23 มิถุนายน : นายสมเกียรติ ประจำวงษ์ รองอธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยว่า กรมชลประทานได้ศึกษาความเหมาะสมและผลกระทบสิ่งแวดล้อมโครงการแก้มลิงพื้นที่ลุ่มต่ำเหนือจังหวัดนครสวรรค์ ซึ่งเป็นพื้นที่ทุ่งนาที่มีน้ำท่วมประจำเกือบทุกปี ให้สามารถใช้เป็นที่ควบคุมน้ำชั่วคราวในช่วงอุทกภัย และนำน้ำที่เก็บไว้นั้นมาใช้ให้เกิดประโยชน์เปรียบเสมือนลิงที่กักตุนอาหารไว้ในกระพุ้งแก้มแล้วนำมาเคี้ยวกินในภายหลัง ตาม “ศาสตร์พระราชา”
สำหรับการศึกษาในครั้งนี้ ได้ผลสรุปว่า โครงการแก้มลิงพื้นที่ลุ่มต่ำเหนือจังหวัดนครสวรรค์ จะประกอบด้วย พื้นที่แก้มลิงย่อยทั้งหมด 69 แห่ง ในเขตจังหวัดสุโขทัย พิษณุโลก พิจิตร และนครสวรรค์ ครอบคลุมพื้นที่ 153 ตำบล 24 อำเภอ สามารถเก็บกักน้ำไว้ชั่วคราวเพื่อรอการระบายได้ 2,049 ล้านลูกบาศก์เมตร(ลบ.ม.) โดยแบ่งเป็นทุ่งนาในเขตชลประทาน 723 ล้าน ลบ.ม. และทุ่งนานอกเขต ชลประทาน 1,326 ล้าน ลบ.ม.
ทั้งนี้ เพื่อให้บริหารจัดการแก้มลิงทั้ง 69 แห่งดังกล่าวได้อย่างมีประสิทธิภาพ จำเป็นต้องมีการก่อสร้างหรือปรับปรุงอาคารชลประทาน เช่น ประตูระบายน้ำ ถนนหรือคันคลองที่ใช้เป็นคันกั้นน้ำ สถานีสูบน้ำ เป็นต้น พร้อมทั้งจะต้องมีกฎหมายหรือกฎระเบียบในการบริหารจัดการพื้นที่แก้มลิงรองรับด้วย ซึ่งคาดว่าจะใช้งบประมาณในการลงทุนทั้งหมดประมาณ 29,000 ล้านบาท และค่าบริหารจัดการและค่าบำรุงรักษารวมทั้งค่าสูบน้าด้วยไฟฟ้าอีกประมาณปีละ 1,350 ล้านบาท
อย่างไรก็ตาม ในการดำเนินงานพัฒนาพื้นที่ลุ่มต่ำทั้ง 69 พื้นที่ ใช้งบประมาณค่อนข้างมาก ไม่สามารถจัดสรรงบประมาณในการพัฒนาได้ทั้งหมดในปีเดียว กรมชลประทานจึงจัดทำแผนพัฒนาต่อเนื่อง 5 ปี โดยเริ่มดำเนินการจากโครงการแก้มลิงที่มีความพร้อม และไม่ต้องดำเนินการด้านกฎหมาย รวมทั้งประชาชนในพื้นที่ให้ความร่วมมือในการบริหารจัดการแก้มลิงเป็นอย่างดีก่อน หลังจากนั้นค่อยขยายผลไปดำเนินการในพื้นที่อื่นๆ จนครบ 69 พื้นที่ภายในระยะเวลา 5 ปี
“เมื่อดำเนินการแล้วเสร็จครบทั้ง 69 พื้นที่ดังกล่าว ประชาชนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่แก้มลิง 57,325 ครัวเรือนหรือประมาณ 163,672 คนได้รับประโยชน์โดยตรง ทำให้น้ำไม่ท่วมบ้านเรือนในช่วงฤดูฝน เพราะจะควบคุมน้ำให้อยู่ในพื้นที่ทุ่งนา นอกจากนี้ประชาชนที่อาศัยในพื้นที่ทั้ง 2 ฝั่งของแม่น้ำยม แม่น้ำน่าน ตั้งแต่ท้ายพื้นที่แก้มลิงไปจนถึงจุดบรรจบแม่น้ำปิงที่จังหวัดนครสวรรค์ ประมาณ 122,315 ครัวเรือน หรือประมาณ 348,309 คน รวมทั้งประชาชนในพื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยาอีกจำนวนมหาศาลก็ได้รับประโยชน์ด้วยเพราะจะช่วยบรรเทาปัญหาน้ำท่วมลดความเสียหายได้อย่างมีประสิทธิภาพ เพิ่มผลประโยชน์ที่จะลดความเสียหายลงเฉลี่ยประมาณปีละ 11,300 ล้านบาท”นายสมเกียรติกล่าว