6 กรกฎาคม 2560 : สำนักวิจัย บริษัทหลักทรัพย์ทิสโก้ จำกัด รายงานว่า คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ยังคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ +1.5% ด้วยมติเอกฉัณฑ์ ตามที่ตลาดคาด โดย กนง. ประเมินเศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มฟื้นตัวชัดเจนมากขึ้นตามการส่งออกที่เร่งตัว ถึงแม้อุปสงค์ภายในประเทศยังฟื้นตัวช้าและไม่กระจายตัว ทั้งนี้ กนง.จะเฝ้าระวังผลกระทบจากกฎหมายแรงงานต่างด้าวที่เข้มงวดอย่างใกล้ชิด
คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ปรับประมาณการเศรษฐกิจใหม่ โดยปรับ GDP ปี 2017 ขึ้นเป็น +3.5% จากเดิมที่ +3.4% (vs. +3.4% ตลาดคาด; +3.6 ESU) จากการส่งออกที่มีแนวโน้มขยายตัวดีขึ้น โดย กนง. ได้ปรับเพิ่มคาดการณ์ส่งออกปีนี้ขึ้นเป็น +5.0% จากเดิมที่ +2.2% (vs. +5.0% ตลาดคาด; +7.0% ESU คาด) ส่วนเงินเฟ้อทั่วไป กนง. ปรับลดประมาณการลงเป็น +0.8% จากเดิมที่ +1.2% (vs. +1.4% ตลาดคาด; +1.0% ESU)
สำหรับปี 2018 กนง. คาด GDP จะขยายตัวสูงขึ้นต่อเนื่องที่ +3.7% จากเดิมที่ +3.6% (vs. +3.5% cons; +3.8% ESU) ส่วนเงินเฟ้อทั่วไป กนง. ปรับลดประมาณการลงเป็น +1.6% จากเดิมที่ +1.9%(vs. +1.8% ตลาดคาด; +1.8% ESU)
ในด้านอัตราแลกเปลี่ยน กนง. ยังมีท่าทีลดระดับการแทรกแซงค่าเงิน โดยระบุว่าเงินบาทมีแนวโน้มเคลื่อนไหวสอดคล้องกับสกุลเงินในภูมิภาคตั้งแต่การประชุมครั้งหลังสุด หลังจากก่อนหน้านี้ กนง. มีท่าทีที่เข้มงวด คือ ระบุว่าเงินบาทที่แข็งค่าไม่เอื้อต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ นโยบายการเงินและการคลังที่เข้มงวดขึ้นโดยเป็นปัจจัยเสี่ยงต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ
ทั้งนี้ ทิสโก้ ค่อนข้างกังวลทิศทางการดำเนินนโยบายการเงินและการคลังในช่วงนี้ และเห็นว่านโยบายที่เข้มงวดขึ้นเร็วเกินไปอาจเป็นความเสี่ยงต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ โดยคาดว่า ธปท. จะเปิดเผยมาตรการควบคุมสินเชื่อส่วนบุคคลภายใน 1 เดือน เพื่อควบคุมการขยายตัวของหนี้ครัวเรือน โดยเรามองว่าอาจเป็นการรัดเข็มขัดทางการเงินที่เร็วเกินไปเนื่องจากอุปสงค์ภายในประเทศยังคงอ่อนแอ โดยเฉพาะในระยะเริ่มต้นของการฟื้นตัว ส่วนกฎหมายแรงงานที่เข้มงวดขึ้น เราประเมินว่าจะไม่ส่งผลกระทบต่อการขยายตัวของ GDP ในระยะสั้น แต่ธุรกิจขนาดกลางและย่อม (SMEs) ที่มีหนี้ในระดับสูงจะได้รับผลกระทบที่รุนแรงมากกว่ากลุ่มอื่น