3 กรกฎาคม 2560 : เข้าสู่เดือนกรกฎาคมอย่างเป็นทางการ ก็ได้รับการตอนรับอย่างลุ้นๆ ด้วยการพิจารณาอัตราดอกเบี้ยนโยบายคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.)ของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ที่จะมีขึ้นในวันที่ 7 ก.ค.60 นี้ ซึ่งหลายคงต่างมองและตอบเป็นเสียงเดียวกันว่า การพิจารณาดอกเบี้ยของแบงก์ชาติรอบนี้ไม่น่าจะผิดโผ่ คือ กนง.น่าจะคงอัตราดอกเบี้ยที่ 1.50% เช่นเดิม ด้วยปัจจัยหลายอย่างที่ยังมีเข้ามาให้สนับสนันในนโยบายดังกล่าวอยู่
ล่าสุด ทางศูนย์วิจัยกสิกรไทย ได้ออกมารายงานมุมมองต่อการพิจารณาดอกเบี้ยของกนง.ไว้ในครั้งนี้ได้อย่างน่าสนใจ โดยศูนย์วิจัยฯ คาดว่า การประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ของไทย ในวันที่ 7 ก.ค.2560 น่าจะคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ระดับ 1.50% ต่อเนื่อง และน่าจะคงอัตราดอกเบี้ยต่อเนื่องในช่วงที่เหลือของปีนี้ หลังผลของการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายของเฟดต่อเศรษฐกิจไทยมีจำกัด ขณะที่พัฒนาการการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยที่ฟื้นตัวต่อเนื่อง ยังคงสนับสนุนระดับการดำเนินนโยบายในปัจจุบันซึ่งยังเหมาะสมต่อสภาพการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ รวมทั้ง ยังช่วยจำกัดความเสี่ยงจากภาวะหนี้ครัวเรือนที่ยังคงอยู่ในระดับสูง โดยมีเหตุผลสนับสนุนดังนี้
สำหรับภาพรวมการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยยังคงฟื้นตัวต่อเนื่อง โดยเฉพาะภาคการบริโภคที่มีสัญญาณฟื้นตัวในวงกว้างมากขึ้น ขณะที่การลงทุนก็เริ่มทยอยปรับตัวในทิศทางดีขึ้น อันจะเห็นจากมูลค่าการนำเข้าสินค้าทุนที่ปรับเพิ่มขึ้น รวมทั้งยอดการขอใบอนุญาตประกอบกิจการ รง.4 ที่กลับมาขยายตัวอีกครั้ง ขณะที่การส่งออก และการท่องเที่ยวยังคงหนุนการเติบโตของเศรษฐกิจในปีนี้ ซึ่งภาพของพัฒนาการฟื้นตัวที่ปรับดีขึ้นดังกล่าวคงเป็นปัจจัยให้คณะกรรมการนโยบายการเงินสามารถคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายต่อเนื่อง เพื่อประคองภาพการฟื้นตัวเศรษฐกิจ นอกจากนี้ ยังเป็นการจำกัดความเสี่ยงจากภาวะหนี้ครัวเรือนที่ยังคงอยู่ในระดับสูง รวมทั้งช่วยบรรเทาไม่ให้พฤติกรรมแสวงหาความเสี่ยงของนักลงทุนปรับเพิ่มขึ้น
ผลของการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายของเฟดต่อเศรษฐกิจไทยมีไม่มาก แม้ว่าเฟดจะมีมติปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายรอบที่ 2 ของปี รวมทั้งประกาศแผนการที่จะลดขนาดงบดุลในระยะข้างหน้า แต่ผลกระทบต่อตลาดการเงินไทยมีอย่างจากัด เนื่องจากตลาดได้รับรู้ไปแล้ว โดยหลังจากที่ เฟดมีมติปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายในวันที่ 14 มิ.ย. 2560 ที่ผ่านมา อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลไทยปรับลดลงเล็กน้อย ขณะที่ค่าเงินบาทปรับแข็งค่าขึ้น ทั้งนี้ ด้วยมุมมองที่ผลกระทบจากการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายของเฟดต่อตลาดการเงินไทยที่มีไม่มาก คงไม่น่าจะเป็นประเด็นที่กดดันให้ทางการไทยต้องมีการปรับอัตราดอกเบี้ยนโยบายให้เป็นไปในทิศทางเดียวกับเฟดในระยะอันใกล้
