย่อยของ CWT เข้าซื้อหุ้นสามัญทั้งหมดของบริษัทจำกัดแห่งหนึ่งจากผู้ขายในมูลค่า 70 ล้านบาท โดยมีข้อตกลงในการชำระเงิน ณ วันทำสัญญาประมาณร้อยละ 70 และเงินส่วนที่เหลืออีกร้อยละ 30 จะชำระเมื่อผู้ขายหุ้นได้ดำเนินการทุกอย่างตามข้อตกลงแล้วเสร็จ

หลังจากการอนุมัติเข้าลงทุนเพียง 12 วัน กรรมการทั้ง 6 ราย ได้ตัดสินใจให้ CWT ชำระเงินส่วนที่เหลือทั้งหมด ทั้งที่ผู้ขายยังไม่ได้ดำเนินการเรื่องต่าง ๆ อย่างครบถ้วน ซึ่งก่อนการทำข้อตกลง กรรมการอยู่ในสถานะที่จะทราบว่า ผู้ขายไม่สามารถปฏิบัติตามข้อตกลงดังกล่าวได้ เป็นผลให้ CWT ต้องมีค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้นจากการต้องดำเนินการในส่วนที่เหลือเอง

การกระทำของอดีตกรรมการและผู้บริหารทั้ง 6 ราย เป็นการไม่ปฏิบัติหน้าที่ด้วยความรับผิดชอบและความระมัดระวัง จนเป็นเหตุให้บริษัทได้รับความเสียหาย อันเป็นการฝ่าฝืนมาตรา 89/7 แห่งพระราชบัญญัติหลักทรัพย์ฯ ซึ่งมีระวางโทษอาญาตามมาตรา 281/2 วรรคหนึ่ง และมาตรการลงโทษทางแพ่งตาม 317/1 มาตรา 317/4 และมาตรา 317/5 แห่งพระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ฉบับที่ 5) พ.ศ. 2559

คณะกรรมการพิจารณามาตรการลงโทษทางแพ่ง (ค.ม.พ.) นำมาตรการลงโทษทางแพ่งมาบังคับใช้กับผู้กระทำผิดทั้ง 6 ราย และผู้กระทำผิดทั้ง 6 ราย ได้ทำบันทึกยินยอมรับมาตรการลงโทษทางแพ่งและปฏิบัติตามบันทึกยินยอมดังกล่าวครบถ้วนแล้ว ดังนี้ (1) นายวีระพล (2) นางวนิดา (3) นางสาวณัฏฐ์สิชา (4) นายธีระวัฒน์ (5) นายชัชนนท์ และ (6) นายณรงค์ฤทธิ์ ชำระค่าปรับทางแพ่งรายละ 500,000 บาท

นอกจากการถูกลงโทษด้วยมาตรการลงโทษทางแพ่งดังกล่าวแล้ว ก.ล.ต. ยังสั่งห้ามมิให้นายวีระพล เป็นกรรมการและผู้บริหารของบริษัทที่มีมหาชนเป็นผู้ถือหุ้นเป็นเวลา 6 เดือน และสั่งห้ามมิให้นางวนิดา นางสาวณัฏฐ์สิชา นายธีระวัฒน์นายชัชนนท์ และ นายณรงค์ฤทธิ์ เป็นกรรมการและผู้บริหารของบริษัทที่มีมหาชนเป็นผู้ถือหุ้น[1] เป็นเวลา 3 เดือน

นอกจากนี้ ก.ล.ต.ใช้มาตรการลงโทษทางแพ่งกับผู้กระทำผิด 2 ราย กรณีอาศัยข้อมูลภายในซื้อและชักชวนผู้อื่นซื้อหุ้น NPP ซึ่ง ก.ล.ต. เปิดเผยว่า การดำเนินคดีด้วยมาตรการลงโทษทางแพ่งกับอดีตผู้บริหารของบริษัท นิปปอน แพ็ค จำกัด (มหาชน) (NPP) และผู้ถือหุ้นใหญ่รวม 2 ราย ได้แก่ (1) นายสุรพงษ์ เตรียมชาญชัย และ (2) นางสาวรินนภา คุณะวัฒน์สถิตย์ กรณีซื้อหุ้นและชักชวนให้บุคคลอื่นซื้อหุ้น NPP และหลักทรัพย์ NPP-W1 โดยอาศัยข้อมูลภายใน โดยเรียกให้ชำระค่าปรับทางแพ่งรวม 10,336,293.33 บาท และส่งคืนผลประโยชน์รวม 7,602,368 บาท

