20 มิถุนายน 2560 : ดร.สุทธิพล ทวีชัยการ เลขาธิการคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) กล่าวถึงความคืบหน้าของโครงการประกันภัยข้าวนาปี ปีการผลิต 2560 ว่า ล่าสุดเมื่อวันที่ 12 มิถุนายน 2560 ที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายและบริหารจัดการข้าว ที่มี พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุม ได้มีมติเห็นชอบให้มีการปรับอัตราค่าเบี้ยประกันภัยตามที่ จากเดิมอัตราเบี้ยประกันภัย 100 บาทต่อไร่ ลดลงเป็น 90 บาทต่อไร่ เท่ากันทุกพื้นที่ และเพิ่มวงเงินคุ้มครองจากเดิม 1,111 บาทต่อไร่ เพิ่มเป็น 1,260 บาทอต่อไร่
ซึ่งเสนอให้รัฐบาลอุดหนุนค่าเบี้ยประกันภัยในอัตรา 61.37 บาทต่อไร่ (รวมภาษีมูลค่าเพิ่มและอากรแสตมป์) และเสนอให้ ธ.ก.ส. อุดหนุนค่าเบี้ยประกันภัยในส่วนที่เหลือ 36 บาทต่อไร่ ให้กับเกษตรกรที่เป็นลูกค้าสินเชื่อของ ธ.ก.ส. เพื่อการเพาะปลูกข้าวนาปี ปีการผลิต 2560 โดยที่ประชุมมอบหมายให้กระทรวงการคลังนำเสนอคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาต่อไป เมื่อครม.มีมติเห็นชอบแล้วสำนักงานคปภ.จะบูรณาการกับทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องเพื่อเร่งเดินหน้าโครงการนี้ทันที
ทั้งนี้ ในส่วนของความคุ้มครองตามตารางกรมธรรม์ประกันภัยข้าวนาปี ปีการผลิต 2560 สำหรับรายย่อย (ไมโครอินชัวรรันส์) แบ่งความคุ้มครองออกเป็น 2 หมวด ได้แก่ ความคุ้มครองหมวดที่ 1 ให้ความคุ้มครองความเสียหายจากน้ำท่วมหรือฝนตกหนัก ภัยแล้ง หรือฝนทิ้งช่วง ลมพายุหรือพายุไต้ฝุ่น ภัยอากาศหนาวหรือน้ำค้างแข็ง ลูกเห็บ และไฟไหม้ วงเงินคุ้มครอง 1,260 บาทต่อไร่ และความคุ้มครองหมวดที่ 2 ให้ความคุ้มครองความเสียหายจากศตรูพืช หรือโรคระบาด โดยมีวงเงินความคุ้มครอง 630 บาทต่อไร่
นอกจากนี้ หากเป็นพื้นที่ที่ไม่ได้ประกาศภัยพิบัติ อันเนื่องจากมีจำนวนพื้นที่ความเสียหายไม่เพียงพอต่อการประกาศเป็นสาธารณภัย ทางเกษตรอำเภอจะมีหนังสือแจ้งยืนยันไปยังกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยว่าเกษตรกรมีความเสียหายเกิดขึ้นจริง เพื่อที่จะได้ดำเนินการจ่ายค่าสินไหมทดแทนต่อไป ซึ่งจะเห็นได้ว่าระบบประกันภัยได้เข้าไปมีส่วนช่วยเหลือเกษตรกรหรือชาวนาไทยในการบริหารจัดการความเสี่ยงจากภัยธรรมชาติอย่างตรงจุดและมีประสิทธิภาพอย่างแท้จริง