แรงกดดันเงินเฟ้อที่อ่อนตัวลง ยังคงสนับสนุนให้ กนง. คงอัตรำดอกเบี้ยนโยบายในระดับต่ำ หากพิจารณาเงินเฟ้อจะพบว่าแรงกดดันเงินเฟ้อปรับลดลงค่อนข้างมาก อันเป็นผลจากราคาสินค้ากลุ่มอาหารที่ปรับลดลงจากปัจจัยด้านธรรมชาติที่ส่งเสริมให้ผลผลิตภาคการเกษตรขยายตัวได้ดี รวมทั้ง ราคาหมวดพลังงานที่ลดลงตามราคาน้ำมันในตลาดโลก หากมองไปข้างหน้าความกังวลด้านอุปทานส่วนเกินยังคงเป็นปัจจัยกดดันราคาน้ำมันในช่วงครึ่งหลังของปีทำให้แรงกดดันเงินเฟ้อมีไม่มาก
สำหรับปัจจัยที่ต้องติดตามในช่วง 3-6 เดือนหลังจากนี้คงได้แก่ พัฒนาการการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยที่อาจจะเผชิญกับความไม่แน่นอนที่มากขึ้นจากปัจจัยภายนอกประเทศทั้งการเมืองสหรัฐฯ ที่อาจส่งผลให้รัฐบาลทรัมป์สูญเสียสมาธิในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ อันส่งผลให้แรงหนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจอาจมีไม่มาก ขณะที่ปัจจัยการเมืองระหว่ำงประเทศที่มีความขัดแย้งมากขึ้นทั้งในซีเรีย และตะวันออกกลาง รวมทั้งอาจสร้างแรงกดดันต่อการบริโภคและการลงทุนของประเทศต่างๆ นอกจากนี้ การที่ตลาดการเงินมองถึงความไม่แน่นอนต่อจังหวะการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของเฟดที่มีมากขึ้น อาจส่งผลต่อความผันผวนของค่าเงินของสกุลเงินในตลาดเกิดใหม่ รวมทั้งไทย ให้ปรับแข็งค่าขึ้นในช่วงสั้น
นอกจากนี้ ศูนย์วิจัยฯ ยังได้มีการรายงานถึงความเชื่อมั่นครัวเรือนเขตกรุงเทพฯเดือนพ.ค. 60 ว่า ดีขึ้น เหตุเงินเฟ้อชะลอตัว โดยความกังวลต่อค่าใช้จ่ายและสถานการณ์ด้านราคาสินค้าที่ลดลง ทำดัชนีภาวะเศรษฐกิจครัวเรือนในเขตกรุงเทพฯ-ปริมณฑล เดือน พ.ค.ดีขึ้น ขณะที่มุมมองคาดการณ์ 3 เดือนข้างหน้า ยังทรงตัว หลังไม่มีปัจจัยใหม่ที่กระทบต่อการครองชีพ
ดัชนีภาวะเศรษฐกิจของครัวเรือนในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑลปรับตัวดีขึ้นจากเดือนก่อนมาอยู่ที่ระดับ 44.4 ในเดือนพ.ค. 2560 จากความกังวลที่ลดลงต่อประเด็นเรื่องค่าใช้จ่าย (ไม่รวมหนี้สิน) และสถานการณ์ทางด้านราคาสินค้า อย่างไรก็ตาม หนี้สินที่เพิ่มขึ้นยังเป็นปัจจัยที่ส่งผลต่ออำนาจการซื้อของครัวเรือน ในขณะที่ดัชนีสะท้อนมุมมองคาดการณ์ 3 เดือนข้างหน้า (3-month Expected KR-ECI) ยังคงทรงตัวใกล้เคียงกับเดือนก่อนหน้าที่ระดับ 45.2 เนื่องจากครัวเรือนมองว่า ยังไม่มีปัจจัยหรือมาตรการใหม่ๆ ที่เข้ามากระทบต่อการครองชีพในระยะ 3 เดือนข้างหน้า
ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า ในช่วง 1-2 เดือนข้างหน้า ยังต้องติดตามหลายประเด็นที่อาจจะส่งผลต่อความเชื่อมั่นของครัวเรือน ไม่ว่าจะเป็นความไม่แน่นอนของสภาพภูมิอากาศในช่วงหน้าฝนที่อาจจะเป็นอุปสรรคต่อการประกอบอาชีพของครัวเรือน สถานการณ์ราคาสินค้า ไม่ว่าจะเป็นราคาผักที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นหลังฝนตกหนักในช่วงที่ผ่านมา รวมถึงราคาพลังงานในประเทศที่อาจจะผันผวนตามราคาในตลาดโลกหลังเกิดความตึงเครียดในตะวันออกกลาง