12 มิถุนายน 2560 : ดร.วิน อุดมรัชตวนิชย์ ประธานกรรมการบริหาร บริษัทหลักทรัพย์ เคทีบี (ประเทศไทย) จำกัด หรือ KTBST ประเมินตลาดหุ้นไทยสัปดาห์นี้ (12-16 มิ.ย.) ว่า การเลือกตั้งอังกฤษไม่เป็นไปตามคาด ด้านเลือกตั้งสภาฯฝรั่งเศสอาจต้องรอถึงปลายสัปดาห์ และนักลงทุนจะรอดูผลประชุม FOMC แม้ผลเหล่านี้จะออกมาดี แต่จะไม่ได้กระตุ้นแรงซื้อให้กลับเข้ามาในตลาดต่างประเทศ การเข้าลงทุนในสินทรัพย์เสี่ยงต่ำคาดจะยังดำเนินต่อไป แรงซื้อที่เข้ามาในตลาด จะมาจากตัวแปรด้านเศรษฐกิจ อาทิ การลงทุนภาครัฐฯ และแนวโน้มธุรกิจของหุ้นเป็นรายตัว ขณะที่หุ้นธนาคารบางแห่ง อาจมีประเด็นความเสี่ยงทางการเงินของลูกหนี้บางราย (EARTH) เข้ามากดดันราคาหุ้น
โดยกลยุทธ์การลงทุน เรายังแนะนำเป็น “ถือ” และคงเงินสดในพอร์ตไว้ 30% เนื่องจากตลาดยังไปไหนไม่ไกล แต่ก็จะไม่ลงแรงเช่นกันถ้าไม่มีข่าวร้าย สัปดาห์นี้ จับตาดูผลประชุม FOMC ที่น่าจะมีผลต่อตลาดมากที่สุด กรอบเวลาการลงทุน ควรเป็นการเล่นสั้นๆ เน้นหุ้นเสี่ยงต่ำ รายได้และผลกำไรยังดีและไม่อิงภาวะเศรษฐกิจมากนัก คาดว่าตลาดจะแกว่งในกรอบ Sideway ระหว่าง 1,558-1,580 จุด
ทั้งนี้ หุ้นกลุ่มที่ให้ความสนใจ 2 กลุ่ม จะเป็นกลุ่มที่อยู่อาศัย ที่ราคาหุ้นลงมามากจนมี downside น้อย และบางตัวมีผลประกอบการดีและอัตราเงินปันผลสูง และอีกกลุ่ม คือ หุ้นในกลุ่มพลังงานทดแทน (โซล่าร์) จากนโยบายเพิ่มอัตราส่วนการผลิตไฟฟ้าด้วยพลังงานทดแทนมากขึ้น โดยแนะนำหุ้นเชิงกลยุทธ์ : PSH , CK , หุ้นมีข่าวหรือมีปัจจัยบวกเฉพาะตัว : GFPT, TISCO,SCC,PTT, SENA, MTLS , EGCO, BCPG , MEGA และหุ้นเชิงเทคนิค: PAP , PSL
สำหรับปัจจัยที่จะมีผลต่อตลาดในสัปดาห์นี้ได้แก่ การเมืองในยุโรปยังที่มีประเด็นการที่พรรคอนุรักษ์นิยมของนายกรัฐมนตรีเทเรซา เมย์ คว้าที่นั่งในสภาฯได้เพียง 319 ที่นั่ง จากที่ต้องการอย่างน้อย 326 ที่นั่ง ในการเลือกตั้งของอังกฤษ 8 มิ.ย. ส่งผลให้ต้องมีการตั้งรัฐบาลผสมหรือรัฐบาลทีมีเสียงส่วนน้อย อาจทำให้กระบวนการ BRExit ไม่ราบรื่น แต่ยังไม่ถึงขั้นยกเลิก ขณะที่การเลือกตั้งรัฐสภาของฝรั่งเศส 2 รอบ คือ 11 และ 18 มิ.ย. หากพรรคเรปูบลิก อองมาร์ช ของประธานาธิบดี เอ็มมานูเอล มาครง ชนะการเลือกตั้ง จะทำให้การผ่านร่างกฎหมายต่างๆของรัฐบาลทำได้โดยสะดวก
ขณะที่ปัจจัยต่อมาคือ การประชุม FOMC ที่ปรับนโยบายการเงิน สัปดาห์นี้ ตลาดจะให้ความสนใจกับการประชุมที่คาดว่าจะปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายจาก 0.75-1.0% เป็น 1.0-1.25% และที่สำคัญไปกว่านั้น คือ การระบุในเรื่องการลดขนาดสินทรัพย์ของ Fed ลง จากปัจจุบันที่ 4.43 ล้านล้านเหรียญ เพราะมีผลต่อการดึงเงินออกจากระบบของ Fed และ Fund Flow ขณะที่การประชุมธนาคารกลางอังกฤษ(15) สวิสเซอร์แลนด์ (15) และญี่ปุ่น(16) คาดการณ์ว่าจะไม่มีการปรับนโยบายการเงินในการประชุมครั้งนี้
นอกจากนี้ยังมีเรื่องราคาน้ำมันดิบ มีโอกาส rebound แต่ยาวๆ ยังไม่ปรับตัวขึ้นมาก การคว่ำบาตรประเทศกาตาร์ อาจไม่มีนัยยะต่อการผลิตน้ำมันมากนัก KTBST มองว่า การลดกำลังการผลิตของ OPEC นั้น ทำเพื่อเพียงเพื่อพยุงราคาน้ำมันดิบให้ไม่ต่ำไปกว่า $45 เหรียญ เท่านั้น การผลิตน้ำมันที่เพิ่มเข้ามาในตลาดของผู้ผลิตอื่น จะกดดันให้ราคาน้ำมันทรงตัวในระดับต่ำไปอีกอย่างน้อย 2 ไตรมาส แต่จะบวกจริงๆต่อผู้ใช้น้ำมันเป็นตัวอ้างอิงต้นทุน โดยเฉพาะกลุ่มปิโตรเคมีต้นน้ำ และจะดีต่อกลุ่มนี้มากขึ้น ถ้าเศรษฐกิจโลกยังขยายตัวดีอยู่