5 มิถุนายน 2560 : นายชินคิจิ ไมค์ มิกิ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.โตเกียวมารีนประกันภัย (ประเทศไทย) กล่าวว่า จากภาพรวมเศรษฐกิจไทยที่น่าจะเป็นบวก บริษัทฯจึงตั้งเป้าหมายการเติบโตไม่น้อยกว่า 2-3% หรือคิดเป็นรายได้รับตรงราว 7,800 ล้านบาท โดยเน้นขยายธุรกิจสู่ประเทศลุ่มน้ำโขง รวมถึงแผนการนำเสนอสินค้าผ่านช่องทางสถาบันการเงิน (Bancassurance) ที่เชื่อว่าจะเติบโตได้อีกมาก
สำหรับกลยุทธ์ในการขยายงานมี 5 ช่องทางหลัก ได้แก่ 1.ฐานลูกค้าที่แข็งแกรงจากเครือข่ายสัญชาติญี่ปุ่น ที่ดำเนินธุรกิจในไทยและกลุ่มประเทศลุ่มน้ำโขง 2.การเป็นพันธมิตรร่วมกับดีลเลอร์ผู้แทนจำหน่ายรถยนต์ เพื่อมอบการบริการที่ดีที่สุดให้กับลูกค้า 3.ช่องทางการขายผ่านตัวแทนและโบรกเกอร์ 4. ช่องทางการขายผ่านสถาบันการเงิน (Bancassurance) และช่องทางที่ 5. การขายประกันรถยนต์ออนไลน์ ซึ่งบริษัท เปิดตัว เว็บไซต์ Drivedee.com เพื่อเป็นทางเลือกผู้บริโภคยุคใหม่ ตอบรับตลาดในยุคดิจิตอล
ในการร่วมขับเคลื่อนประเทศไทยสู่เศรษฐกิจดิจิทัล บริษัทฯ มีความพร้อมนำความเชี่ยวชาญระดับสากลจากโตเกียวมารีนกรุ๊ป ประเทศญี่ปุ่น ที่ได้มีการจัดตั้งหน่วยงานพิเศษขึ้นมาเพื่อศึกษาและพัฒนาโครงสร้างด้านดิจิทัลและนวัตกรรมต่างๆ ซึ่งขณะนี้เริ่มนำเทคโนโลยีใหม่ๆ จาการศึกษาและพัฒนาไปใช้ในธุรกิจประกันวินาศภัยของบริษัทแล้ว คาดว่าในอนาคตจะสามารถนำนวัตกรรมดังกล่าวมาปรับใช้ในไทยเช่นเดียวกัน
ด้านนวัตกรรม บริษัทฯ ได้นำระบบ “Tokio Marine Smile Claim” ระบบจ่ายงานอัจฉริยะ โดยใช้ GMS Application (GPS and Mobile System) ในการทำงาน เพื่่อให้ข้อมูลการทำงานของระบบดังกล่าวแก่กลุ่มลูกค้า ถือเป็นการให้บริการจัดส่งและติดตามเจ้าหน้าที่สำรวจภัย โดยเลือกจัดส่งพนักงานที่สามารถเข้าถึงที่เกิดเหตุได้เร็วที่สุด พร้อมส่งข้อมูลรายละเอียดความคุ้มครอง ตำแหน่งที่เกิดเหตุ และระบบนำทางให้กับเจ้าหน้าที่สำรวจภัย ใช้งานผ่านอุปกรณ์แท็บเล็ต เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการให้บริการ โดยลูกค้าสามารถติดต่อสอบถามตำแหน่งของเจ้าหน้าที่สำรวจภัยได้แบบ Real Time
สำหรับผลการดำเนินงานรอบปี 2559 ที่ผ่านมามีเบี้ยประกันภัยรับรวม 7,576 ล้านบาท ปรับตัวลดลง 0.9% เป็นผลมาจากภาวะการชะลอตัวของเศรษฐกิจในประเทศ แต่ก็มีกำไรสุทธิ 504 ล้านบาท และยังคงรักษาความเป็นเจ้าตลาด ในธุรกิจประกันภัยขนส่งสินค้าทางทะเล (Marine Insurance) ด้วยเบี้ยประกันรับรวมที่ 866 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 2.75% การประกันรถยนต์ มีเบี้ยรับรวม 3,490 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 0.5% ประกันอัคคีภัย มีเบี้ยรับ 28 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 12% และกลุ่มประกันภัยเบ็ดเตล็ดมีเบี้ยรับรวม 3,192 ล้านบาท ลดลง 3.5%