ดร.สุทธิพล กล่าวอีกว่า แนวคิดที่เพิ่มขึ้นกรณีที่บางพื้นที่ที่เกิดความเสียหายแต่ไม่ได้ประกาศภัยพิบัติ ดังนั้น จึงมีแนวคิดใน 2 ระยะ คือ ระยะสั้น ได้หารือร่วมกับสมาคมประกันวินาศภัยไทย ว่า จะมีการจัดตั้งเป็น “กองทุนฯ ช่วยเหลือ” ให้ชาวนาในพื้นที่ที่เสียหายทำเรื่องส่งเข้ามา เพื่อขอความช่วยเหลือเป็นรายไป โดยกองทุนฯ จะเข้าไปรองรับ
ส่วนระยะยาว จะใช้วิธีการทางวิทยาศาสตร์มาช่วย มีการจัดตั้งนโยบายทางการเกษตรระดับชาติ ที่มีรองนายกฯด้านเศรษฐกิจเป็นประธาน รวมถึงอีกหลายภาคส่วนเข้ามาช่วย และมีการตั้งคณะอนุกรรมการขับเคลื่อน ทั้งระดับประเทศและจังหวัด เชื่อว่าสิ่งต่างๆ รวมทั้ง กฎหมายเฉพาะที่เพิ่งเสนอเข้าไป เชื่อว่าปีนี้จะเกิดผลและมีประสิทธิภาพเพิ่มกว่าปีที่ผ่านมา ซึ่งเรื่องดังกล่าวรอการอนุมัติจากกระทรวงการคลัง หากที่ประชุมคณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบทุกฝ่ายก็เริ่มได้ทันที คาดว่าเร็วที่สุดอาจจะเป็นสัปดาห์หน้า โดยตั้งเป้าหมายทำประกัน 30 ล้านไร่ ซึ่งขณะนี้มี 27 ล้านไร่
นอกจากนี้ ก็ยังมีแนวคิดที่จะขยายรับประกันไปยังพืชผลประเภทอื่นร่วมด้วย เช่น ยางพารา ประมง หรือผลไม้เช่น ทุเรียน ลำใย ซึ่งขณะนี้เริ่มมีการหารือร่วมกับธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตรบ้างแล้ว หากมีการสนับสนุนจากภาครัฐในตอนแรกเป็นการนำร่อง หลังจากนั้นค่อยๆ ขยายผลจะเกิดประโยชน์ต่อเกษตรกรอย่างมาก แต่อาจจะต้องใช้เวลาในการพิจารณาระยะหนึ่ง
ทางด้าน นางฉัตรพร ราษฎร์ดุษดี ผู้ว่าราชการจังหวัดเพชรบุรี กล่าวว่า ชาวนาต้องรู้รายละเอียดหลักเกณฑ์ของกรมธรรม์ให้ชัดเจน ว่าจ่ายเบี้ยประกันเท่าไหร่ ความคุ้มครองเท่าไหร่ หากเกิดภัยพิบัติเมื่อไหร่ถึงจะได้รับการชดใช้ค่าสินไหมทดแทน ต้องทำความเข้าใจต่อชาวนาให้ชัดเจนก็จะมีเกษตกรสนใจทำประกันเพิ่มขึ้น โดยค่าเฉลี่ยของการทำประกันภัยอยู่ที่ 40% ทางด้านจังหวัดเพชรบุรีอยู่ที่ 39% ก็ไม่ถือว่าต่ำมาก ฉะนั้นจากวันนี้ไปเมื่อวิทยากรกว่า 100 คนเข้ามาอบรม และไปช่วยกันสร้างความเข้าใจคาดว่ามีการทำประกันเพิ่มขึ้นแน่นอน
“ปัญหาตอนนี้คือชาวนาเขาอาจจะอยู่ในพื้นที่ที่ไม่เคยเกิดภัย เขาก็ไม่คิดว่าต้องทำประกันภัย ฉะนั้นต้องมีตัวอย่างของพื้นที่ที่เคยเกิดภัยให้เขาเห็นถึงความแตกต่างจากคนที่ทำประกันกับไม่ได้ทำประกันเป็นอย่างไร อย่าคิดว่าจะไม่เกิดภัย แต่ถ้าหากเกิดขึ้นแล้วมีประกันก็ถือว่าคุ้มยิ่งกว่าคุ้ม ชาวนามีแต่ได้กับได้ เพราะภาครัฐก็อุดหนุน เบี้ยประกันก็ราคาถูกลง ความคุ้มครองก็มีมูลค่าสูง”นางฉัตรพร กล่าว
