ดร.พันธ์ศักดิ์ ศิริรัชตพงษ์ ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร หรือ ICT เปิดเผยว่า ในปีนี้ทาง ICT ได้ร่วมกับสำนักงานรัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์ (องค์การมหาชน) หรือ EGA ในการผลักดันโครงการ Open Data หรือ ระบบข้อมูลสาธารณะ ให้เข้าถึงฝั่งผู้ใช้ที่เป็นภาคเอกชนมากขึ้น จากเดิมที่ในปีที่ผ่านมาเป็นจุดริเริ่มได้เน้นการสร้างระบบในฝั่งผู้เปิดเผย ข้อมูล โดยได้นำร่องชุดข้อมูลภาครัฐไปแล้วถึง 490 ชุดข้อมูล
“ในปีนี้จะเป็นการเร่งสร้าง ecosystem หรือ สภาพแวดล้อมทั้งระบบของ Open Data นั่น คือทุกหน่วยงานพร้อมเปิดเผยข้อมูล และข้อมูลต้องมีความจำเป็น มีมาตรฐาน สามารถนำไปใช้งานต่อได้ รัฐพร้อมสนับสนุนทั้งในส่วนของกฎระเบียบและงบประมาณ หน่วยงานเอกชนนอกจากแบ่งปันข้อมูลแล้วยังนำข้อมูลไปใช้ บูรณาการ สร้างสรรค์เพื่อให้เกิดการเผยแพร่ มีประชาชนจำนวนมากได้ใช้ชุดข้อมูลเพื่อให้เกิดประโยชน์ต่อการใช้ชีวิตประจำ วัน” ดร.พันธ์ศักดิ์ กล่าว
ในปีนี้เป้าหมายการสร้างชุดข้อมูลคือ 600 ชุด ข้อมูล เพียงพอที่จะทำให้ฐานข้อมูลหลักมีความมั่นคง ขณะเดียวกันก็ต้องเร่งสร้างในฝั่งของผู้ใช้งานชุดข้อมูล ตั้งแต่การสร้างแรงจูงใจให้ทั้งภาครัฐและเอกชนสามารถนำชุดข้อมูลไปประยุกต์ และบูรณาการเพื่อให้เกิดข้อมูลใหม่ เกิดการสร้างสรรค์ในการใช้งาน เช่น การสร้างแอปพลิเคชัน ฯลฯ ดังนั้นการสร้าง ecosystem ของระบบOpen Data ให้เกิดชุดข้อมูลที่น่าสนใจ ใช้งานได้จริง และเป็นที่นิยมของประชาชนจึงต้องเร่งดำเนินการให้ได้ในปีนี้
ดร.ศักดิ์ เสกขุนทด ผู้อำนวยการสำนักงานรัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์ (องค์การมหาชน) หรือ EGA เปิดเผยว่า ปัจจุบันโครงการ Open Data ได้รวบรวมชุดข้อมูลภาครัฐเข้าเว็บไซต์data.go.th เกือบ 500 ชุดข้อมูล โดยในปีนี้ชุดข้อมูลที่ถือว่าเป็นเป้าหมายของ EGA ที่จะต้องเร่งสร้างเข้ามาเพื่อให้ตรงกับแผนรัฐบาลดิจิทัลมี 5 กลุ่มนั่นคือ 1.เตรียมความพร้อมรับมือภัยพิบัติ 2.ความโปร่งใสของภาครัฐ 3.พัฒนาเมืองและการขนส่ง 4.สาธารณสุข 5.การเกษตร ทั้งหมดถือว่าอยู่ในกลุ่ม Hi-Value Dataset ในการเพิ่มของปีนี้ และจะดำเนินการเพิ่มเติมกลุ่มอื่นๆ ในปีถัดๆ ไป
เป้าหมายของ EGA ในปีนี้ก็คือ การเร่งสร้างสิ่งอำนวยความสะดวกเพื่อทำให้ทางฝั่งผู้ผลิตชุดข้อมูล และผู้นำข้อมูลไปใช้ ได้ลดทอนเวลา ลดความยุ่งยาก ไม่ว่าจะเป็นการริเริ่มสร้าง API หรือเครื่องมือในการพัฒนา ซึ่ง EGA คาดหวังว่าในการพัฒนาช่วงต่อไปฝั่งผู้ผลิตชุดข้อมูลจะมีชุดเครื่องมือ (tool) ที่แปลงข้อมูลของตนเองเข้าสู่ระบบมาตรฐานได้ทันที นั่นคือเมื่อเปลี่ยนข้อมูลจากฝั่งผู้ผลิต ชุดข้อมูลกลางที่ share หรือแบ่งปันมาก็จะเปลี่ยนตามแบบเสมือนจริง (real time) เช่นกันในฝั่งผู้ใช้งานก็สามารถเลือกชุดคำสั่งให้โปรแกรมเข้ามาเรียกข้อมูลจากฐานกลางไม่จำเป็นต้องบันทึกเก็บไว้เอง ดังนั้นการประมวลผลก็จะถูกต้องรวดเร็ว
นอกจากนั้นในปีนี้จะมีการ minor change หรือการเปลี่ยนย่อยในส่วนของเว็บไซต์ data.go.th ไม่ว่าจะเป็น user interface หรือหน้าตาของเว็บไซต์ ระบบเสิร์ชเอ็นจิ้น และอื่นๆ ซึ่งจะอำนวยความสะดวกต่อการใช้งานมากขึ้น