ทั้งนี้ ก.ล.ต. ได้รับข้อมูลจากตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) จึงตรวจสอบเพิ่มเติมพบว่า ในการประชุมคณะกรรมการบริษัท NPP ครั้งที่ 6/2557 ที่ประชุมได้อนุมัติการเพิ่มทุนจดทะเบียนจำนวนกว่า 544 ล้านบาท โดยเป็นการจัดสรรให้กับผู้ถือหุ้นเดิม จัดสรรให้นักลงทุนแบบเฉพาะเจาะจง และจัดสรรเพื่อรองรับการใช้สิทธิแปลงสภาพใบสำคัญแสดงสิทธิ

ปรากฏว่า ก่อนที่มติที่ประชุมดังกล่าวจะเปิดเผยต่อประชาชนทั่วไปผ่านระบบของ ตลท. นายสุรพงษ์ ซึ่งขณะนั้นดำรงตำแหน่งเป็นกรรมการผู้จัดการของ NPP ล่วงรู้ข้อมูลภายในเรื่องการเพิ่มทุนดังกล่าว ได้ซื้อหุ้น NPP รวมจำนวนกว่า 5.4 ล้านหุ้น และหลักทรัพย์ NPP-W1 รวมจำนวน 3.3 ล้านหุ้น ผ่านบัญชีซื้อขายหลักทรัพย์ของนางสาวรินนภา นอกจากนี้ นายสุรพงษ์ยังได้ชักชวนให้บุคคลอื่นซื้อหุ้น NPP ด้วย

การกระทำของนายสุรพงษ์ จึงเป็นความผิดตามมาตรา 241 แห่งพระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ. 2535 ซึ่งมีระวางโทษอาญาตามมาตรา 296 และมาตรา 296/2 และมาตรการลงโทษทางแพ่งตามมาตรา 317/1 มาตรา 317/4 และมาตรา 317/5 แห่งพระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ฉบับที่ 5) พ.ศ. 2559

ขณะที่นางสาวรินนภา ซึ่งเป็นผู้ให้การสนับสนุนการกระทำของนายสุรพงษ์ จะมีความผิดตามมาตรา 241 แห่งพระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ. 2535 ประกอบมาตรา 86 ประมวลกฏหมายอาญา ซึ่งต้องระวางโทษ ตามมาตรา 296 และมาตรา 296/2 และมาตรการลงโทษทางแพ่ง ตามมาตรา 317/1 มาตรา 317/4 และมาตรา 317/5 แห่งพระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ฉบับที่ 5) พ.ศ. 2559

คณะกรรมการพิจารณามาตรการลงโทษทางแพ่ง (ค.ม.พ.) นำมาตรการลงโทษทางแพ่งมาบังคับใช้กับผู้กระทำผิดและผู้กระทำผิดทั้ง 2 ราย ได้ทำบันทึกยินยอมรับมาตรการลงโทษทางแพ่งและปฏิบัติตามบันทึกยินยอมดังกล่าวครบถ้วนแล้ว ดังนี้ (1) นายสุรพงษ์ ส่งคืนผลประโยชน์ทั้งหมดซึ่งเป็นจำนวน 7,602,368 บาท และชำระค่าปรับ

ทางแพ่งอีก จำนวน 10,002,960 บาท และ (2) นางสาวรินนภา ชำระค่าปรับทางแพ่ง จำนวน 333,333.33 บาท ซึ่งเงินค่าปรับทางแพ่งและเงินค่าชดใช้คืนผลประโยชน์ที่ได้รับจากการกระทำผิด เป็นรายได้แผ่นดินที่ ก.ล.ต. จะนำส่งกระทรวงการคลังต่อไป นอกจากการถูกลงโทษด้วยมาตรการลงโทษทางแพ่งดังกล่าว ก.ล.ต. สั่งห้ามมิให้นายสุรพงษ์ เป็นกรรมการและผู้บริหารของบริษัทที่มีมหาชนเป็นผู้ถือหุ้น[1] เป็นเวลา 2 ปี 6 เดือนlogo เล็ก (ปิดท้ายข่าว)

การเงิน ดูทั้งหมด



COPYRIGHT © 2016 SEQUEL ONLINE. ALL RIGHTS RESERVED.
FOLLOW UP