ขณะเดียวกัน นายจีรพันธ์ อัศวะธนกุล นายกสมาคมประกันวินาศภัยไทย กล่าวว่า สมาคมฯ เตรียมความพร้อมไว้เรียบร้อยแล้วโดยทำงานประสานร่วมกับกระทรวงการคลัง สำนักงาน คปภ. ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธกส.), กรมส่งเสริมการเกษตร และกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ซึ่งเกษตรกรก็จะได้รับความสะดวกในการได้กรมธรรม์ เพียงเกษตรกรไปขึ้นทะเบียน ธกส. ก็สามารถทำการประกันข้าวนาปีนี้ได้ทันที กรมธรรม์ก็พิมพ์ออกมาจากธกส.ได้ทันทีเช่นกัน
นอกจากนี้ กรณีเกิดภัยพิบัติจะทำอย่างไรให้เงินไปถึงเกษตรกรอย่างรวดเร็ว จากปัจจุบันเบิกจ่ายได้ที่ ธกส. แต่ล่าสุดเกษตรก็มีทางเลือกอีกช่องทางหนึ่งคือ รับเงินผ่านช่องทาง “พร้อมเพย์” ซึ่งระบบมีการจัดเตรียมไว้พร้อม ปัจจุบันมีบริษัทประกันภัยเข้าร่วมรับประกันภัยข้าวนาปีจำนวน 25 บริษัท นอกจากนั้นยังทำประกันภัยต่อไปยังบริษัทต่างประเทศ ที่มีความมั่นคง มีเรทติ้งระดับ A ขึ้นไป เพื่อกระจายความเสี่ยง สิ่งเดียวที่ยังต้องเร่งดำเนินการคือ การประชาสัมพันธ์ให้กับเกษตรกรทราบถึงความสำคัญของการทำประกันภัยข้าวนาปี
สำหรับการลดเบี้ยประกันจาก 100 บาท เหลือ 90 บาทต่อไร่ และเพิ่มวงเงินคุ้มครองจากเดิม 1,111 บาทต่อไร่ เพิ่มเป็น 1,260 บาทอต่อไร่ สะท้อนให้เห็นว่าภาครัฐบริหารการจัดการน้ำอย่างมีประสิทธิภาพ ความเสี่ยงลดลง ยกตัวอย่างเช่น ตนมีโอกาสลงพื้นที่ก็ทราบข้อมูลจากผู้ว่าราชการจังหวัด ว่า มีการบริหารจัดการน้ำที่ดี เช่น เร่งการเพาะปลูกให้เร็วขึ้น เพราะรู้ว่าน้ำจะมาเดือนกันยายน พื้นที่นั้นก็เก็บเกี่ยวผลผลิตไปแล้ว พอน้ำมาก็จะเป็นที่เก็บกักน้ำไว้ใช้ต่อไป เป็นต้น
ดังนั้น หากมีการบริการจัดการน้ำที่ดีอย่างนี้ ความเสี่ยงลดน้อยลงเรื่อยๆ มีการเติมน้ำให้เต็มเขื่อนโดยการทำฝนหลวงร่วมด้วย เมื่อเป็นเช่นนี้โดยส่วนตัวคาดว่าเบี้ยประกันสามารถลดลงได้อีก
ทั้งนี้ จากข้อมูลการทำประกันภัยข้าวนาปี ในปีที่ผ่านมา พบว่าประเทศไทยมีพื้นที่เพาะปลูกข้าวทั้งสิ้น 56.50 ล้านไร่ มีพื้นที่เอาประกันภัย จำนวน 27.17 ล้านไร่ คิดเป็น ร้อยละ 48.09 เมื่อพิจารณาอัตราการทำประกันภัยข้าวนาปีของจังหวัดเพชรบุรี พบว่า มีพื้นที่ปลูกข้าว 265,336 ไร่ มีพื้นที่ที่ทำประกันภัย 104,183 ไร่ คิดเป็นร้อยละ 39.26 ซึ่งมีอัตราการทำประกันภัยที่ต่ำกว่าค่าเฉลี่ยของการทำประกันภัยข้าวนาปีของภาคตะวันตก ที่มีพื้นที่ทำประกันภัย คิดเป็นร้อยละ 43.72