7 มิถุนายน 2560 : ธนาคารแห่งประเทศไทย รายงาน เศรษฐกิจไทยในไตรมาสที่ 1 ของปี 2560 ขยายตัวร้อยละ 3.3 เมื่อเทียบกับระยะเดียวกันปีก่อน สูงกว่าที่คาดไว้ในการประชุมครั้งก่อน โดยแรงขับเคลื่อนหลักมาจากการส่งออกสินค้าที่ขยายตัวทั่วถึงมากขึ้นในเกือบทุกตลาดส่งออก โดยเฉพาะจีน และในหลายหมวดสินค้าโดยเฉพาะกลุ่มอิเล็กทรอนิกส์ ที่เร่งขึ้นเพื่อรองรับกระแส Internet of Things (IoT) ขณะที่ การบริโภคภาคเอกชนขยายตัวได้ต่อเนื่องจากหมวดบริการและหมวดสินค้าคงทน โดยเฉพาะการซื้อรถยนต์ที่เพิ่มขึ้นในหลายภูมิภาคตามรายได้เกษตรกรและความเชื่อมั่นของผู้บริโภคที่ปรับดีขึ้น
ส่วนการท่องเที่ยวและการใช้จ่ายภาครัฐขยายตัวได้ต่อเนื่อง ขณะที่การลงทุนภาคเอกชนยังกระจุกตัว อยู่ในธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับภาคการส่งออกที่ขยายตัวดีเป็นหลักสอดคล้องกับการขยายตัวของสินเชื่อธุรกิจของ ธพ. ที่ยังกระจุกตัวในบางกลุ่ม
นอกจากนี้ เศรษฐกิจไทยในภาพรวมมีแนวโน้มขยายตัวชัดเจนขึ้น โดยเฉพาะจากการส่งออกสินค้าที่ขยายตัวดีกว่าที่ประเมินไว้เดิมตามการขยายตัวของเศรษฐกิจคู่ค้า แต่ต้องติดตามปัจจัยเสี่ยงจากความไม่แน่นอนของนโยบายการค้าของสหรัฐฯ อย่างใกล้ชิดต่อไป สำหรับการท่องเที่ยวมีแนวโน้มฟื้นตัวได้ต่อเนื่อง การบริโภคภาคเอกชนคาดว่าจะทยอยฟื้นตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไป แต่พบว่ากำลังซื้อของครัวเรือนเกษตรกรบางกลุ่มยังไม่ดีขึ้นมากนัก
เนื่องจากมีภาระหนี้สะสมส่วนหนึ่งจากปัญหาภัยแล้งรุนแรงในปีก่อน สำหรับรายได้ลูกจ้างนอกภาคเกษตรมีแนวโน้มชะลอตัวบ้าง เนื่องจากการผลิตที่ปรับดีขึ้นยังกระจุกตัวในกลุ่มอุตสาหกรรมที่เน้นการใช้ปัจจัยทุน (capital intensive) รวมทั้งอัตราการว่างงานที่แม้อยู่ในระดับต่ำ แต่เริ่มมีทิศทางปรับเพิ่มขึ้นบ้างตามจำนวนผู้ว่างงานที่ไม่เคยทำงาน ซึ่งส่วนหนึ่งสะท้อนปัญหาการว่างงานจากปัจจัยเชิงโครงสร้าง การลงทุนภาคเอกชนคาดว่าจะปรับดีขึ้นอย่างช้า ๆ ตามอุปสงค์ที่เพิ่มขึ้น ซึ่งจะช่วยทยอยลดอัตรากำลังการผลิตส่วนเกินลง
ส่วนภาคธุรกิจยังเผชิญกับปัจจัยความไม่แน่นอนในหลายมิติซึ่งกระทบต่อการตัดสินใจลงทุนเพิ่ม ที่สำคัญ เช่น ความไม่แน่นอนจากปัญหาภูมิรัฐศาสตร์โลก ทิศทางของเทคโนโลยีในอนาคต และทิศทางนโยบายการค้าการลงทุนของสหรัฐฯ ตลอดจนแนวโน้มการขาดแคลนแรงงานจากการเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุของไทย
ทั้งนี้ สาเหตุหนึ่งที่ทำให้ธุรกิจชะลอการลงทุนเป็นผลจากที่ธุรกิจยังตั้งอัตราผลตอบแทนขั้นต่ำที่ยอมรับได้ในการตัดสินใจลงทุน (hurdle rate)
ไว้ในระดับสูงโดยอ้างอิงจากอัตราในอดีต แม้ต้นทุนทางการเงินได้ลดลงมากในช่วงที่ผ่านมา ซึ่งส่วนหนึ่งน่าจะสะท้อนความเสี่ยงที่สูงขึ้นพอสมควร สำหรับภาครัฐยังมีบทบาทช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่อง แต่คาดว่าการลงทุนภาครัฐจะปรับลดลงบ้างจากข้อจำกัดในการเบิกจ่ายของรัฐวิสาหกิจบางแห่ง