ทั้งนี้ จากเบี้ยประกันรับดังกล่าว แบ่งเป็นฐานลูกค้าคนไทยผ่านช่องทางดีลเลอร์ไฟแนนซ์ 50% ญี่ปุ่น 40% เอเจ่นส์โบรกเกอร์ 5% และบริษัทฯ มีเป้าหมายที่จะปรับเปลี่ยนพอร์ทให้เหมาะสมมากขึ้นภายใน 3-5 ปี โดยบริหารโมเดลช่องทางตัวแทนและโบรกเกอร์ รวมถึงปรับช่องทางไอทีมากขึ้น
นายไพชยนต์ สุธีรพงศ์พันธ์ รองกรรมการผู้จัดการ (ธุรกิจตัวแทนจำหน่ายและสถาบันการเงินและฝ่ายการตลาดกิจการสาขา) บมจ.โตเกียวมารีนประกันภัย (ประเทศไทย) กล่าวว่า บริษัทยังคงมุ่งเน้นเรื่องการบริการ ผ่านดีลเลอร์รถยนต์โดยเฉพาะคู่ค้า ที่ถือว่าวินวินวิน ทั้ง 3 ฝ่าย พันธมิตร คู่ค้า และลูกค้า
ช่วงต้นปีรถใหม่ป้ายแดงขยายตัว 16% ส่งผลให้เบี้ยรถยนต์ใหม่ขยายโต 17% แต่งานต่ออายุยังทำได้ไม่ดีนัก ซึ่งในปีที่ผ่านมาต่ออายุ 40-50% คาดว่าในเดือนมิถุนายนนี้อัตราการต่ออายุจะเพิ่มขึ้นเป็น 50% สาเหตุหลักมาจากรถป้ายแดงที่จะต่ออายุปีที่ 2 ส่วนใหญ่หายไป เนื่องจากมีการแข่งขันสูง เพราะฉะนั้น บริษัทจะมุ่งเน้นการบริการทีใกล้ชิดกับลูกค้ามากขึ้น มอบสิทธิประโยชน์ในปีต่อไป เพื่อดึงลูกค้าไว้กับบริษัท ในขณะที่ไม่เน้นด้านแข่งข้นราคา แต่จะเน้นเบี้ยประกันที่มีราคาสมเหตุผลมากกว่า
สำหรับธุรกิจเอเจนส์ โบรกเกอร์ ภายใต้ “โปรเจค เอ” เป็นโปรเจคที่สร้างความสัมพันธ์กับตัวแทนหรือพันธมิตรทางการค้าให้อยู่กับบริษัทอย่างยั่งยืน ระยะยาวที่นำระบบนี้มาจากญี่ปุ่น ซึ่งในปีที่ผ่านมาเติบโต 147% มีสาขานำร่อง ชลบุรี พิษณุโลก และกระบี่ ปัจจุบันบริษัทมีสาขารวม 25 สาขา ในโปรเจค เอ จะทำออนไลน์ 12 สาขา และจะขยายทำออนไลน์ทั้งหมด 24 สาขาภายในปี 2561 มุ่งสร้างมาตรฐานการดูแลลูกค้าแบบครอบครัวเดียวกัน
ทั้งนี้ ส่วนการขยายงานในสู่ประเทศกลุ่มแม่น้ำโขง ในปี 2559 มีเบี้ยรับรวม 73 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 65% เมื่อเทียบกับปี 2558 โดยปี 2560 ตั้งเป้าประมาณ 100 ล้านบาท คาดว่าขยายตัว 37% สัดส่วนสูงสุดที่ประเทศเมียนมา กัมพูชา และประเทศลาว ตามลำดับ ซึ่งการขยายงานกลุ่มประเทศเพื่อนบ้านนี้ยังถือว่าเป็นช่วงเริ่มต้น ดังนั้น จึงมีเป้าหมายขยายตลาดสู่ภูมิภาคนี้อย่างต่อเนื่อง โดยเน้นการสร้างธุรกิจร่วมกับพันธมิตรทางการค้าในท้องถิ่น เพื่อเสริมสร้างความแข็งแกร่งร่วมกัน โดยประเทศไทยเป็นฮับในการบริหารงาน
ขณะที่่นายเสรี กวินรัชตโรจน์ รองกรรมการผู้จัดการ (หัวหน้าฝ่ายเทคโนโลยีและสารสนเทศ) บมจ.โตเกียวมารีนประกันภัย (ประเทศไทย) กล่าวถึงแผนพัฒนาใน 3-5 ปีข้างหน้า บริษัททุ่มงบประมาณด้านเทคโนโลยีประมาณ 2-3% ของยอดเบี้ยประกัน เพื่อเร่งพัฒนาระบบออกกรมธรรม์ที่รวดเร็วขึ้น การเคลม และการจัดส่งใบเตือนการต่ออายุ มีเทคโนโลยีหลายอย่างที่นำมาปรับใช้ เช่น “Tokio Marine Smile Claim” ระบบจ่ายงานอัจฉริยะ โดยใช้ GMS Application (GPS and Mobile System) ในการทำงาน ปีนี้จะขยายบริการออกสู่ต่างจังหวัดอีกด้วย